พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

24 ก.พ. 2560

พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศ พระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์ให้การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักการ “คุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตรวจสอบได้” โดยจะใช้แทนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้าง หรือการบริหารพัสดุ ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ข้อบัญญัติ และข้อกำหนดใดๆ ของหน่วยงานของรัฐที่มีอยู่เดิม ซึ่งรวมถึง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐมีกรอบการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานกลางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการใช้งานเป็นสำคัญซึ่งจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงิน มีการวางแผนการดำเนินงานและมีการประเมินผลการปฏิบัติงานซึ่งจะทําให้การจัดซื้อจัดจ้างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีการส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ประกอบกับมาตรการอื่น ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชนและก่อให้เกิดผลดีกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป

คำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายความถึง ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ องค์การมหาชน องค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยธุรการของศาล มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หน่วยงานสังกัดรัฐสภาหรือในกำกับของรัฐสภา หน่วยงานอิสระของรัฐ และหน่วยงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในพระราชบัญญัตินี้ งานก่อสร้าง งานจ้างที่ปรึกษาและงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง เป็นส่วนหนึ่งของ “พัสดุ” ตามบทนิยามในพระราชบัญญัติฉบับนี้

พระราชบัญญัติกำหนดให้มีคณะกรรมการชุดต่างๆ ได้แก่
(1) คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือรัฐมนตรีช่วยฯที่รัฐมนตรีว่าการมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง 12 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5-7 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากสภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แห่งละหนึ่งคน และส่วนที่เหลือจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม การเงิน การคลัง การบริหารจัดการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน
(2) คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่งและผู้แทนหน่วยงานต่างๆ 9 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5-7 คน ซึ่งปลัดกระทรวงการคลังแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม การเงิน การคลัง การบริหารจัดการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน
(3) คณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่งและผู้แทนหน่วยงานต่างๆ 13 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7-11 คน ซึ่งปลัดกระทรวงการคลังแต่งตั้งจากสภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แห่งละหนึ่งคน และส่วนที่เหลือจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในด้านพัสดุหรือด้านอื่นๆ อันเป็นประโยชน์ต่องาน
(4) คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต หรือ คณะกรรมการ ค.ป.ท. มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่งและผู้แทนหน่วยงานต่างๆ 8 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5-7 คน ซึ่งปลัดกระทรวงการคลังแต่งตั้งจากองค์กรเอกชนที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านการทุจริตหรือส่งเสริมด้านคุณธรรมและจริยธรรม
(5) คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่งและผู้แทนหน่วยงานต่างๆ 9 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5-7 คน ซึ่งปลัดกระทรวงการคลังแต่งตั้งจากสภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แห่งละหนึ่งคน และส่วนที่เหลือจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม การเงิน การคลัง การบริหารจัดการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการชุดต่างๆ ดังกล่าว ให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี ดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ

ในหลักการที่จะให้เกิดความโปร่งใส่ พระราชบัญญัตินี้ได้กำหนด หมวด 2 การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริต เอาไว้ด้วย โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดของการจัดซื้อจัดจ้าง ในการดำเนินการนี้ คณะกรรมการ ค.ป.ท. ที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ อาจกำหนดให้มีการจัดทำ “ข้อตกลงคุณธรรมตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” ขึ้น ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ และผู้ประกอบการที่จะเข้ายื่นข้อเสนอ ว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และให้มีผู้สังเกตการณ์ที่เป็นกลางและไม่มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ที่จำเป็นต่อโครงการนั้นๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดของพัสดุที่จะทำการจัดซื้อจัดจ้างและร่างเอกสารเชิญชวนจนถึงขั้นตอนสิ้นสุดโครงการ

สำหรับเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ คณะกรรมการราคากลางมีอำนาจประกาศให้งานก่อสร้างในสาขาใด เป็นงานก่อสร้างที่ผู้ประกอบการงานก่อสร้างในสาขานั้นจะต้องขึ้นทะเบียนไว้กับกรมบัญชีกลาง จึงจะเข้าร่วมเป็นผู้ยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐได้ และจะกำหนดว่างานก่อสร้างในสาขาใดต้องใช้เงินงบประมาณในวงเงินเท่าใด หรือต้องใช้ผู้ประกอบวิชาชีพในสาขาใดด้วยก็ได้ นอกจากผู้ประกอบการงานก่อสร้างแล้ว หากเห็นสมควร คณะกรรมการราคากลางอาจประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบการพัสดุอื่นเป็นผู้ประกอบการที่จะต้องขึ้นทะเบียนด้วยก็ได้ ซึ่งในการขึ้นทะเบียนกรมบัญชีกลางจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกรายมีสิทธิขอขึ้นทะเบียนได้ตลอดเวลา และประกาศรายชื่อไว้ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง (มาตรา 51 ถึงมาตรา 53)

บทบัญญัติเกี่ยวกับงานจ้างที่ปรึกษา อยู่ใน หมวด 7 มาตรา 69 ถึงมาตรา 78 และบทบัญญัติเกี่ยวกับงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง อยู่ใน หมวด 8 มาตรา 79 ถึงมาตรา 92

ในส่วนของงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง ได้กำหนดให้อาจกระทำได้โดย 4 วิธี (มาตรา 79 ถึงมาตรา 83) ได้แก่ (1) วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป สำหรับงานที่มีลักษณะไม่ซับซ้อน (2) วิธีคัดเลือก โดยเชิญชวนผู้ให้บริการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไม่น้อยกว่า 3 รายให้เข้ายื่นข้อเสนอ แต่ก็มีข้อยกเว้นอาจน้อยกว่า 3 รายได้ในบางกรณี (3) วิธีเฉพาะเจาะจง โดยเลือกจ้างผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งซึ่งเคยทราบหรือเคยเห็นความสามารถแล้ว ตามที่คณะกรรมการดำเนินงานจ้างออกแบบฯได้พิจารณาเสนอแนะ ให้กระทำได้ในกรณีใช้ 2 วิธีแรกแล้วแต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอหรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก หรืองานที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ หรือเป็นงานที่ทำต่อจากงานที่ได้ทำไว้แล้วด้วยเหตุผลทางเทคนิค ฯลฯ และ (4) วิธีประกวดแบบ สำหรับงานที่มีลักษณะพิเศษ เป็นที่เชิดชูคุณค่าทางด้านศิลปกรรมหรือสถาปัตยกรรมของชาติ หรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

วิธีการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างทั้ง 4 วิธีนี้ รัฐมนตรีอาจออกระเบียบเพื่อกำหนดรายละเอียดอื่นเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ นอกจากนั้น การจัดซื้อจัดจ้างสำหรับงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลางก็ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

ในการจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง พระราชบัญญัติได้กำหนดไว้โดยชัดเจนว่า ผู้ให้บริการต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรม แล้วแต่กรณี ซึ่งผู้ให้บริการที่เป็นนิติบุคคล ต้องเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพนั้นๆ ด้วย (มาตรา 87) และในการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้บริการฯ ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาคัดเลือกผู้ให้บริการที่มีแนวคิดของงานจ้างทีได้คะแนนด้านคุณภาพมากที่สุด ส่วนอัตราค่าจ้างให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 90)

ยังมีรายละเอียดในหลายๆ เรื่อง ที่จะต้องรอให้มีการประกาศใช้บังคับกฎหมายลูก ได้แก่กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศต่างๆ ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ดำเนินการออกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ

Facebook
Twitter
LinkedIn