Code of Conduct

ข้อบังคับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ. ๒๕๕๕)

ข้อ ๑ ยกเลิกข้อบังคับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ และให้ใช้ข้อบังคับฉบับนี้แทน นับตั้งแต่เก้าสิบวัน จากวันที่ประชุมใหญ่มีมติเห็นชอบ

หมวดที่ ๑ ชื่อ ตรา สำนักงาน

ข้อ ๒. ชื่อของสมาคม
สมาคมนี้ใช้ชื่อว่า “สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์” ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “THE ASSOCIATION OF SIAMESE ARCHITECTS UNDER ROYAL PATRONAGE” ใช้อักษรย่อว่า “อาษา” ใช้อักษรย่อภาษาอังกฤษว่า “ASA” คำว่า “สมาคม” ต่อไปในข้อบังคับนี้ให้หมายความถึง “สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปภัมภ์” ดังกล่าว

ข้อ ๓. ตราของสมาคม

๓.๑ ตราของสมาคมนี้เป็นรูปยอดเสาเม็ดทรงมัน ประดิษฐานกลางวงรี มีมหามงกุฎและเลข ๙ ทับบนหัวเสา ส่วนกลางเป็นรูปเครื่องมือวัดความลาดเอียง ประกอบด้วยฉากและลูกดิ่ง ส่วนบนของวงรอบมีอักษร จารึกนาม “สมาคม สถาปนิก สยาม” ข้างเสาจารึกตัวเลขปีสถาปนาสมาคมนี้ว่า “๒๔” และ “๗๗” และส่วนล่างของวงรอบจารึกข้อความว่า “ในพระบรมราชูปถัมภ์”

๓.๒ การใช้ตราของสมาคมให้เป็นไปตามระเบียบของสมาคม

ข้อ ๔. สำนักงานของสมาคม

สำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๒๔๘/๑ ซอยศูนย์วิจัย ๔  แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

       สำนักงานสาขา ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๒๕๗ หมู่ที่ ๒ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

หมวดที่ ๒
วัตถุประสงค์

ข้อ ๕. สมาคมเป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม และผู้ที่มีความสนใจในวิชาชีพสถาปัตยกรรม มีวัตถุประสงค์ดังนี้

๕.๑ มุ่งบำเพ็ญประโยชน์ในการสร้างสรรค์ความเจริญงดงามทางสถาปัตยกรรมและ
สิ่งแวดล้อม และรักษาอารยธรรมของชาติ ในฐานะองค์กรทางวิชาชีพอิสระ

๕.๒ เสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่มวลสมาชิก เพื่อดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรี รวมทั้งเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบวิชาชีพของสมาชิกและต่อสังคม

๕.๓ ให้ความรู้ คำปรึกษาทางวิชาชีพ วิชาการ และสิทธิประโยชน์ แก่สมาชิกและสังคม

๕.๔ ส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่ การศึกษา ค้นคว้า การวิจัย และการพัฒนา เพื่อความก้าวหน้าในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม

๕.๕ ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ องค์กร และสถาบัน ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ เพื่อพัฒนาและเผยแพร่ อุดมการณ์ บทบาท และหน้าที่ของสถาปนิก

๕.๖ ส่งเสริม พัฒนาและติดตามการปฏิบัติตามพันธะกรณีว่าด้วยการให้บริการและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม

๕.๗ กำหนดและรับรองมาตรฐาน กฎ ระเบียบ เกี่ยวกับวิชาชีพสถาปัตยกรรม

๕.๘ สนับสนุนให้มีกองทุนสวัสดิการสมาชิก เพื่อให้สมาชิกมีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคม และสมาชิก ร่วมกันกำหนดขึ้นอย่างเที่ยงธรรม

หมวดที่ ๓
สมาชิกบุคคลธรรมดา

ข้อ ๖. ประเภทสมาชิก

๖.๑ สมาชิกบุคคลธรรมดาของสมาคมมี ๔ ประเภท คือ
(๑) สมาชิกสมทบ
(๒) สมาชิกภาคี
(๓) สมาชิกสามัญ
(๔) สมาชิกกิตติมศักดิ์

๖.๒ การปรับเปลี่ยนประเภทสมาชิก
กรรมการบริหารพิจารณาปรับเปลี่ยนประเภทสมาชิกได้ในกรณี ดังนี้
(๑) สมาชิกยื่นแสดงความจำนง ในการปรับเปลี่ยนประเภทสมาชิกตามระเบียบของสมาคม
(๒) สมาชิกมีคุณสมบัติ หรือคุณวุฒิไม่ตรงตามคุณสมบัติหรือคุณวุฒิของประเภทสมาชิกนั้นๆ

ข้อ ๗. คุณสมบัติและคุณวุฒิ

๗.๑ สมาชิกสมทบ
คุณสมบัติ
(๑) เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีถิ่นฐานพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวรมาแล้ว ไม่น้อยกว่าสอง ปี
(๒) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
(๓) ไม่เป็นผู้เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด ในกรณีที่สมาคมเห็นว่าอาจ นำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ เว้นแต่ได้พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี นับแต่วันพ้นโทษ และสมาคมเห็นสมควรยกเว้น
(๔) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟื่อน
คุณวุฒิ
(๕) เป็นนักศึกษาวิชาสถาปัตยกรรม อยู่ในสถานศึกษาที่สมาคม หรือสภาสถาปนิกรับรองวิทยฐานะแล้ว หรือ
(๖) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรม หรือ
(๗) บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในวิชาชีพสถาปัตยกรรม หรือ
(๘) บุคคลที่เป็นตัวแทนของสำนักงานที่ให้บริการวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมหรือสำนักงานที่ให้บริการเกี่ยวเนื่องด้านสถาปัตยกรรม

๗.๒ สมาชิกภาคี
คุณสมบัติ
(๑) เช่นเดียวกับสมาชิกสมทบ
คุณวุฒิ
(๒) เป็นผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตามที่สมาคมหรือสภาสถาปนิกรับรอง หรือ
(๓) เป็นผู้ได้รับอนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรในวิชาชีพสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตามที่สมาคมหรือสภาสถาปนิกรับรอง และต้องปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมมาแล้วไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามประกาศสภาสถาปนิก

๗.๓ สมาชิกสามัญ
คุณสมบัติ
(๑) เช่นเดียวกับสมาชิกภาคีคุณวุฒิ
(๒) เป็นผู้ได้รับหรือเคยได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ตามพระราชบัญญัติสถาปนิกในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก

๗.๔ สมาชิกกิตติมศักดิ์
ได้แก่ บุคคลผู้มีอุปการะคุณเป็นพิเศษอย่างเด่นชัดต่อสมาคมหรือต่อวิชาชีพสถาปัตยกรรม ซึ่งคณะกรรมการบริหารมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

ข้อ ๘. การเข้าเป็นสมาชิก
ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้แสดงความจำนงพร้อมด้วยใบสมัคร ซึ่งมีสมาชิกสามัญรับรองไม่น้อยกว่าสองนาย เมื่อผู้ที่นายทะเบียนตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติและคุณวุฒิถูกต้องตามข้อบังคับของสมาคมแล้ว คณะกรรมการบริหารอาจจะพิจารณารับเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่ก็ได้
เมื่อคณะกรรมการบริหารพิจารณาอนุมัติแล้ว ให้เลขาธิการสมาคมแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ผู้ที่ได้เป็นสมาชิกและประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
ผู้ที่คณะกรรมการบริหารพิจารณาไม่รับเข้าเป็นสมาชิก อาจแสดงความจำนงและสมัครได้อีกเมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับจากวันที่คณะกรรมการบริหารมีมติไม่รับครั้งแรก

ข้อ ๙. วันเริ่มสมาชิกภาพ
สมาชิกภาพเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงประจำปีของสมาคมเรียบร้อยแล้ว โดยนายกสมาคมและนายทะเบียนเป็นผู้ลงนามรับรอง หลังจากที่คณะกรรมการบริหารอนุมัติแล้ว

ข้อ ๑๐. การสิ้นสุดสมาชิกภาพ และการพักสมาชิกภาพ

๑๐.๑ สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลง ในกรณีต่อไปนี้
(๑) ตาย
(๒) ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิก
(๓) ลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อนายทะเบียน และนายทะเบียนได้ตรวจสอบแล้วว่าไม่มีข้อผูกพันใดกับสมาคมแล้ว
(๔) คณะกรรมการบริหารลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ขององค์ประชุม ให้ออกหรือไล่ออกจากสมาชิกภาพ แต่สำหรับสมาชิกกิตติมศักดิ์ต้องเป็นมติเอกฉันท์ของที่ประชุมใหญ่

