บ้านเวฬุวัน จังหวัดเชียงใหม่

บ้านเวฬุวัน จังหวัดเชียงใหม่

บ้านเวฬุวัน

รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคาร

เคหะสถานและบ้านเรือนเอกชน

ที่ตั้ง เลขที่ 47/6 หมู่ 1 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

สถาปนิก/ผู้ออกแบบ คุณกี นิมมานเหมินท์ โดยการเลือกแบบแปลนบ้านจากแคตาล๊อกต่างประเทศ

ผู้ครอบครอง ทายาทนายกี และนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์

ปีที่สร้าง พุทธศักราช 2475 – 2480

ปีที่ได้รับรางวัล  พ.ศ. 2560

ประวัติเพิ่มเติม

บ้านเวฬุวัน เดิมเป็นสวนป่าและไม้ดอกตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 7 กิโลเมตร เจ้าของ คือ นายกี และนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ซึ่งทั้งสองได้เริ่มบุกเบิกพื้นที่เมื่อประมาณช่วงพุทธศักราช 2470 เพื่อพัฒนาเป็นสวนปลูกผลไม้และพักผ่อนหย่อนใจ เนื่องจากนางกิมฮ้อพอใจสวนแห่งนี้มากเพราะตั้งอยู่บนเนินเขามีสภาพธรรมชาติงดงาม มีลำธารไหลผ่านกลางสวน ในเวลาต่อมานายกี และนางกิมฮ้อตกลงสร้างบ้านพักแบบแคลิฟอร์เนียในสวนแห่งนี้ โดยนายกีเป็นผู้คัดเลือกแบบแปลนบ้านจากแคตาล๊อกต่างประเทศและปรับปรุงแบบให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศตามสมควร มีช่างก่อสร้างเป็นคนจีนฝีมือดีจากกรุงเทพมหานคร ส่วนวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ และเหล็ก เป็นต้น ขนส่งมาจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถไฟ นอกจากเป็นบ้านพักอาศัยของตระกูลนิมมานเหมินท์แล้ว บ้านเวฬุวันยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยเป็นที่พักของ Mr. Harrold Mason Young มิชชันนารีชาวเอมริกัน ซึ่งเช่าเป็นที่พักอาศัยระหว่างพุทธศักราช 2493 – 2500 ขณะที่มาทำสวนสัตว์แห่งแรกในเชียงใหม่ นอกจากนี้บ้านเวฬุวันยังเคยใช้เป็นสถานที่เจรจาการวางอาวุธระหว่างทหารพันธมิตรกับญี่ปุ่นอีกด้วย

บ้านเวฬุวัน เป็นบ้าน 2 ชั้น โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาทรงปั้นหยา ผนังไม้สัก พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างประกอบด้วยห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร ห้องทำงาน ห้องนั่งเล่น และครัว ส่วนพื้นที่ใช้สอยชั้นบนประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้อง ห้องเสื้อผ้า และระเบียง 2 ด้าน ถือได้ว่าบ้านเวฬุวันเป็นบ้านแบบตะวันตกหลังแรก ๆ ที่สร้างในเมืองเชียงใหม่ระหว่างพุทธศักราช 2470 – 2480 นอกเหนือจากบ้านของเจ้านายฝ่ายเหนือ เช่น คุ้มเจดีย์กิ่ว คุ้มเจ้าราชบุตร และคุ้มรินแก้ว เป็นต้น ที่ก่อสร้างในช่วงเวลาเดียวกัน โดยอาคารทั้งหมดต่างได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในยุคนั้น

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บ้านเวฬุวันได้รับการดูแลรักษาให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมมากที่สุด บริเวณบ้านยังคงสภาพสวนป่าธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ อาจกล่าวได้ว่าเป็นสวนป่าตามธรรมชาติที่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ที่สุดแห่งหนึ่ง และเนื่องจากสวนแห่งนี้มีต้นไผ่มากจึงตั้งชื่อว่า “สวนเวฬุวัน” ตามพุทธประวัติ