NEW FACES : HED DESIGN STUDIO ‘เฮ็ด’ ในสิ่งที่เชื่อเพื่อการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

 

ASA CREW ขอพาคุณเปิดประตูสถาปนิกภาคอีสาน ‘HED DESIGN STUDIO’ (เฮ็ดสตูดิโอ)

พบกับเรื่องราวการทำงานออกแบบและก่อสร้างที่ ‘เรียนรู้’ อย่างไม่มีสิ้นสุด ทั้งยังเน้นกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม เพื่อสร้างสรรค์ชิ้นงานที่เป็นมากกว่าการสรรสร้างตัวอาคารหรือที่พักอาศัย ติดตามบทสนทนาที่ให้ข้อคิดและมุมมองที่น่าสนใจแก่สถาปนิกรุ่นใหม่ได้ที่ : วารสารอาษาครู ฉบับ 11 NEW FACES – สถาปนิกและออฟฟิศสถาปนิกหน้าใหม่ไฟแรง…

 

 

ช่วยเล่าถึงการก่อตั้งหรือจุดเริ่มต้นของออฟฟิศ

เฮ็ดดีไซน์ สตูดิโอ เป็นสตูดิโอขนาดเล็กที่ จ.อดุรธานี เฮ็ดดีไซน์ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบและก่อสร้าง เราชอบที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ร่วมกันกับทุกคน เรียนรู้ผ่านการทำงานในแต่ละโปรเจ็คต์ เฮ็ด เป็นภาษาอีสาน แปลว่า ‘ทำ’ เพราะเราเชื่อว่าการลงมือทำคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

 

ทำไมถึงมาเปิดออฟฟิศที่อุดรธานี

เป็นคนอุดรธานีโดยกำเนิดอยู่แล้วครับ เลยเลือกที่จะกลับมาทำงานที่บ้านเกิด เหตุผลไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการกลับบ้านครับ ผมตั้งสำนักงานออกแบบและบริษัทรับเหมาก่อสร้างเล็กๆ ให้ภรรยาชื่อ หจก.วันเดอร์ครีเอชั่น และทำงานร่วมกันตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

ความได้เปรียบเสียเปรียบต่างกันกับออฟฟิศที่เปิดที่กรุงเทพฯ อย่างไร

ความได้เปรียบน่าจะเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีกว่ามากๆ การทำงานที่เราบริหารจัดการเวลาได้อิสระ ข้อเสียถ้าเทียบกับกรุงเทพฯ น่าจะเป็นเรื่องค่า fee ที่ตามหลังอยู่เยอะ แต่ถ้าใครคิดในแง่ความสมดุลระหว่างค่าครองชีพแล้วก็ถือว่ายังสมดุลดีครับ

 

แนวคิด/สิ่งที่สนใจหลักในการออกแบบ และหลักการทำงานของออฟฟิศ

แนวคิดหลักในการออกแบบคือเราเชื่อเรื่องกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม (co-create) ในแต่ละงานเราจะเริ่มด้วยการเข้าไปเป็น ‘กระบวนการ’ ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ตั้งแต่เจ้าของโครงการ ผู้ใช้อาคารคนอื่นๆ ทีมน้องๆ สถาปนิก ทีมช่างในบริษัท คุณป้าข้างๆ ไซต์ก่อสร้างหรือ ซินแส (ถ้ามี) พอใช้กระบวนการนี้ มันเลยไม่ใช่แค่ออกแบบตัวสถาปัตยกรรม แต่เลยเถิดไปถึงการออกแบบกิจกรรมภายในพื้นที่นั้นด้วย

 

 

อยากฝากข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอะไรให้สถาปนิกรุ่นใหม่ ทั้งกลุ่มที่เป็นพนักงานอยู่ในออฟฟิศต่างๆ หรือทั้งกลุ่มที่อยากจะเปิดออฟฟิศเป็นของตัวเอง

ผมตั้งชื่อเล่นๆ ให้ยุค 2018 (เฟซบุ๊คมีอายุ 10 ปี) ว่าเป็นยุค on demand แทบทุกอย่างสามารถกำหนดเองได้ ทีวีไม่ต้องรอเช้าวันเสาร์อาทิตย์แล้ว กดในมือถือมีการ์ตูนตลอดเวลาและเปลี่ยนเรื่องได้ทุกวินาทีที่ใจอยาก เราสั่งซื้อของได้แม้ตัวจะนอนกลิ้งอยู่บนเตียง ตื่นมาอาจจะได้รับของแล้วในมุมของพนักงานผมเข้าใจว่าน้องๆ ก็คงมีแนวคิด on demand อยู่ไม่น้อย สังเกตจากการย้ายเข้าย้ายออกของพนักงานที่รู้สึกว่ามีตัวเลือกมากขึ้น ไม่ใช่มีออฟฟิศเยอะขึ้น แต่มีตัวเลือกที่จะใช้ชีวิตมากขึ้น คำนิยามของอาชีพต่างๆ มันเบลอขึ้นเรื่อยๆ แต่ในความอิสระนั้นเราต้องกลับมาตั้งคำถามว่า คุณค่าของเราคืออะไร เราจะช่วยสังคมได้อย่างไร ในจังหวะที่วิถีชีวิตมันเปลี่ยนสังคมเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน สภาพอากาศเปลี่ยน เศรษฐกิจเปลี่ยนแม้แต่ทัศนคติในใจเราที่อาจจะเปลี่ยน เรายังจำได้มั้ยว่าว่าเราเลือกที่เป็นสถาปนิกเพราะอะไร ถ้ายังจำอุดมการณ์นั้นได้ขนาดของที่ทำงานไม่มีผลไปมากกว่าขนาดของความตั้งใจของเราเลย

 


Founded in: 2014

Founder: Pongpon Yutharat

Number of staff: 5