๑๐.๒ ผู้ที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าบำรุงสมาคมคืน

๑๐.๓ ให้เลขาธิการสมาคมดำเนินการประกาศชื่อสมาชิกที่สิ้นสุดสมาชิกภาพ ให้ทราบโดยทั่วกัน

๑๐.๔ การพักสมาชิกภาพ ในกรณีต่อไปนี้
(๑) สมาชิกที่ขาดชำระค่าบำรุงสมาคมหรือหนี้สิ้นอื่นแก่สมาคม ให้เหรัญญิกสมาคมมีหนังสือบอกกล่าวไปยังสถานที่อยู่ที่ปรากฎในทะเบียนของสมาคม ถ้าสมาชิกผู้นั้นไม่ชำระภายในหกสิบวันนับตั้งแต่วันที่ได้ส่งหนังสือบอกกล่าวไป ให้เหรัญญิกสมาคมมีหนังสือบอกกล่าวเป็นครั้งที่สองโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือส่งโดยมีหลักฐานรับหนังสือนั้น ภายในสามสิบวัน
(๒) สมาชิกที่ถูกพิจารณาว่าขาดจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม
ให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาพักสมาชิกภาพของสมาชิกตามกรณี (๑) หรือ (๒) และให้เลขาธิการสมาคมแจ้งให้ผู้ถูกพักสมาชิกภาพทราบโดยเร็ว ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิที่จะขอกลับเข้าเป็นสมาชิกอีก

ข้อ ๑๑. ทะเบียนสมาชิก
ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนประวัติสมาชิกให้เป็นปัจจุบันเก็บไว้ ณ สำนักงานของสมาคมโดยอย่างน้อยให้มีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อและนามสกุล
(๒) สัญชาติ
(๓) คุณวุฒิ
(๔) ที่อยู่ของสมาชิก
(๕) วันที่เข้าเป็นสมาชิกครั้งแรก
(๖) วันที่ต่ออายุหรือกลับเข้าเป็นสมาชิกครั้งล่าสุด

ข้อ ๑๒. สิทธิของสมาชิก

๑๒.๑ สมาชิกสมทบ
(๑) มีสิทธิในการเสนอความคิดเห็นใดๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อความก้าวหน้าของสมาคม
(๒) มีสิทธิใช้ชื่อว่าเป็นสมาชิกของสมาคม ตามประเภทของสมาชิกตามระเบียบของสมาคมว่าด้วยการใช้ชื่อนั้นๆ รวมทั้งอักษรย่อด้วย
(๓) มีสิทธิได้รับบริการของสมาคมตามระเบียบของสมาคม
(๔) มีสิทธิในการขอเข้าใช้สถานที่ของสมาคม หรือที่สมาคมเกี่ยวข้อง
(๕) มีสิทธิเข้าร่วมการประชุมใหญ่ การประชุมทางวิชาการ หรือการประชุมอื่นใดที่สมาคมจัดขึ้นและประกาศหรือแจ้งให้สมาชิกของสมาคมทุกคนทราบ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติในที่ประชุมใหญ่
(๖) มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนของสมาคมในการร่วมกิจกรรมทางสังคม การบำเพ็ญประโยชน์ หรือเป็นกรรมาธิการ อนุกรรมการ คณะทำงานและผู้แทนสมาคม
(๗) มีสิทธิได้รับสิทธิ์และสวัสดิการในกองทุนสวัสดิการสมาชิก

๑๒.๒ สมาชิกภาคี
(๑) มีสิทธิเช่นเดียวกับสมาชิกสมทบ และ
(๒) มีสิทธิได้รับการคุ้มครอง ส่งเสริม ช่วยเหลือ ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม

๑๒.๓ สมาชิกสามัญ
(๑) มีสิทธิเช่นเดียวกับสมาชิกภาคี และ
(๒) มีสิทธิได้รับเลือกตั้ง หรือได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหาร
(๓) มีสิทธิเข้าประชุมที่สมาคมจัดขึ้นเฉพาะ สำหรับสมาชิกสามัญ
(๔) มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือถอดถอนนายกสมาคม กรรมการบริหาร และกรรมการกองทุน
(๕) มีสิทธิออกเสียงลงมติในที่ประชุมใหญ่
(๖) มีสิทธิได้รับบริการเฉพาะของสมาคมตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนด

๑๒.๔ สมาชิกกิตติมศักดิ์
มีสิทธิเช่นเดียวกับสมาชิกสามัญ

ข้อ ๑๓. หน้าที่ของสมาชิก

สมาชิกจะต้องทำความเข้าใจหรือยอมรับหรือ ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสมาคม และมีหน้าที่ซึ่งควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
(๑) ช่วยเหลือ ร่วมมือ และส่งเสริมงานของสมาคม
(๒) ร่วมประชุมและร่วมงานที่สมาคมจัดขึ้นอย่างอุทิศเวลา และด้วยความตั้งใจ
(๓) ติดต่อกับสมาคมอยู่เสมอ
(๔) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนสมาชิก
(๕) สำหรับสมาชิกที่ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม มีหน้าที่ปฏิบัติตามแบบแผน มารยาท และจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ ตามที่สมาคมกำหนด และตามกฎหมายบัญญัติ
(๖) สมาชิกกิตติมศักดิ์มีหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมของสมาคมตามวาระและโอกาสอันสมควร

ข้อ ๑๔. การพิจารณาความผิดสมาชิก

๑๔.๑ สมาชิกย่อมได้รับการพิจารณา หากมีความผิดสถานใดสถานหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ผิดระเบียบข้อบังคับของสมาคม
(๒) ประพฤติตนหรือทำความเสื่อมเสียให้เกิดแก่ชื่อเสียงของตนหรือเสื่อมเสียถึงสมาคม
(๓) ต้องคดีอาญาอันไม่ใช่ความผิดลหุโทษหรือฐานประมาท และต้องถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล
(๔) ทำความเสื่อมเสียทางการเงิน หรือเป็นหนี้สมาคมเกินเวลาอันสมควร
(๕) มีส่วนในการกระทำผิดร่วมกับสมาชิกนิติบุคคลที่ตนเป็นกรรมการบริหารนิติบุคคลนั้นๆ

๑๔.๒ การพิจารณาดำเนินการเมื่อสมาชิกกระทำความผิด มีอยู่ห้าระดับ
(๑) ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
(๒) ประณามเป็นลายลักษณ์อักษร
(๓) ประกาศพักสมาชิกภาพ เป็นเวลาไม่เกินหนึ่ง ปี
(๔) ให้พ้นจากสมาชิกภาพ
(๕) ไล่ออกจากสมาชิกภาพ และประกาศความผิดให้ทราบทั่วกัน

๑๔.๓ การพักสมาชิกภาพ
(๑) กระทำความผิดตามข้อ ๑๔.๑
(๒) ขาดชำระค่าบำรุงสมาชิกเกินสองงวด

หมวดที่ ๔
สมาชิกนิติบุคคล

ข้อ ๑๕. คุณสมบัติ

๑๕.๑ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามที่ได้ระบุไว้ในรายการจดทะเบียนนิติบุคคลหรือในหนังสือบริคณห์สนธิ

๑๕.๒ ต้องมีผู้บริหารของนิติบุคคลนั้นๆ อย่างน้อยหนึ่งคน เป็นสมาชิกประเภทสมาชิกสามัญของสมาคม

ข้อ ๑๖. การเข้าเป็นสมาชิก
เช่นเดียวกับสมาชิกบุคคลธรรมดา

ข้อ ๑๗. การเริ่มสมาชิกภาพ
เช่นเดียวกับสมาชิกบุคคลธรรมดา

ข้อ ๑๘. การสิ้นสุดสมาชิกภาพ มีผลเมื่อขาดคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(๑) ขาดคุณสมบัติ
(๒) ลาออกโดยมีผลเมื่อยื่นหนังสือลาออกต่อนายทะเบียน และนายทะเบียนตรวจสอบแล้วไม่มีข้อผูกพันใดกับสมาคม
(๓) คณะกรรมการบริหารลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ขององค์ประชุม ให้ออกจากสมาชิกภาพ
(๔) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย
(๕) ขาดชำระค่าบำรุงสมาชิกเกินสองงวดติดต่อกัน

