ข้อบัญญัติท้องถิ่นเรื่องที่จอดรถยนต์ในจังหวัดภูเก็ตและนนทบุรี

ข้อบัญญัติท้องถิ่นเรื่องที่จอดรถยนต์ในจังหวัดภูเก็ตและนนทบุรี

13 ก.พ. 2561 (ปรับปรุง 5 มี.ค. 2561)

กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2517) เป็นกฎกระทรวงที่กำหนดเรื่องประเภทอาคารซึ่งต้องมีที่จอดรถยนต์ ที่กลับรถยนต์ และทางเข้าออกรถยนต์ และกำหนดจำนวนที่จอดรถยนต์ที่ต้องจัดให้มีตามกฎหมาย กฎกระทรวงฉบับนี้เป็นกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติฉบับเดิมก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบันก็ยังคงใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 นี้อยู่เนื่องจากยังไม่มีกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ออกมาใช้บังคับ นอกจากนั้น กฎกระทรวงฉบับนี้ยังมีการปรับปรุงแก้ไข โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 41 (พ.ศ. 2537) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 64 (พ.ศ. 2555) โดยเฉพาะการปรับปรุงแก้ไขตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 64 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับที่จอดรถยนต์สำหรับ”โรงแรม”

หลังจากที่มีการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว ตั้งแต่ประมาณกลางปี พ.ศ. 2558 ก็เริ่มมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งได้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเรื่องกำหนดจำนวนที่จอดรถยนต์ฯ โดยเป็นการออกตามมาตรา 10 (2) ซึ่งหมายถึงการกำหนดเรื่องที่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงที่ได้มีการออกกำหนดเรื่องนั้นแล้ว เนื่องจากมีความจำเป็นหรือมีเหตุผลพิเศษเฉพาะท้องถิ่น โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมอาคารและได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี

จนถึงปัจจุบันมีข้อบัญญัติท้องถิ่นในเรื่องและลักษณะดังกล่าวออกใช้บังคับแล้วจำนวน 10 ฉบับ เป็นเทศบัญญัติและข้อบัญญัติของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดนนทบุรี เรียงตามลำดับเวลาที่ออกใช้บังคับ ได้แก่

เทศบาลตำบลศรีสุนทร (อ.ถลาง จ.ภูเก็ต)
เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี (อ.ถลาง จ.ภูเก็ต)
เทศบาลตำบลเชิงทะเล (อ.ถลาง จ.ภูเก็ต)
เทศบาลเมืองบางกรวย (อ.บางกรวย จ.นนทบุรี)
เทศบาลนครปากเกร็ด (อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี)
เทศบาลนครนนทบุรี (อ.เมืองฯ จ.นนทบุรี)
เทศบาลตำบลไทรม้า (อ.เมืองฯ จ.นนทบุรี)
เทศบาลเมืองบางบัวทอง (อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี)
อบต.บางรักน้อย (อ.เมืองฯ จ.นนทบุรี)
เทศบาลตำบลเสาธงหิน (อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี)

ข้อบัญญัติท้องถิ่นเหล่านี้ มีข้อกำหนดในรายละเอียดที่แตกต่างกัน ซึ่งพอจะสรุปข้อกำหนดที่แตกต่างจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 64 แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 – เทศบัญญัติของเทศบาลตำบลศรีสุนทร เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี เทศบาลตำบลเชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กลุ่มนี้มีข้อกำหนดในส่วนที่แตกต่างจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 ได้แก่

1.1 โรงแรมที่มีห้องพักตั้งแต่ 30 ห้องขึ้นไป ต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์ 5 คันต่อห้องพัก 30 ห้องแรก ห้องพักที่เกิน 30 ห้องแต่ไม่เกิน 100 ห้อง ให้มีที่จอดรถยนต์เพิ่ม 1 คันต่อห้องพัก 10 ห้อง ห้องพักที่เกิน 100 ห้อง ให้มีที่จอดรถยนต์เพิ่ม 1 คันต่อห้องพัก 15 ห้อง (กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 ไม่กำหนดให้ต้องมีที่จอดรถสำหรับห้องพักของโรงแรม)
1.2 พื้นที่ห้องโถงของโรงแรมที่มีห้องพักตั้งแต่ 30 ห้องขึ้นไป ต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์ (กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 กำหนดสำหรับห้องโถงขนาด 300 ตร.ม. ขึ้นไป)
1.3 พื้นที่พาณิชยกรรมในโรงแรม ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์ (กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 กำหนดสำหรับพื้นที่พาณิชยกรรมในโรงแรมที่มีพื้นที่ 300 ตร.ม. ขึ้นไป)
1.4 อาคารชุด ต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์ (กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 กำหนดเฉพาะสำหรับอาคารชุดที่มีพื้นที่แต่ละครอบครัวตั้งแต่ 60 ตร.ม. ขึ้นไป)
1.5 อาคารอยู่อาศัยรวม ต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์ 1 คันต่อ 240 ตร.ม. (กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 ไม่มีข้อกำหนดสำหรับอาคารอยู่อาศัยรวม แต่อาจใช้หลักเกณฑ์ของอาคารชุดโดยอนุโลม)
1.6 อาคารขนาดใหญ่ ต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์ 1 คันต่อ 120 ตร.ม. (กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 กำหนด 1 คันต่อ 240 ตร.ม.) และต้องจัดให้มีที่จอดรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 10 ของพื้นที่ของที่จอดรถยนต์ (กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีที่จอดรถจักรยานยนต์)

