“Darunbannalai” the Library for Kids บ้านโบราณซอยวัดม่วงแค สู่ห้องสมุดเจ้าตัวจิ๋ว

จากแนวคิด“บุงโกะ” ของประเทศญี่ปุ่น ที่แม้บ้านและผู้ใหญ่รักการอ่านมักดัดแปลงบ้านของตนให้เป็นห้องสมุดในชุมชนสำหรับเด็กๆ เป็นแรงบันดาลใจให้มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ซึ่งมีภารกิจ “นำหนังสือสู่เด็ก นำเด็กสู่หนังสือ” มองหาสถานที่ในฝันที่จะเป็นพื้นที่แบ่งปันการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย (สำหรับเด็กแรกเกิด จนถึงเด็กอายุ 7 ขวบก่อนเข้าชั้น ป.1 ) และได้ส่งต่อสมุดนิทานถึงมือเด็กๆ ในชุมชนตามแนวคิดแบบบุงโกะบ้าง

“ที่ผ่านมาเรามีหนังสือให้เด็ก แต่ห้องสมุดเราไม่มี” คุณสุธาทิพ ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการอรุณบรรณาลัย ผู้อำนวยการดรุณบรรณาลัย (รองประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กในขณะนั้น) บอกเล่ากับ ASA CREW ถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิดสรรหาห้องสมุดเด็กเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสสมเด็จพระเทพรตันราชสดุาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา โดยแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล (ในขณะนั้น) ได้เสนอบ้านร้างสองชั้น สันนิษฐานอายุกว่า 100 ปี ก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ตอนกลาง ซึ่งอดีตเคยเป็นที่ทำการของศูนย์พัฒนาเด็กราชานุกูล แต่ปัจจุบันบ้านหลังนี้ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ สภาพค่อนข้างทรุดโทรม

เมื่อได้แรงสนับสนุนอีกฝ่ายจากผู้ใหญ่ใจดี ทีมสถาปนิกจากบริษัท แปลน อาคิเต็ค จำกัด มาออกแบบและควบคุมการบรูณะให้ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันสร้างสรรค์ห้องสมุดเด็กปฐมวัยแห่งแรกในประเทศไทยขึ้นมา สู่ “ดรุณบรรณาลัย” ห้องสมุดปฐมวัยที่ได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“เราให้โจทย์สถาปนิกไปว่าออกแบบให้เด็กๆ อ่านหนังสือบริเวณไหนก็ได้ และขออย่าแตะโครงสร้างของบ้าน” คุณสุธาทิพย์ เริ่มต้นเล่า เธอบรรยายให้เรามองเห็นภาพในอดีตของบ้านหลังนี้ได้อย่างชัดเจน บ้านร้างเรือนปั้นหยาหลังนี้ มีสองชั้น ตัวเรือนทาสีเขียวซึ่งเป็นสีตามสมัยนิยมในยุคนั้น จากหลังคาเรือนปั้นหยาถูกปรับปรุงกระเบื้องแต่ให้คงโครงสร้างไว้เช่นเดิม ลวดลายฉลุตามบันไดจากเดิมเป็นไม้ เมื่อดัดแปลงใหม่ก็ยังคงลวดลายเหล่านี้เอาไว้แต่ลดทอนให้น้อยลง และปรับจากไม้ให้เป็นอลมูเนียมดัดลายแทน เพื่อให้คงทนต่อการใช้งานมากขึ้น ( แน่นอนถ้าไม่ได้สัมผัสด้วยมือคุณอาจจะไม่รู้สึกว่านี่คือเหล็ก )

ภายในออกแบบโดยจำลองบรรยากาศของบ้านต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้าน เพดานฝ้าเป็นรูปใบไม้เจาะช่องให้แสงผ่านโดยผสมผสานทั้งไฟวอรม์ไลต์และไฟนีออน เพื่อให้อ่านหนังสือได้อย่างสบายตา ชั้นหนังสือแต่ละชั้นจะออกแบบในทรงป้านกว้าง เพราะเด็กจะเลือกหยิบหนังสือผ่านหน้าปกที่หันแสดงออกมาทุกเล่มเท่านั้น และความสูงของชั้นหนังสือจะสูงเพียงขอบหน้าต่างเพราะผู้ใช้งานจริงของเราเป็นคนตัวจิ๋ว ความสูงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้พวกเขาเอื้อมหยิบหนังสือได้ บางมุมดัดแปลงให้เป็นพื้นที่สําหรับ ‘นอนอ่านหนังสือ’ ปูเบาะนิ่มๆ ให้เอกเขนกสบายๆ ตามแนวคิดที่ว่าหนังสือไม่จำเป็นต้องอ่านบนโต๊ะ

ทางสถาปนิก แปลน อาคิเต็ค มองว่าแนวคดิหลักของงานนี้คือ การเรียนรู้ผ่านการเล่น สถาปนิกไม่อยากให้ที่นี่ เป็นแค่ที่อ่านหนังสือเฉยๆ ถ้าเป็นห้องสมุดทั่วไปเด็กๆ ก็อาจจะไม่สนุก ดังนั้นจําเป็นต้องสร้างพื้นที่ให้เด็กมาวิ่งเล่น มี กิจกรรม มีพื้นที่กว้างให้พัฒนาตัวเองจากการเล่น ด้านหลังมีระเบียงเล่นระดับครึ่งชั้น โครงสร้างเป็นแบบผนังรับน้ำหนักตามแบบโบราณ แรกเริ่มเดิมทีสถาปนิก ประจำโครงการอยากทำพื้นที่ของบ้านส่วนหนึ่งเป็นสไลเดอร์ ให้เด็กเล่น โดยต่อจากระเบียงเล่นระดับหลังบ้านเข้ามาใน ตัวบ้าน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคดิ “เรียนรู้ผ่านการเล่น”แต่แนวคิดนี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไป หากทุบผนังก็อาจจะ กระทบกระเทือนผ่านโครงสร้างได้ 

เมื่อโจทย์การเล่นรูปแบบนี้ถูกพับไป ทําให้สถาปนิกต้องปรับแบบเล็กน้อยแต่ยังคงแนวคิดเดิมไว้ โดยออกแบบ“สะพานสายรุ้ง” เชื่อมระหว่างตัวบ้านและทอดยาวไปถึงสนามหญ้าเทียมข้างบ้าน นับเป็นไฮไลต์สําหรับเด็กๆ เลยก็ว่าได้ที่พวกเขามักจะเข้ามาเลือกหยิบหนังสือนิทานแล้วเดินไปนั่งอ่านใต้ต้นไม้ข้างบ้านอย่างมีความสุข ผ่านสะพานสายรุ้งสีสันสดใสนี้ ที่สําคัญสะพานทําจากเหล็ก ในยามที่เด็กๆ วิ่งเล่นมาแต่ไกล เมื่อขึ้นมาอยู่บนสะพานพวกเขาจะรู้สึกได้ว่ากำลังสัมผัสวัสดุ เพราะเสียงสัมผัสที่แตกต่างจากเดิม เพิ่มความปลอดภัยให้เด็กๆ ด้วยแผ่นกันลื่นและกระถางต้นไม้ที่วางเรียงรายด้านข้าง

ด้านนอกก็มีอีกหนึ่งไฮไลต์เด็ดคือ เนินนักอ่าน (Reader Hill) ซึ่งส่วนหนึ่งคือหลังคาของซุ้มร้านกาแฟคีออสนอกตัวบ้าน แต่ความตั้งใจของห้องสมุดคือ ให้หลังคาร้านกาแฟนี้สามารถดัดแปลงเป็นที่นั่งอ่านหนังสือของเด็กๆ ได้ ทางสถาปนิกจึงออกแบบให้เป็นเนินนักอ่าน ใช้สีนํ้าตาล-เขียวตัดกับตัวบ้าน ปรับความลาดชันให้น้อยที่สุดเผื่อให้คุณหนูๆเปลี่ยนอิริยาบถ รวมไปถึงการใส่ใจไปถึงรายละเอียดของสถาปนิกและผู้ใช้งานจริงที่ตัดสินใจถอนต้นสาเกนอกตัวบ้านออกไป เพราะสาเกเป็นไม้เปราะยิ่งถ้ามีเด็กๆ วิ่งเล่นรอบตัวบ้านเช่นนี้ไม่ควรให้คงไว้

ดรุณบรรณาลัยตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 34 (ซอยวัดม่วงแค) เปิดให้บริการทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ช่วงวันหยุด จะได้รับการตอบรับจากหลายๆ ครอบครัวเข้ามาใช้เวลาผ่อนคลายอย่างมีคุณภาพอีกทั้งย่านเจริญกรุงใน พ.ศ.นี้เปรียบเสมือนชุมชนการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ บ้านไม้หลังเล็กแห่งนี้ได้กลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่ทําให้ย่านแห่งนี้มีพลังไปโดยปริยาย เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาเมื่อบ้านไม้เก่าหลังหนึ่งได้หลอมรวมเรื่องราวระหว่าง “อดีต” และสานต่อพลังแห่ง “อนาคต” เข้าไว้ด้วยกัน