ข้อ ๑๙. ทะเบียนสมาชิกนิติบุคคล
ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนประวัติสมาชิกนิติบุคคลให้เป็นปัจจุบันเก็บไว้ ณ สำนักงานของสมาคม โดยอย่างน้อยให้มีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อของนิติบุคคล และสำเนาเอกสารหลักฐานการจดทะเบียนนิติบุคคล
(๒) ชื่อผู้บริหารที่เป็นสมาชิกสามัญ
(๓) ที่อยู่ของนิติบุคคล
(๔) วันที่เข้าเป็นสมาชิกครั้งแรก
(๕) วันที่ต่ออายุหรือกลับเข้าเป็นสมาชิกครั้งล่าสุด

ข้อ ๒๐. สิทธิของสมาชิกนิติบุคคล
(๑) มีสิทธิเช่นเดียวกับสมาชิกภาคี และ
(๒) มีสิทธิได้รับการเผยแพร่ข้อมูลของนิติบุคคลนั้นๆ ที่ลงทะเบียนไว้กับสมาคม ให้กับหน่วยงานราชการ เอกชน บริษัท ห้างร้าน ในกรณีที่สมาคมได้รับการติดต่อ
(๓) มีสิทธิได้รับข่าวสารและบริการเพิ่มเติมที่เกี่ยวเนื่อง กับการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
(๔) มีสิทธิเข้าประชุมที่สมาคมจัดขึ้นเฉพาะสำหรับสมาชิกประเภทนิติบุคคล
(๕) มีสิทธิให้สมาคมออกหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกประเภทนิติบุคคลของสมาคม
(๖) มีสิทธิได้รับสิทธิและสวัสดิการในกองทุนสวัสดิการสมาชิก

ข้อ ๒๑. หน้าที่ของสมาชิกนิติบุคคล
ให้นำข้อบังคับเรื่องหน้าที่ของสมาชิกบุคคลธรรมดาประเภทสมาชิกสามัญ มาใช้โดยอนุโลม

ข้อ ๒๒. การพิจารณาความผิดของสมาชิกนิติบุคคล
ให้นำข้อบังคับเรื่องการพิจารณาความผิดของสมาชิกประเภทบุคคลธรรมดา มาใช้โดยอนุโลม

หมวดที่ ๕
ค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิกและค่าบำรุงสมาคม

ข้อ ๒๓. ค่าลงทะเบียนสมัครเข้าเป็นสมาชิก
ให้เป็นไปตามระเบียบของสมาคม แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ดังนี้
(๑) สมาชิกกิตติมศักดิ์ไม่ต้องชำระค่าลงทะเบียน
(๒) สมาชิกบุคคลธรรมดา ๖๐๐ บาท
(๓) สมาชิกนิติบุคคล ๓,๐๐๐ บาท
(๔) กรณีสมาชิกที่ขาดสมาชิกภาพ กลับเข้าเป็นสมาชิก ต้องชำระค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิก เช่นเดียวกับ ผู้ที่เข้าเป็นสมาชิกใหม่
(๕) การปรับเปลี่ยนประเภทสมาชิก ไม่ต้องชำระค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิกอีก

ข้อ ๒๔. ค่าบำรุงสมาคม
ให้เป็นไปตามระเบียบของสมาคม แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ดังนี้
(๑) สมาชิกสมทบ ปีละ ๑,๘๐๐ บาท
(๒) สมาชิกสมทบประเภทนักศึกษา ปีละ ๗๕๐ บาท
(๓) สมาชิกภาคีปีละ ๑,๐๐๐ บาท
(๔) สมาชิกสามัญรายห้าปี ๖,๐๐๐ บาท
(๕) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องชำระค่าบำรุงอย่างใดทั้งสิ้น
(๖) สมาชิกนิติบุคคล ต้องชำระค่าบำรุงสมาคมเป็นรายสองปี ๑๒,๐๐๐ บาท

ข้อ ๒๕. ค่าบำรุงพิเศษ
สมาคมอาจเรียกเก็บค่าบำรุงพิเศษจากสมาชิกสามัญได้ เป็นครั้งคราว ตามระเบียบของสมาคม

หมวดที่ ๖
การบริหารและการดำเนินงานของสมาคม

ข้อ ๒๖. คณะบุคคล
สมาคมนี้บริหารงานโดยคณะกรรมการบริหาร มีนายกสมาคมเป็นประธานในการบริหารกิจการของสมาคม ทำหน้าที่เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร และการประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ ๒๗. นายกสมาคม

๒๗.๑ นายกสมาคมเป็นสมาชิกสามัญ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากสมาชิกสามัญ

๒๗.๒ นายกสมาคมมีหน้าที่กำกับดูแล และบริหารจัดการสมาคม ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคม และนโยบายที่นายกสมาคมได้แถลงต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี

๒๗.๓ นายกสมาคม เป็นผู้แต่งตั้ง ถอดถอน กรรมการบริหาร กรรมาธิการ อนุกรรมการ และคณะทำงานต่างๆ

๒๗.๔ นายกสมาคม ต้องรายงานผลการดำเนินงานให้สมาชิกทราบไม่น้อยกว่าปีละสองครั้ง ในการประชุมใหญ่ของสมาคม

๒๗.๕ การดำรงตำแหน่งของนายกสมาคมอาจสิ้นสุดลง ก่อนครบวาระ เมื่อ
(๑) ตาย หรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถหรือคนสาบสูญ
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติ หรือคุณวุฒิ การเป็นสมาชิกสามัญของสมาคม
(๔) ถูกถอดถอนโดยมติของที่ประชุมใหญ่
(๕) กรรมการบริหารสมาคมลาออกในคราวเดียวกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารทั้งหมด

๒๗.๖ เมื่อการดำรงตำแหน่งของนายกสมาคมสิ้นสุดลง ก่อนครบวาระ ให้ประธานกรรมการกองทุน ดำเนินการไปตามนี้
(๑) หากการดำรงตำแหน่งของนายกสมาคมสิ้นสุดลง ก่อนครบวาระ ไม่ว่าเป็นระยะเวลาเท่าใดให้ประธานกรรมการกองทุนรักษาการนายกสมาคมชั่วคราว และให้คณะกรรมการกองทุนดำเนินการลงคะแนนเสียงคัดเลือก “กรรมการกองทุนที่มาจากการเลือกตั้ง” ทำหน้าที่นายกสมาคมรักษาการ ภายในระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวัน นับแต่วันที่การดำรงตำแหน่งของนายกสมาคมสิ้นสุดลง
(๒) และให้นายกสมาคมรักษาการและคณะกรรมการกองทุนเป็นคณะกรรมการเลือกตั้ง และกรรมการนับคะแนนเลือกตั้ง ดำเนินการให้มีการเลือกตั้งนายกสมาคม ตามข้อบังคับการเลือกตั้งนายกสมาคม โดยให้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนั้นทำหน้าที่นายกสมาคมจนครบวาระปกติของนายกสมาคมที่สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งลงก่อนครบวาระ และให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมในสมัยถัดไปตามวาระปกติที่ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิก

๒๗.๗ ให้ผู้ที่ทำหน้าที่นายกสมาคมรักษาการ มีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารงานสมาคมเช่นเดียวกับนายกสมาคมที่ได้รับเลือกตั้ง และอาจพิจารณามอบหมายให้กรรมการบริหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เดิมทำหน้าที่ต่อไป หรือแต่งตั้งกรรมการบริหารใหม่ได้ตามความเหมาะสม

ข้อ ๒๘. คณะกรรมการบริหาร

๒๘.๑ องค์คณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วยนายกสมาคม และสมาชิกสามัญ ซึ่งนายกสมาคมแต่งตั้ง ดังนี้
(๑) นายกสมาคม
(๒) อุปนายกไม่น้อยกว่าสองตำแหน่ง ไม่เกินหกตำแหน่ง
(๓) เลขาธิการ
(๔) นายทะเบียน
(๕) เหรัญญิก
(๖) ปฏิคม
(๗) ประชาสัมพันธ์
(๘) กรรมการกลางไม่น้อยกว่าสามตำแหน่ง ไม่เกินหกตำแหน่ง
(๙) ประธานกรรมาธิการภูมิภาค ประจำภูมิภาคสามตำแหน่ง

๒๘.๒ คณะกรรมการบริหาร มีหน้าที่บริหารงาน และมีอำนาจออกระเบียบต่างๆ ในการบริหารเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสมาคม และนโยบายที่นายกสมาคมได้แถลงต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี

