ประวัติสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
เมื่อปี พ.ศ. 2476 สถาปนิกซึ่งสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศจำนวนหนึ่งได้ร่วมปรึกษาหารือในการดำเนินการจัดตั้งสมาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยส่งเสริมวิชาชีพสถาปัตยกรรมให้เจริญเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปและเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในระหว่างสมาชิกด้วยกัน ดังนั้น ในวันที่ 18 เมษายน 2477 จึงมีการประชุมของสมาคมเป็นครั้งแรก ที่ประชุมใหญ่ได้เลือกผู้ริเริ่ม 7 ท่านเป็นกรรมการอำนวยการ ดังนี้
สมาคมสถาปนิกสยามในยุคแรก มีสมาชิกทั้งสิ้น 33 คน มีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรมศิลปากร คณะกรรมการในยุคแรกได้ร่วมกันร่างข้อบังคับและระเบียบการของสมาคม จัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อดำเนินงานประจำของสมาคม อาทิ ประเภทธนาการ ประเภทธุรการ กรรมการผังเมืองและผังประชาชาติ นอกจากนี้สมาคมได้ออกจดหมายเหตุสมาคม เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาชีพสถาปัตยกรรม ตลอดจนเป็นสื่อกลางระหว่างสมาคมกับมวลสมาชิกอีกด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ.2484 การดำเนินกิจการของสมาคม ต้องหยุดชะงักลงโดยปริยาย เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในภาวะสงครามกรณีพิพาทอินโดจีน วิกฤตการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 และประกอบกับการสิ้นชีพพิตักษัยของ ม.จ.อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ซึ่งทรงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการบริหารงานของสมาคม ด้วยเหตุนี้จึงมีผลให้สมาคมสถาปนิกสยามต้องหยุดกิจการชั่วระยะหนึ่ง
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในปี พ.ศ. 2488 สถาปนิกกลุ่มหนึ่งประกอบด้วย
- นายธนู พงษ์ไพฑูรย์
- นายแสวง เศรษฐบุตร
- นายเฉลิม รัตนทัศนีย
ได้พิจารณาเห็นควรที่จะมีการรื้อฟื้นสมาคมสถาปนิกสยามขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในปีถัดมาจึงมีการประชุมกันขึ้นและมีความเห็นร่วมกันว่าควรจะมีการฟื้นฟูกรรมการเพื่อทำหน้าที่วางโครงการและพิจารณาร่างระเบียบการของสมาคมฯ ขึ้นใหม่ โดยยังยึดถือนโยบายเก่าของสมาคมฯไว้อาทิ การคงชื่อเดิมของสมาคมฯไว้ โดยมิได้เปลี่ยนคำว่า “สยาม” เป็น “ไทย” ด้วยเหตุนี้ สมาคมสถาปนิกสยามจึงกลับฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง