กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จังหวัดภูเก็ต

กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จังหวัดภูเก็ต
15 ธ.ค. 2560

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออก “ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2560” เพื่อใช้แทนฉบับเดิม พ.ศ. 2553 ประกาศฉบับนี้ได้กำหนดอายุใช้บังคับ 5 ปี คือตั้งแต่ 16 ธ.ค. 2560 ถึง 15 ธ.ค. 2565 มีการปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมข้อกำหนดในรายละเอียดบางอย่าง พอสรุปในส่วนที่น่าสนใจโดยเน้นในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ดังนี้

พื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการกำหนดบริเวณ

เดิมครอบคลุมเขตควบคุมอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคาร ประกาศกระทรวงฯ ฉบับใหม่กำหนดเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้แก่ เขตอนุรักษ์ เขตผังเมืองรวม เขตควบคุมอาคาร และเขตควบคุมมลพิษในจังหวัดภูเก็ต ส่วนการแบ่งบริเวณยังคงแบ่งเป็น 9 บริเวณเหมือนเช่นเดิม

กรณีต้องห้ามและข้อยกเว้น

อาคารประเภทโรงงานอุตสาหกรรมยังคงมีข้อยกเว้นสำหรับ โรงงานจำพวกที่ 1 และโรงงานตามประเภท ชนิด จำพวก และข้อกำหนดเพิ่มเติมในบัญชี 1 ท้ายประกาศ นอกจากนี้ได้เพิ่มเติมข้อยกเว้นสำหรับ โรงงานในเขตที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจหรือประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้าตามผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต เฉพาะที่ไม่ใช่โรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 ตามประเภทและชนิดที่กำหนดในบัญชี 2 ท้ายประกาศ และยกเว้นสำหรับ โรงงานที่จำเป็นต้องก่อสร้างทดแทนโรงงานที่มีอยู่บนพื้นที่เดิม สำหรับข้อกำหนดเกี่ยวกับน้ำทิ้งประกาศฯ ฉบับใหม่นี้ไม่ได้กำหนดรายละเอียด แต่กำหนดให้จะต้องมีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อควบคุมมลพิษหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

ส่วนอาคารประเภทอื่นที่ห้าม ได้แก่ โรงฆ่าสัตว์ ฌาปนสถาน สุสาน คลังน้ำมันและสถานที่เก็บรักษาน้ำมันลักษณะที่สาม คลัง สถานที่บรรจุ และสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ที่เป็นโรงบรรจุ ห้องบรรจุ โรงเก็บ) และอาคารเลี้ยงนกแอ่นกินรัง โดยมีข้อยกเว้นบางประการสำหรับโรงฆ่าสัตว์ ฌาปนสถาน และสุสาน สำหรับอาคารปศุสัตว์ กำหนดห้ามในเขตเทศบาลนครภูเก็ต ส่วนในพื้นที่อื่นจะต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 1,000 เมตร และห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะหรือบ่อน้ำเพื่อการบริโภคไม่น้อยกว่า 30 เมตร

ข้อกำหนดโดยทั่วไป

ข้อกำหนดโดยทั่วไปเกี่ยวกับความสูง และที่ว่าง สำหรับแต่ละบริเวณ มีวิธีการกำหนดแตกต่างไปจากประกาศฯ ฉบับเดิมที่แยกเรื่องความสูงกับเรื่องที่ว่างเป็นคนละข้อ ส่วนในประกาศฯฉบับใหม่นี้กำหนดไว้ในข้อเดียวกัน ทำให้สะดวกขึ้น ข้อกำหนดโดยทั่วไปสำหรับบริเวณที่ 1 – 8 ส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากประกาศฯ ฉบับเดิม บริเวณที่มีข้อกำหนดแตกต่างไปจากข้อกำหนดเดิมได้แก่ บริเวณที่ 4(1) ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมหรือย่านอาคารเก่า ให้มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร (เดิมไม่เกิน 12 เมตร)

ข้อกำหนดตามความลาดชัน

พื้นที่ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไป ยังคงให้มีได้เฉพาะบ้านเดี่ยวหรืออาคารเดี่ยวสูงไม่เกิน 6 เมตร หรือ 12 เมตร แล้วแต่บริเวณ แต่ตามประกาศฯ ฉบับใหม่ ถ้ามีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 35 ห้ามปรับสภาพพื้นที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใดๆ และสำหรับพื้นที่ที่มีความลาดชันร้อยละ 20-35 เดิมกำหนดขนาดแปลงที่ดินต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 100 ตร.วา ตามประกาศฯ ฉบับใหม่ยอมให้ขนาดแปลงที่ดินมีเนื้อที่น้อยกว่า 100 ตร.วาก็ได้ โดยมีข้อกำหนดพื้นที่คลุมดินที่แตกต่างกัน และตามประกาศฯ ฉบับใหม่ ไม่มีการกำหนดพื้นที่ว่างและพื้นที่สีเขียวขั้นต่ำ แต่ไปกำหนดเรื่องที่ว่างที่น้ำซึมผ่านได้แทน

สำหรับในกรณีมีความลาดชันร้อยละ 20 – 35 มีข้อกำหนดพอสรุปได้คือ บริเวณที่ 1 (ระยะ 50 เมตรจากแนวชายฝั่งทะเล) และบริเวณที่ 6 (สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 40-80 เมตร) ให้ทำได้เฉพาะบ้านเดี่ยวหรืออาคารเดี่ยวที่มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร ส่วนบริเวณที่ 2 – 5 และบริเวณที่ 8 (บริเวณอื่นนอกเหนือจากบริเวณที่ 1 บริเวณที่ 6 และบริเวณที่ 7-สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 80 เมตรขึ้นไป) ให้ทำได้เฉพาะบ้านเดี่ยวหรืออาคารเดี่ยวที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร ทุกบริเวณข้างต้นต้องมีพื้นที่อาคารคลุมดินและที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ ดังนี้
– กรณีขนาดที่ดินแปลงที่ขออนุญาตมีเนื้อที่ตั้งแต่ 100 ตร.วา ขึ้นไป ต้องมีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน 90 ตร.ม. และมีที่ว่างที่น้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของที่ดิน
– กรณีขนาดที่ดินแปลงที่ขออนุญาตมีเนื้อที่น้อยกว่า 100 ตร.วา ต้องมีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน 70 ตร.ม. และมีที่ว่างที่น้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของที่ดิน

การปรับสภาพพื้นที่ให้สามารถทำได้ตามหลักเกณฑ์ในประกาศฯ ซึ่งยังมีข้อกำหนดในเรื่องต่างๆ เช่นเดิม เว้นแต่มีข้อกำหนดที่เพิ่มขึ้นคือ ที่ว่างต้องมีพื้นที่สีเขียวที่เป็นไม้ยืนต้นและเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของที่ว่าง

ข้อกำหนดสำหรับโรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด หอพัก

การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารเป็นโรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด หรือหอพัก ต้องติดตั้งหรือจัดให้มีบ่อดักไขมันและระบบบําบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ท่อหรือทางน้ำสาธารณะ โดยระบบและน้ำเสียที่บําบัดแล้วต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกําหนด กรณีโรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม และอาคารชุด ที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลหรือแนวชายเกาะ (กรณีไม่มีชายฝั่งทะเล) เกินกว่า 50 เมตร และมีจํานวนห้องพักตั้งแต่ 10-29 ห้อง ต้องดําเนินการตามข้อกําหนดท้ายประกาศฯ ด้วย ซึ่งประกอบด้วย มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะต้องดำเนินการก่อนการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง และระหว่างประกอบกิจการ มาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม การจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว

สำหรับมาตรการที่จะต้องดำเนินการก่อนการก่อสร้าง ให้พิจารณาออกแบบให้มีอัตราส่วนของพื้นที่สีเขียวร้อยละ 50 ของแปลงที่ดิน สำหรับการก่อสร้างใหม่ในพื้นที่ใหม่ และร้อยละ 30 ของแปลงที่ดิน สำหรับการก่อสร้างใหม่ในพื้นที่เดิมที่เคยมีการใช้ประโยชน์ และให้พิจารณาออกแบบและวางผังอาคารให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบริเวณพื้นที่โดยรอบ โดยต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนบริเวณใกล้เคียง

การจัดทำ IEE หรือ EIA

สำหรับประเภทอาคารหรือประเภทโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) หรือ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีความเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ที่น่าสนใจ เช่น (เฉพาะที่นอกเหนือจากโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำ EIA อยู่แล้ว ตามประกาศกระทรวงฯ)
– โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด ที่มีจำนวนห้องพัก 30-79 ห้อง หรือมีพื้นที่ใช้สอยของทุกอาคารรวมกันตั้งแต่ 1,500 ตร.ม. แต่ไม่ถึง 4,000 ตร.ม. ต้องทำ IEE (เดิม 10-79 ห้อง หรือพื้นที่ 500-4,000 ตร.ม.) อาคารประเภทข้างต้นที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลหรือแนวชายเกาะไม่เกิน 50 เมตร ต้องทำ EIA โดยไม่ระบุจำนวนห้องและพื้นที่ (เดิม 80 ห้องขึ้นไป หรือพื้นที่ 4,000 ตร.ม.ขึ้นไป)
– กิจการที่นำบ้านพักอาศัย ห้องแถว ตึกแถว หรือบ้านแถว ไปให้บริการเป็นสถานที่พักในลักษณะโรงแรม ที่มีจำนวนห้องพัก 30-79 ห้อง ที่อยู่ในที่ดินแปลงเดียวกันหรือติดต่อกัน ต้องทำ IEE (เดิม 10-79 หลังหรือห้อง) ที่มีจำนวนห้องพัก 80 ห้องขึ้นไป ต้องทำ EIA
– การจัดสรรที่ดิน ที่มีจำนวนแปลงที่ดินตั้งแต่ 30 แปลง แต่ไม่ถึง 500 แปลง หรือมีเนื้อที่ 1.8-100 ไร่ ต้องทำ IEE (เดิมที่มีจำนวนแปลงย่อยไม่ถึง 250 แปลง หรือมีเนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่)

ข้อกำหนดควบคุมชายฝั่งทะเลจังหวัดภูเก็ต

ในการใช้บังคับตามประกาศฯฉบับนี้ หากมีกฎหมายอื่นที่กำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและเป็นมาตรการที่ไม่ต่ำกว่าหรือดีกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ก็ให้เป็นไปตามมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น อย่าลืมว่า นอกจากประกาศกระทรวงทรัพยากรฯฉบับนี้ซึ่งเป็นการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีกฎกระทรวงควบคุมอาคาร ซึ่งควบคุมเรื่องการก่อสร้างฯ ในจังหวัดภูเก็ตเช่นกัน ได้แก่ กฎกระทรวงฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2529) ซึ่งครอบคลุมชายฝั่งทะเลหาดป่าตอง และ กฎกระทรวงฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2532) ซึ่งครอบคลุมชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต นอกเหนือจากหาดป่าตอง ซึ่งจะต้องถูกนำมาพิจารณาร่วมกับประกาศกระทรวงตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ด้วย

ดาวน์โหลดประกาศฯ
ดาวน์โหลดประกาศฯแก้คำผิด

Facebook
Twitter
LinkedIn