๒๘.๓ การประชุมของคณะกรรมการบริหาร
(๑) ให้คณะกรรมการบริหารประชุมเพื่อปรึกษาหารือกิจการของสมาคม ไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง โดยเลขาธิการสมาคมเป็นผู้เชิญประชุมตามความเห็นชอบของนายกสมาคม
(๒) องค์ประชุมทุกครั้งต้องมีกรรมการบริหารเข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารทั้งหมด โดยให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อยู่ ให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าทั้งนายกสมาคมและอุปนายกไม่อยู่ ให้ที่ประชุมเลือกตั้งประธานขึ้นชั่วคราวในคราวประชุมนั้น
(๓) กรรมการบริหารจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน มีสิทธิขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาข้อเสนอพิเศษใดๆ ก็ได้ ในกรณีนี้ให้นายกสมาคมจัดให้มีการประชุมของคณะกรรมการบริหารตามคำขอภายในกำหนดห้าวัน
(๔) การประชุมทุกครั้ง หากจำเป็นต้องมีการลงมติให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
(๕) รายงานการประชุมทุกครั้งต้องแล้วเสร็จภายในสิบห้าวัน
(๖) มติที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารให้ถือเป็นหลักปฏิบัติเพื่อดำเนินการสืบเนื่องต่อไป
ในกรณีที่มีมติในกิจการหรือภารกิจที่ผูกพันของสมาคมเกินกว่าระยะเวลาการบริหารของคณะกรรมการบริหาร ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสี่ปี นับแต่วันส่งมอบงานต่อนายกสมาคมคนถัดไป
เมื่อลงมติแล้วให้แจ้งต่อที่ประชุมใหญ่ในวันส่งมอบงานต่อนายกสมาคมคนถัดไป เพื่อให้สมาชิกรับทราบโดยทั่วกัน
หากมีกรณีสร้างภาระผูกพันเกินกว่าสี่ปี ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่

๒๘.๔ ในกรณีที่นายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ให้อุปนายกที่นายกสมาคม หรือคณะกรรมการบริหารมอบอำนาจทำหน้าที่แทนนายกสมาคม

๒๘.๕ การดำรงตำแหน่งของกรรมการบริหารอาจสิ้นสุดลง ก่อนครบวาระ โดย
(๑) ตาย หรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถหรือคนสาบสูญ
(๒) ลาออก
(๓ ) ขาดคุณสมบัติ หรือคุณวุฒิ การเป็นสมาชิกสามัญของสมาคม
(๔) ถูกถอดถอนโดยมติของที่ประชุมใหญ่
(๕) ถูกถอดถอนโดยนายกสมาคม
(๖) นายกสมาคมสิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง

๒๘.๖ กรณีคณะกรรมการบริหารขาดจำนวนลงโดยสิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง ก่อนครบวาระ นายกสมาคมอาจแต่งตั้งสมาชิกสามัญเข้าดำรงตำแหน่งแทน และให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของคณะกรรมการบริหารชุดนั้น

๒๘.๗ กรรมาธิการ อนุกรรมการ คณะทำงาน และผู้แทนสมาคม
(๑) ให้นายกสมาคมแต่งตั้ง ยกเลิก ถอนถอน กรรมาธิการ อนุกรรมการ คณะทำงาน และผู้แทนสมาคม
(๒) กรรมาธิการ อนุกรรมการ คณะทำงาน และผู้แทนสมาคมรับผิดชอบการดำเนินงานตามที่นายกสมาคมหรือกรรมการบริหารมอบหมาย
(๓) การประชุมของกรรมาธิการ อนุกรรมการ คณะทำงาน และผู้แทนสมาคม อาจจัดประชุมเฉพาะประเภทหรือสาขา หรือร่วมกับกรรมการบริหารก็ได้ตามความจำเป็น โดยถือหลักเกณฑ์การประชุมของคณะกรรมการบริหาร เป็นหลักปฏิบัติในการประชุม
(๔) ให้กรรมาธิการ อนุกรรมการ คณะทำงาน และผู้แทนสมาคมอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระของนายกสมาคม

ข้อ ๒๙. คณะกรรมการกองทุน

๒๙.๑ คณะกรรมการกองทุน มีจำนวนเจ็ดคน โดยให้นายกสมาคมและเหรัญญิก เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการกองทุนอีกจำนวนห้าคน มาจากการเลือกตั้ง ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งฯ มาจากอดีตกรรมการบริหารของสมาคมหรือสมาชิกสามัญที่มีอดีตกรรมการบริหารสมาคมรับรองสองท่านต่อสมาชิกผู้สมัครรับเลือกตั้ง

๒๙.๒ ให้กรรมการกองทุนเลือกประธานและเลขานุการจากกรรมการกองทุนที่มาจากการเลือกตั้ง และแจ้งรายชื่อให้กับคณะกรรมการบริหารสมาคม ภายในกำหนดสามสิบวัน นับจากวันที่ได้รับเลือกตั้ง เพื่อให้นายกสมาคมแจ้งให้สมาชิกทราบ

๒๙.๓ คณะกรรมการกองทุนมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) บริหารและจัดการกองทุนสมาคม ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนสมาคม และกองทุนสวัสดิการสมาชิกสมาคม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสมาคม ต่อสมาชิก หรือต่อสังคมอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ
(๒) พิจารณาให้ข้อสังเกตต่อแผนการดำเนินงาน และงบประมาณประจำปีของคณะกรรมการบริหาร เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา
(๓) ในกรณีฉุกเฉินหรือมีเหตุอันจำเป็น คณะกรรมการกองทุนอาจพิจารณาจัดสรรเงินจากกองทุนสมาคมให้แก่คณะกรรมการบริหารได้
(๔) จัดให้มีมูลนิธิเพื่อสวัสดิการแก่สมาชิกของสมาคมและเจ้าหน้าที่สมาคม
(๕) กำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินการบริหารกองทุนสมาคม วิธีการดำเนินการบริหารกองทุนสวัสดิการสมาชิกสมาคม รวมทั้งกำหนด ระเบียบ หลักเกณฑ์การให้บริการสวัสดิการแก่สมาชิก
(๖) ในกรณีที่นายกสมาคมสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งก่อนครบวาระให้คณะกรรมการกองทุนแต่งตั้งนายกสมาคมรักษาการตามข้อบังคับสมาคมและดำเนินการเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่ โดยเป็นคณะกรรมการเลือกตั้งและกรรมการนับคะแนนเลือกตั้ง

๒๙.๔ การประชุมของคณะกรรมการกองทุน
(๑) คณะกรรมการกองทุน ต้องจัดให้มีการประชุมไม่น้อยกว่าปีละสี่ครั้ง และไม่น้อยกว่าไตรมาสละหนึ่งครั้ง
(๒) องค์ประชุมทุกครั้งต้องมีกรรมการกองทุนเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าห้าคน จึงจะครบองค์ประชุม การลงมติเห็นชอบจะต้องมีเสียงไม่น้อยกว่าสี่เสียง
(๓) ให้นับคะแนนในการลงมติเพียงหนึ่งเสียง สำหรับกรรมการหนึ่งท่าน

๒๙.๕ คณะกรรมการกองทุน อาจว่าจ้างที่ปรึกษาด้านการเงิน หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาในการบริหารและจัดการกองทุนสมาคมรวมทั้งกองทุนสวัสดิการสมาชิกสมาคมได้

๒๙.๖ คณะกรรมการกองทุนต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีทุกปี

๒๙.๗ การดำรงตำแหน่งของกรรมการกองทุนอาจสิ้นสุดลง ก่อนครบวาระ โดย
(๑) ตาย หรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถหรือคนสาบสูญ
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติ หรือคุณวุฒิ การเป็นสมาชิกสามัญของสมาคม
(๔) ถูกถอดถอนโดยมติจากการประชุมใหญ่

๒๙.๘ เมื่อการดำรงตำแหน่งของกรรมการกองทุนซึ่งมาจากการเลือกตั้ง สิ้นสุดลง ก่อนครบวาระให้กรรมการกองทุนที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ เชิญผู้ที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุนในสมัยเดียวกัน และมีคะแนนรองลงไปตามลำดับ ทำหน้าที่เป็นกรรมการกองทุนแทน

