ยกเว้นกฎหมายควบคุมอาคารและผังเมือง ชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร

21 ก.พ. 2560

คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 9/2560 เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ โดยยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารและผังเมืองบางฉบับบางข้อ ให้ได้รับการยกเว้น ผ่อนผัน เสมือนโครงการที่รัฐจัดให้มีหรือพัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่สำหรับผู้มีรายได้น้อย และให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องทำ EIA

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออก “คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2560 เรื่อง การดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกลำน้ำสาธารณะ” สั่ง ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันเดียวกัน โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

คำสั่งฉบับนี้สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลมีนโยบายสําคัญเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ําลําน้ําสาธารณะ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 เห็นชอบการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ําลําน้ําสาธารณะ ประกอบกับข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2557 ให้กําหนดมาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ําแนวลําคลองและทางระบายน้ํา โดยมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของชุมชนตามแนวคลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร อันจะเป็นประโยชน์ในการสร้างระบบระบายน้ํา เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยรองรับให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

ในระยะเวลาที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และกรุงเทพมหานคร ได้เข้าดําเนินการสร้างความเข้าใจกับชุมชนตามแนวคลองดังกล่าวเพื่อจัดทําที่อยู่อาศัยในที่ดินราชพัสดุเฉพาะพื้นที่ภายในโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กและประตูระบายน้ํา โดยให้ชุมชนรวมกลุ่มกันในรูปแบบสหกรณ์ และกําหนดมาตรการทางสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โครงการได้ปฏิบัติร่วมกันเพื่อประโยชน์สาธารณะในการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง แก้ไขปัญหาการบริหารทรัพยากรน้ําของชาติ และป้องกันปัญหาอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้

ในการดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยดังกล่าว มีข้อจำกัดทางกฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองหลายอย่าง หัวหน้า คสช. จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีคำสั่งให้การก่อสร้างอาคารภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายคำสั่งซึ่งมีความกว้างรวมคลองประมาณระหว่าง 29-83 เมตร ให้ได้รับยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงและข้อบัญญัติควบคุมอาคาร และกฎกระทรวงผังเมืองรวม ดังนี้
– กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2517) ซึ่งว่าด้วยเรื่องประเภทอาคารที่ต้องมีที่จอดรถและจำนวนที่จอดรถ
– กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ซึ่งว่าด้วยลักษณะอาคาร ส่วนต่างๆ ของอาคาร ที่ว่างภายนอกอาคาร แนวอาคารและระยะต่างๆของอาคาร ให้ได้รับยกเว้นสำหรับอาคารอยู่อาศัย อาคารอยู่อาศัยรวม บ้านแถว และบ้านแฝด สำหรับอาคารประเภทอื่นให้ได้รับยกเว้นในเรื่องของที่ว่างโดยรอบอาคารและระยะร่นแนวอาคาร (ข้อ 34-36, 40-42, 44-46) อย่างไรก็ตาม อาคารจะต้องร่นแนวอาคารให้ห่างจากเขตแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 2 เมตร (จากปกติที่จะต้องร่นไม่น้อยกว่า 6 เมตร)
– ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ให้ได้รับยกเว้นในเรื่องเดียวกันกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 55
– ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 และผังเมืองรวมจังหวัดปทุมธานี พ.ศ. 2558

นอกจากนี้ ให้นำกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกําหนดเงื่อนไข ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารสําหรับอาคารในโครงการที่รัฐจัดให้มีหรือพัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่สําหรับผู้มีรายได้น้อย พ.ศ. 2554 มาใช้บังคับกับการก่อสร้างอาคารโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยดังกล่าว และยังให้การดําเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้รับยกเว้นการจัดทํารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งอย่างน้อยต้องมีมาตรการเคลื่อนย้ายชุมชนและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ต่อสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเริ่มดําเนินการก่อสร้าง และต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวและรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวต่อหน่วยงานอนุญาตและสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาตและสิ่งแวดล้อมปีละสองครั้ง

Facebook
Twitter
LinkedIn