๒๙.๙ หากการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง ก่อนครบวาระ ของกรรมการกองทุน เป็นเหตุให้คณะกรรมการกองทุนจำเป็นต้องคัดเลือกประธานและเลขานุการใหม่ ให้กระทำได้ ตามข้อบังคับว่าด้วยการเลือกประธานกรรมการกองทุน

๒๙.๑๐ ให้กรรมการกองทุนที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่นายกสมาคมรักษาการ ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการกองทุนเช่นเดิม

 

ข้อ ๓๐. การเลือกตั้งนายกสมาคมหรือคณะกรรมการกองทุน
หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งนายกสมาคมหรือกรรมการกองทุน ให้เป็นไปตามข้อบังคับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่าด้วยการเลือกตั้งนายกสมาคมและกรรมการกองทุน พ.ศ. ๒๕๕๕

ข้อ ๓๑. วาระการทำงานของนายกสมาคม กรรมการบริหาร กรรมการกองทุน

๓๑.๑ นายกสมาคมและกรรมการบริหาร อยู่ในตำแหน่งได้วาระละสองปี และดำรงตำแหน่งเดิมต่อเนื่องได้ไม่เกินสามวาระติดต่อกัน
ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคม พร้อมทั้งผู้ที่จะทำหน้าที่เลขาธิการ และเหรัญญิกในคณะกรรมการบริหารสมัยถัดไป ต้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารกับคณะกรรมการบริหารชุดที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ อย่างน้อยสามครั้ง และต้องร่วมประชุมกับคณะกรรมการกองทุนอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ก่อนรับมอบงานบริหารจากคณะกรรมการบริหารชุดที่กำลังปฏิบัติหน้าที่
ให้อดีตนายกสมาคม อดีตเลขาธิการ และอดีตเหรัญญิกในคณะกรรมการบริหารชุดที่หมดวาระการทำงานลง เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารกับคณะกรรมการบริหารชุดถัดไป โดยไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร เพื่อให้คำปรึกษาในการบริหาร ภายในระยะเวลาอย่างน้อยเก้าสิบวัน นับจากวันที่นายกสมาคมคนถัดไปเข้ารับตำแหน่ง

๓๑.๒ กรรมการกองทุน อยู่ในตำแหน่งได้วาระละสองปี และดำรงตำแหน่งเดิมต่อเนื่องได้ไม่เกินสามวาระ ติดต่อกัน โดยให้มีระยะเวลางานตามวาระเหลื่อมกับวาระของคณะกรรมการบริหารสมาคมหนึ่งปี
ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการกองทุนสมัยถัดไปต้องเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการกองทุนชุดที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ก่อนรับมอบงานจากคณะกรรมการกองทุนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ อย่างน้อยหนึ่งครั้ง
การเข้ารับตำแหน่งกรรมการกองทุนให้นับหลังวันเข้าร่วมประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการกองทุนชุดเดิมหมดวาระการดำรงตำแหน่ง

๓๑.๓ ในกรณีที่สมาชิกของสมาคมเห็นว่าการดำเนินงานของนายกสมาคม หรือกรรมการบริหาร หรือกรรมการกองทุน ไม่เป็นที่พอใจและอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกหรือสมาคม ให้สมาชิกสามัญลงนามกันไม่น้อยกว่าสองร้อยคน เพื่อซักถามการดำเนินงานดังกล่าวได้โดยการเปิดประชุมใหญ่วิสามัญ
หากเป็นการลงมติเพื่อถอดถอนนายกสมาคม หรือกรรมการบริหาร หรือกรรมการกองทุน จะต้องมีสมาชิกสามัญเห็นชอบไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมและต้องไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสามัญที่ลงนามในเรื่องนั้น

๓๑.๔ ในกรณีที่คณะกรรมการบริหาร หรือคณะกรรมการกองทุนชุดใหม่ ยังมิได้รับมอบหมายการงานจากคณะกรรมการบริหาร หรือคณะกรรมการกองทุนชุดที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการบริหาร หรือคณะกรรมการกองทุนชุดที่กำลังปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบการบริหารงานต่อไปจนกว่าจะมอบหมายงานแล้วเสร็จ
ทั้งนี้จะต้องมอบหมายการงานให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวัน นับจากวันที่หมดวาระของคณะกรรมการบริหาร หรือคณะกรรมการกองทุนที่บริหารงานอยู่เดิม

ข้อ ๓๒. อำนาจในการดำเนินงานด้านการเงินของกรรมการบริหาร

๓๒.๑ อำนาจการสั่งจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการทำนิติกรรม
เงินงบประมาณประจำปีที่ได้เสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีแล้ว ให้กรรมการบริหารสามารถทำการสั่งจ่ายได้ดังนี้
(๑) ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท ให้เหรัญญิกเป็นผู้สั่งจ่าย
(๒) ครั้งหนึ่งไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้นายกสมาคมเป็นผู้สั่งจ่าย
(๓) ครั้งหนึ่งเกินกว่า ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเป็นผู้อนุมัติแล้วนายกสมาคมเป็นผู้สั่งจ่าย

๓๒.๒ ให้นายกสมาคมและเหรัญญิก เป็นผู้มีอำนาจในการลงนามร่วมกันในการสั่งจ่ายเช็คจ่ายเงินของสมาคม สำหรับเงินบริหารสมาคม

๓๒.๓ เงินบริหารสมาคมให้ฝากไว้ที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นๆ ที่เชื่อถือได้โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหาร

๓๒.๔ ในกรณีเป็นเงินสดย่อยสำหรับใช้จ่ายในกิจการของสมาคม ให้ผู้จัดการสมาคมเป็นผู้เก็บรักษาไว้ในความรับผิดชอบคราวละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท

๓๒.๕ ในกรณีเป็นเงินทดรองจ่าย ซึ่งเป็นไปตามวงเงินงบประมาณประจำปีที่ได้เสนอและได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่แล้ว ให้ผู้รับผิดชอบโครงการหรือผู้รับผิดชอบวงเงินงบประมาณดังกล่าว สามารถเบิกจ่ายได้ภายในวงเงินงบประมาณ และให้ทำการเบิกเงินทดรองจ่ายได้ โดยนายกสมาคมและเหรัญญิกเป็นผู้สั่งจ่าย
ให้ผู้รับผิดชอบวงเงินงบประมาณนั้น ทำบัญชีรายรับรายจ่าย ส่งให้กับเหรัญญิก เมื่อสิ้นสุดภารกิจ

๓๒.๖ ในกรณีที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากที่ประชุมใหญ่ ให้กรรมการบริหาร หรือคณะกรรมการบริหารตามแต่กรณีมีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินสำหรับการบริหารสำนักงานในแต่ละเดือนได้ไม่เกินค่าใช้จ่ายสูงสุดต่อเดือนที่ใช้ในการบริหารสำนักงานในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ให้มีอำนาจสั่งจ่ายในส่วนของรายจ่ายประจำที่จำเป็น

๓๒.๗ ให้นายกสมาคมร่วมกับเหรัญญิกและประธานกรรมการกองทุน เป็นผู้มีอำนาจร่วมกันทั้งสามคนในการสั่งจ่ายเช็คจ่ายเงิน กรณีจำเป็นต้องมีการสั่งจ่ายเงินจากเงินกองทุนสมาคม และเงินกองทุนสวัสดิการสมาชิก

๓๒.๘ ให้มีผู้ตรวจสอบบัญชีลงนามรับรองบัญชีงบดุลของสมาคม

๓๒.๙ คณะกรรมการบริหาร กำหนดระเบียบของสมาคมเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในกิจกรรมของสมาคม

ข้อ ๓๓. ให้คณะกรรมการบริหารว่าจ้างผู้จัดการสมาคม เพื่อบริหารสำนักงานและช่วยเหลือในการดำเนินงานของสมาคม

หมวดที่ ๗
เงินและทรัพย์สินของสมาคม

ข้อ ๓๔. เงินของสมาคมประกอบด้วย

๓๔.๑ เงินบริหารสมาคม
๓๔.๒ เงินกองทุนสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
๓๔.๓ เงินกองทุนสวัสดิการสมาชิก

ข้อ ๓๕. เงินบริหารสมาคม

๓๕.๑ เงินบริหารสมาคม หมายถึง เงินที่กรรมการบริหารใช้ในการบริหารสำนักงานและกิจกรรมของสมาคม ตามงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ และให้หมายรวมถึงเงินผลประโยชน์ที่ได้จากการบริหารและกิจกรรมของสมาคมด้วย

๓๕.๒ เงินสำรองการบริหาร หมายถึง เงินที่คณะกรรมการบริหารอาจสำรองไว้สำหรับการบริหารงานสมาคม ซึ่งต้องไม่เกินร้อยละสามสิบของเงินงบประมาณประจำปี
หากสำรองไว้เกินร้อยละสามสิบของเงินงบประมาณประจำปี นายกสมาคมจะต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อขออนุมัติ
ทั้งนี้ การสำรองนั้นต้องไม่เป็นผลให้เงินกองทุนสมาคมมีน้อยกว่าเงินบริหารสมาคม

๓๕.๓ ในแต่ละปีหากสมาคมมีรายได้จนทำให้เงินบริหารสมาคมมากกว่าเงินงบประมาณประจำปี และเงินสำรองการบริหารรวมกัน ให้คณะกรรมการบริหารโอนเงินส่วนเกินนั้นเข้าเงินกองทุนสมาคม หรือเงินกองทุนสวัสดิการสมาชิก โดยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน หลังจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง

๓๕.๔ งบประมาณสำหรับการดำเนินงานหรือบริหารสมาคม
(๑) ให้คณะกรรมการบริหารเสนอแผนดำเนินงานประจำปี พร้อมทั้ง งบประมาณ/แผนการเงิน เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ให้ความเห็นชอบ พร้อมเสนองบดุล และงบการเงินสมาคมให้ที่ประชุมใหญ่รับรอง
ทั้งนี้ ให้ส่งแผนดำเนินงานประจำปีงบประมาณ/ แผนการเงิน พร้อมทั้งงบดุล และงบการเงินให้คณะกรรมการกองทุนพิจารณาตั้งข้อสังเกตล่วงหน้าก่อนการประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และแจ้งให้สมาชิกพิจารณาล่วงหน้าก่อนการประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน
(๒) กรณีที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้วมีมติเห็นควรให้คณะกรรมการบริหารทบทวนแผนดำเนินงานประจำปี และงบประมาณ/แผนการเงินที่เสนอไว้ ให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาปรับปรุงและนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญภายในหกสิบวัน นับแต่ได้รับการทักท้วง ในการประชุมใหญ่ดังกล่าว
ถ้าที่ประชุมใหญ่มีความเห็นให้เพิ่มเติม หรือ ลด เลิก แผนงาน และงบประมาณ/แผนการเงินในเรื่องใดให้คณะกรรมการบริหารดำเนินการไปตามมติของที่ประชุมใหญ่
(๓) กรณีที่คณะกรรมการบริหารพิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องจัดทำโครงการหรือต้องใช้ค่าใช้จ่ายใดนอกเหนือจากงบประมาณ/แผนการเงินประจำปีที่ได้เสนอไว้แล้ว
คณะกรรมการบริหารอาจนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาอนุมัติได้ และถือมติที่ประชุมใหญ่เป็นที่สิ้นสุด

ข้อ ๓๖. ทรัพย์สินของสมาคม

๓๖.๑ ทรัพย์สินของสมาคม ให้อยู่ในความรับผิดชอบของเลขาธิการ

๓๖.๒ การจำหน่าย จัดหา หรือจัดการให้เกิดผลประโยชน์ ซึ่งทรัพย์สินของสมาคมที่เป็นสังหาริมทรัพย์ ให้เป็นมติเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร โดยคะแนนเสียงเห็นชอบต้องมีเกินกว่ากึ่งหนึ่ง

๓๖.๓ การจัดหา หรือจัดการให้เกิดผลประโยชน์ส่วนที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ (ถ้ามี) ต้องเป็นมติเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ โดยต้องมีคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองร้อยคน ขององค์มติ
ส่วนการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์จะต้องมีคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามขององค์ประชุม ซึ่งจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่าสองร้อยคน

ข้อ ๓๗. กองทุนสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

๓๗.๑ ให้สมาคมมีเงินกองทุน โดยใช้ชื่อว่า “เงินกองทุนสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์” เรียกโดยย่อว่า “เงินกองทุนสมาคม”

๓๗.๒ เงินกองทุนสมาคม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาคมมีเงินทุนในการดำเนินกิจการของสมาคมได้อย่างถาวรและต่อเนื่อง

๓๗.๓ เงินกองทุนสมาคม มีที่มาจาก
(๑) เงินผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินกองทุนสมาคม
(๒) เงินบริจาค
(๓) เงินที่ได้รับการจัดสรรจากคณะกรรมการบริหาร ตามที่กำหนดในข้อบังคับสมาคม

๓๗.๔ เงินกองทุนสมาคมให้อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการกองทุน โดยอาจฝากหรือลงทุนดังนี้
(๑) เงินฝากธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้
(๒) พันธบัตรรัฐบาล

ข้อ ๓๘ เงินกองทุนสวัสดิการสมาชิก

๓๘.๑ ให้สมาคมมีเงินกองทุน โดยใช้ชื่อว่า “เงินกองทุนสวัสดิการสมาชิก” มีเงินกองทุนไม่เกินกว่าร้อยละสามสิบของเงินกองทุนสมาคม

๓๘.๒ เงินกองทุนสวัสดิการสมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนด้านสวัสดิการต่างๆ ต่อสมาชิกของสมาคม ตามที่คณะกรรมการกองทุน และที่ประชุมใหญ่สามัญ หรือที่ประชุมใหญ่วิสามัญของสมาคมให้ความเห็นชอบ

๓๘.๓ เงินกองทุนสวัสดิการสมาชิก มีที่มาจาก
(๑) เงินผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินกองทุนสมาคม ที่โอนเข้ามาในเงินกองทุนสวัสดิการสมาชิก
(๒) เงินบริจาค ตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค
(๓) เงินที่ได้รับการจัดสรรจากคณะกรรมการบริหารหรือคณะกรรมการกองทุน ตามที่กำหนดในข้อบังคับสมาคม

๓๘.๔ เงินกองทุนสวัสดิการสมาชิกให้อยู่ในการจัดการของคณะกรรมการกองทุน โดยอาจฝากหรือลงทุนดังนี้
(๑) เงินฝากธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้
(๒) พันธบัตรรัฐบาล

ข้อ ๓๙ การตรวจสอบการบริหารของคณะกรรมการบริหารสมาคม

๓๙.๑ ในกรณีที่มีสมาชิกร้องเรียนเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารงานและการใช้จ่ายงบประมาณรวมทั้งการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสมาคม ให้สมาชิกสามัญ ไม่น้อยกว่าสองร้อยคน ลงชื่อร่วมกัน เพื่อให้นายกสมาคมเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อดำเนินการให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและคัดเลือกผู้ตรวจสอบการบริหารงานและการใช้จ่ายงบประมาณของคณะกรรมการบริหารในส่วนที่ร้องเรียนนั้น ภายในสามสิบวัน หลังจากได้รับเอกสารร้องเรียน
ทั้งนี้ คณะกรรมการสอบสวนที่จะแต่งตั้งและผู้ตรวจสอบที่คัดเลือก จะต้องมาจากสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าสามคน โดยให้เสนอชื่อต่อที่ประชุมใหญ่ และให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติรับรอง ทั้งนี้ ผู้ถูกเสนอชื่อจะต้องอยู่ในที่ประชุมใหญ่และให้การยอมรับด้วย

๓๙.๒ เมื่อมีการร้องเรียน นายกสมาคมและคณะกรรมการบริหารต้องยุติการดำเนินงานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการร้องเรียน ดังกล่าว

หมวดที่ ๘
การประชุมใหญ่

ข้อ ๔๐. การประชุมใหญ่สามัญ

๔๐.๑ ให้มีการประชุมใหญ่เพื่อเป็นการประชุมสมาชิกของสมาคมปีละหนึ่งครั้ง เรียกการประชุมครั้งนี้ว่า การประชุมใหญ่สามัญประจำปี

การประชุมใหญ่คราวอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว ให้เรียกว่า การประชุมใหญ่วิสามัญ และให้ระบุครั้งที่ตาม     ลำดับ เฉพาะปีนั้นๆ

ทั้งนี้ ให้แจ้งระเบียบวาระการประชุมให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน โดยนับถัดจากวันลงประกาศในสื่อมวลชน หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ วันที่ไปรษณีย์ได้รับเอกสาร

๔๐.๒ ระเบียบวาระการประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง เป็นดังนี้
(๑) คณะกรรมการกองทุนแถลงกิจการในรอบปี พร้อมทั้งอธิบายข้อสังเกตแผนการดำเนินงานประจำปี และแผนการเงินประจำปี ที่คณะกรรมการบริหารเสนอ
ในวาระที่มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการกองทุนชุดใหม่ ให้แนะนำคณะกรรมการกองทุนชุดใหม่ พร้อมทั้งแจ้งภารกิจสืบเนื่องที่คณะกรรมการกองทุนชุดใหม่จะต้องรับหน้าที่ปฏิบัติต่อไป
(๒) นายกสมาคมแถลงกิจการในรอบปี และภารกิจสืบเนื่องที่นายกสมาคมคนใหม่จะต้องรับหน้าที่ปฏิบัติต่อไป (ในวาระที่มีการเปลี่ยนนายกสมาคม)
(๓) เหรัญญิกเสนองบดุล ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีสมาคมรับรองแล้ว ให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา
(๔) นายกสมาคมแถลงนโยบาย และแนะนำ กรรมการบริหาร (ในวาระที่มีการเปลี่ยนนายกสมาคม)
(๕) นายกสมาคมนำเสนอแผนการดำเนินงานประจำปี และงบประมาณ/แผนการเงินประจำปี ให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา
(๖) เลือกตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี
(๗) สมาชิกแสดงความคิดเห็น
(๘) เรื่องอื่นๆ

ข้อ ๔๑. การประชุมใหญ่วิสามัญ
การประชุมใหญ่วิสามัญจะจัดขึ้นได้เมื่อคณะกรรมการบริหาร หรือคณะกรรมการกองทุนเห็นสมควร หรือสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าห้าสิบคน ลงนามร่วมกันร้องขอให้มีการพิจารณาเรื่องใดเป็นพิเศษ โดยคณะกรรมการบริหารจะต้องแจ้งระเบียบวาระการประชุมให้สมาชิกทราบล่วงหน้า
เว้นแต่การประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องการถอดถอนนายกสมาคม กรรมการบริหาร หรือกรรมการกองทุน ให้ดำเนินการตามข้อบังคับสมาคมที่กำหนดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

ข้อ ๔๒. องค์ประชุม ประธาน มติของการประชุมใหญ่

๔๒.๑ การประชุมใหญ่ทุกครั้งต้องกำหนดสถานที่ประชุมที่สะดวกต่อสมาชิกทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และต้องมีสมาชิกเข้าประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน จึงจะเป็นองค์ประชุมและดำเนินการประชุมได้

ถ้ามีสมาชิกเข้าประชุมไม่ครบองค์ประชุมและการประชุมใหญ่นั้นได้เรียกตามคำร้องขอของสมาชิก ก็ให้งดการประชุม   แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่ที่สมาชิกมิได้เป็นผู้ร้องขอ ให้คณะกรรมการของสมาคมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายในสิบสี่วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก การประชุมครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าจำต้องครบองค์ประชุม

๔๒.๒ ให้นายกสมาคมเป็นประธานของที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถดำเนินการได้ ให้อุปนายกเป็นประธานของที่ประชุม และเลขาธิการหรือกรรมการบริหารที่ได้รับมอบหมายจากประธานที่ประชุมเป็นผู้ดำเนินการประชุม

๔๒.๓ นอกจากจะได้บังคับไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมใหญ่ให้ถือเสียงข้างมากของสมาชิกสามัญเป็นเกณฑ์ หากคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

หมวดที่ ๙
การยกเลิก หรือแก้ไขข้อบังคับ

ข้อ ๔๓. การยกเลิก หรือแก้ไขข้อบังคับ เกี่ยวกับทรัพย์สินของสมาคมที่เป็นอสังหาริมทรัพย์จะกระทำได้ ต้องมีสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสามัญร่วมเป็นองค์ประชุม และจะต้องได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนเสียงทั้งหมดของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุม

ข้อ ๔๔. การยกเลิก หรือแก้ไขข้อบังคับจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนเสียงทั้งหมดของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ ให้นำเสนอเพื่อพิจารณาในวาระการประชุมใหญ่ ห้ามนำเสนอเป็นเรื่องอื่นๆ หรือเป็นวาระจร

 

หมวดที่ ๑๐
การเลิกสมาคม

ข้อ ๔๕. การเลิกสมาคม จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นมติเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งองค์ประชุมต้องเป็นสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด และห้ามบรรจุเป็นเรื่องอื่นๆ หรือวาระจร

ข้อ ๔๖. การชำระบัญชีเพื่อเลิกสมาคม ให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อชำระบัญชีเสร็จแล้วทรัพย์สินที่เหลือให้ตกเป็นสมบัติขององค์กรหรือสถาบันที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการสาธารณกุศลส่งเสริมวิชาชีพสถาปัตยกรรมในประเทศไทย ทั้งนี้แล้วแต่ที่ประชุมใหญ่จะเห็นสมควร

หมวดที่ ๑๑
บทเฉพาะกาล

ข้อ ๔๗. ให้สมาชิกภาคี และสมาชิกสามัญที่เป็นสมาชิกอยู่ก่อนข้อบังคับสมาคมฉบับนี้ประกาศใช้ คงสมาชิกภาพตามประเภทเดิมต่อไป แม้ว่าจะมีคุณสมบัติหรือคุณวุฒิไม่เป็นไปตามข้อบังคับสมาคมฉบับนี้

ข้อ ๔๘. ให้สมาชิกที่ได้ชำระค่าบำรุงสมาคมแบบตลอดชีพตามข้อบังคับสมาคมฉบับเดิม ไม่ต้องชำระค่าบำรุงสมาคมอีก ยกเว้นกรณีขาดจากสมาชิกภาพ และได้ขอกลับเข้าเป็นสมาชิกอีกในภายหลัง

ข้อ ๔๙. ให้คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการกองทุนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ข้อบังคับสมาคมฉบับนี้ประกาศใช้ เป็นคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการกองทุนตามข้อบังคับสมาคมฉบับนี้ต่อไป

ข้อ ๕๐. ให้คณะกรรมการเลือกตั้งที่ได้รับการแต่งตั้งก่อนข้อบังคับสมาคมฉบับนี้ประกาศใช้ และยังดำเนินการเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จ เป็นคณะกรรมการเลือกตั้งตามข้อบังคับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่าด้วยการเลือกตั้งนายกสมาคมและกรรมการกองทุน พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยอนุโลม และให้ดำเนินการเลือกตั้งตามกำหนดไว้ในข้อบังคับเดิม

ข้อ ๕๑. ให้คณะกรรมการบริหารดำเนินการเกี่ยวกับเงินของสมาคมเป็นไปตามข้อบังคับสมาคมที่ว่าด้วย “อำนาจในการดำเนินงานด้านการเงินของกรรมการบริหาร”ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ข้อบังคับสมาคมฉบับนี้ประกาศใช้

ข้อบังคับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่าด้วย การเลือกตั้งนายกสมาคม หรือคณะกรรมการกองทุน (พ.ศ. ๒๕๕๕)

ด้วยข้อบังคับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้กำหนดให้มีข้อบังคับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่าด้วย การเลือกตั้งนายกสมาคม หรือคณะกรรมการกองทุน พ.ศ. ๒๕๕๕ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกสมาคม การเลือกตั้งคณะกรรมการกองทุน

ข้อ  ๑.     ในข้อบังคับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่าด้วย การเลือกตั้งนายกสมาคม หรือคณะกรรมการกองทุน พ.ศ. ….. นี้

“สมาชิกผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง” หมายความว่า สมาชิกสามัญ ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งนายกสมาคม หรือคณะกรรมการกองทุน แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ต้องเป็นผู้ที่คงสถานภาพเป็นสมาชิกสามัญในวันที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนดจนถึงวันที่ลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้ง

“ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม” หมายความถึง สมาชิกสามัญ ที่คงสถานภาพเป็นสมาชิกสามัญในวันที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนดจนถึงวันที่ลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้ง โดยมีคุณสมบัติหรือคุณวุฒิตามข้อบังคับของสมาคมในการดำรงตำแหน่งเป็น นายกสมาคม และลงสมัครรับเลือกตั้ง

“ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุน” หมายความถึง อดีตกรรมการบริหารของสมาคมหรือ สมาชิกสามัญที่มีอดีตกรรมการบริหารของสมาคมรับรองสองท่าน ที่คงสถานภาพเป็นสมาชิกสามัญในวันที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนดจนถึงวันที่ลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้ง โดยมีคุณสมบัติหรือคุณวุฒิตามข้อบังคับของสมาคมในการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการกองทุน และลงสมัครรับเลือกตั้ง

“คณะกรรมการเลือกตั้ง” หมายความถึง สมาชิกสามัญที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้ง หรือการสรรหานายกสมาคม และกรรมการกองทุน แล้วแต่กรณี

ข้อ  ๒.      “คณะกรรมการเลือกตั้ง” ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกสิบเอ็ดคน รวมเป็นจำนวนสิบสอง คน ซึ่งคณะกรรมการบริหารชุดที่กำลังปฏิบัติหน้าที่คัดเลือกสมาชิกสามัญที่มิได้เป็นกรรมการบริหาร หรือกรรมการกองทุนชุดที่กำลังปฏิบัติหน้าที่จาก

(๑)      สมาชิกสามัญจาก อดีตกรรมาธิการสมาคมสามคน

(๒)      สมาชิกสามัญจากสถาบันการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมต่างๆ สามคน

(๓)      สมาชิกสามัญที่ทำงานภาคราชการ สามคน

(๔)      สมาชิกที่ทำงานภาคเอกชน สามคน

และให้นายกสมาคมแต่งตั้ง เป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจสำหรับการเลือกตั้งนายกสมาคม หรือคณะกรรมการกองทุน ตามแต่กรณี  เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการเลือกตั้ง”  มีผู้จัดการสมาคมเป็นเลขานุการ เพื่อดำเนินการเลือกตั้ง ตามแต่กรณี

ข้อ  ๓.    หน้าที่คณะกรรมการเลือกตั้ง

(๑)      ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้ง และลงคะแนนเลือกตั้ง รวมถึงกำกับการนับคะแนนเลือกตั้ง ตามข้อบังคับสมาคม

(๒)      ออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอัน รวมถึงการนับคะแนนเลือกตั้ง อันจำเป็นแก่การเลือกตั้งตามข้อบังคับสมาคม

(๓)      มีอำนาจสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริต

(๔)      รายงานผลการเลือกตั้ง เพื่อให้นายกสมาคมประกาศผลอย่างเป็นทางการ

ข้อ ๔.                 ขั้นตอนในการเลือกตั้งนายกสมาคม

(๑)     ให้คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศรับสมัคร  ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม อย่างน้อยสองร้อยเจ็ดสิบวัน  ก่อนนายกสมาคมที่กำลังปฏิบัติหน้าที่จะครบวาระ  และมีระยะเวลารับสมัครสามสิบวัน นับแต่วันประกาศรับสมัคร

(๒)     หากมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม ตั้งแต่ สองคนขึ้นไป  ให้คณะกรรมการเลือกตั้ง ดำเนินการเลือกตั้งโดยให้สมาชิกสามัญทำการลงคะแนนเลือกตั้งภายในเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันหมดระยะเวลารับสมัคร

(๓)     กรณีที่ผู้สมัครเป็นนายกสมาคมเพียงคนเดียว หรือไม่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม ให้คณะกรรมการเลือกตั้งดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม เพื่อให้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างน้อยสามคน โดยให้ดำเนินการสรรหาภายในเวลาไม่เกิน สามสิบวัน นับแต่วันหมดระยะเวลารับสมัคร และให้สมาชิกสามัญทำการลงคะแนนเลือกตั้งภายในเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันได้รับการสรรหา

(๔)    ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุด  เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม

(๕)    ในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมมีคะแนนเลือกตั้งสูงสุดเท่ากัน ให้คณะกรรมการเลือกตั้งดำเนินการเลือกตั้งใหม่ ภายในเวลาไม่เกินสี่สิบห้าวัน นับตั้งแต่วันนับคะแนนเลือกตั้งสิ้นสุดลง

(๖)    ในกรณีที่ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฯ ไม่อาจเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ  ไม่ว่าด้วยกรณีใด ให้คณะกรรมการเลือกตั้งดำเนินการเลือกตั้งใหม่ ภายในเวลาไม่เกิน สี่สิบห้าวัน นับตั้งแต่วันที่รับทราบ

(๗)    การเข้ารับดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ  ให้นับแต่วันประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง

 

ข้อ ๕              ขั้นตอนในการเลือกตั้งคณะกรรมการกองทุน

(๑)    ให้คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศรับสมัคร ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุนอย่างน้อยสองร้อยเจ็ดสิบวัน ก่อนที่คณะกรรมการกองทุนชุดที่กำลังปฏิบัติหน้าที่จะครบวาระ และมีระยะเวลารับสมัครสามสิบวัน นับแต่วันประกาศรับสมัคร

(๒)    หากมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ให้คณะกรรมการเลือกตั้ง ดำเนินการเลือกตั้งโดยให้สมาชิกสามัญทำการลงคะแนนเลือกตั้งภายในเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันหมดระยะเวลารับสมัคร

(๓)    กรณีมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุนน้อยกว่าห้าคน ให้คณะกรรมการเลือกตั้งดำเนินการสรรหาผู้ที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุนเพื่อให้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างน้อยเจ็ดคน โดยให้ดำเนินการสรรหาภายในเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันหมดระยะเวลารับสมัคร และให้สมาชิกสามัญทำการลงคะแนนเลือกตั้งภายในเวลาไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันได้รับการสรรหา

(๔)    ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งโดยมีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก  เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุน

(๕)    ในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุนมีคะแนนเลือกตั้งเท่ากัน จนมีผลให้ผู้มิสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการกองทุนเกินกว่าห้าท่าน ให้คณะกรรมการเลือกตั้งดำเนินการเลือกตั้งใหม่ เฉพาะผู้สมัครที่มีคะแนนเลือกตั้งเท่ากัน ภายในเวลาไม่เกินสี่สิบห้า วัน นับตั้งแต่วันนับคะแนนเลือกตั้งสิ้นสุดลง

(๖)    การเข้ารับดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกองทุน  ให้นับแต่วันประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง

ข้อ ๖.   การนับคะแนนเลือกตั้ง และสักขีพยาน

ในการเลือกตั้งนายกสมาคม หรือกรรมการกองทุน ตามแต่กรณี  ให้กรรมการบริหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ไม่น้อยกว่าสามคน เป็นกรรมการนับคะแนน  และให้มีสมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน  ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติงานในฐานะกรรมการบริหาร  กรรมการกองทุน กรรมาธิการ หรืออนุกรรมการ  ภายในกรรมการบริหารชุดที่กำลังปฏิบัติหน้าที่มาเป็นสักขีพยาน โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นกรรมการกำกับการนับคะแนนเลือกตั้ง

ข้อ ๗.   การประกาศผลการเลือกตั้งนายกสมาคม หรือคณะกรรมการกองทุน

ให้คณะกรรมกรรมการเลือกตั้งแจ้งผลการเลือกตั้งนายกสมาคม หรือกรรมการกองทุนให้นายกสมาคมทราบเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้นายกสมาคมดำเนินการเพื่อประกาศผลผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม หรือกรรมการกองทุน ไม่เกินสามวัน นับแต่การนับคะแนนเลือกตั้ง

ข้อ ๘.             การคัดค้านผลการเลือกตั้ง

ในกรณีที่มีผู้คัดค้านการเลือกตั้ง  ให้ผู้คัดค้านการเลือกตั้งพร้อมสมาชิกสามัญจำนวนร่วมกันไม่น้อยกว่าสามสิบคน  ทำหนังสือคัดค้านการเลือกตั้ง  ผลการเลือกตั้ง พร้อมหลักฐานอันควรเชื่อได้  ภายในเวลาไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง

(๑)    ให้คณะกรรมการเลือกตั้งวินิจฉัยเรื่องการคัดค้านการเลือกตั้งภายในเวลาสิบห้าวัน นับแต่วันรับหนังสือคัดค้านการเลือกตั้ง

(๒)             คำวินิจฉัยการคัดค้านการเลือกตั้งของคณะกรรมการเลือกตั้งถือเป็นที่สุด

(๓)      ในกรณีที่คณะกรรมการเลือกตั้งวินิจฉัยยกเลิกผลการเลือกตั้ง  ให้คณะกรรมการเลือกตั้งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการเลือกตั้งต่อไป  และดำเนินการเลือกตั้งใหม่ตามขั้นตอนของข้อบังคับฉบับนี้โดยอนุโลม