กลุ่มที่ 2 – เทศบัญญัติของเทศบาลเมืองบางกรวย อ.บางกรวย เทศบาลนครปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด เทศบาลเมืองบางบัวทอง อ.บางบัวทอง เทศบาลตำบลไทรม้า และเทศบาล อบต.บางรักน้อย อ.เมืองฯ เทศบาลตำบลเสาธงหิน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี กลุ่มนี้มีข้อกำหนดในส่วนที่แตกต่างจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 ได้แก่

2.1 อาคารชุด ต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์ สำหรับพื้นที่แต่ละห้องชุดที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 60 ตร.ม. ขึ้นไป 1 คันต่อ 1 ห้องชุด และสำหรับพื้นที่แต่ละห้องชุดที่น้อยกว่า 60 ตร.ม. 1 คันต่อ 120 ตร.ม. (กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 กำหนดเฉพาะสำหรับอาคารชุดที่มีพื้นที่แต่ละครอบครัวตั้งแต่ 60 ตร.ม. ขึ้นไป 1 คันต่อ 2 ห้องชุด)
2.2 อาคารอยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 300 ตร.ม. ต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์ 1 คันต่อ 240 ตร.ม. (กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 ไม่มีข้อกำหนดสำหรับอาคารอยู่อาศัยรวม แต่อาจใช้หลักเกณฑ์ของอาคารชุดโดยอนุโลม)
2.3 อาคารขนาดใหญ่ ต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์ 1 คันต่อ 120 ตร.ม. (กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 กำหนด 1 คันต่อ 240 ตร.ม.)
2.4 ไม่ได้กำหนดจำนวนที่จอดรถยนต์โดยเฉพาะสำหรับอาคารขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นตึกแถวสูงไม่เกินสี่ชั้น เข้าใจว่าให้ใช้เกณฑ์ของอาคารขนาดใหญ่โดยทั่วไปตาม 2.3 (กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 กำหนดให้ต้องมีที่จอดรถยนต์ 1 คันต่อ 2 ห้อง)

กลุ่มที่ 3 – เฉพาะเทศบาลเมืองบางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี มีข้อกำหนดในส่วนที่แตกต่างจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 เช่นเดียวกับกลุ่มที่ 2 ตามเกณฑ์ข้อ 2.1 ถึง 2.3 ข้างต้น แต่มีข้อกำหนดที่แตกต่างเพิ่มเติม ดังนี้

3.1 พื้นที่ห้องโถงของโรงแรมที่มีพื้นที่ 300 ตร.ม. ขึ้นไป ต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์ 1 คันต่อพื้นที่ห้องโถง 15 ตร.ม. (กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 กำหนด 1 คันต่อพื้นที่ห้องโถง 30 ตร.ม.) และอาคารขนาดใหญ่ ต้องจัดให้มีที่จอดรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 10 ของพื้นที่ของที่จอดรถยนต์ (กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีที่จอดรถจักรยานยนต์)
3.2 อาคารขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นตึกแถวสูงไม่เกินสี่ชั้น ต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์ 1 คันต่อ 1 ห้อง (กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 กำหนดให้ต้องมีที่จอดรถยนต์ 1 คันต่อ 2 ห้อง)

กลุ่มที่ 4 – เฉพาะเทศบัญญัติของเทศบาลนครนนทบุรี มีข้อกำหนดในส่วนที่แตกต่างจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 เช่นเดียวกับกลุ่มที่ 1 ตามเกณฑ์ข้อ 1.1 ถึง 1.3 ข้างต้น และกลุ่มที่ 2 ตามเกณฑ์ข้อ 2.1 ถึง 2.4 ข้างต้น

ข้อบัญญัติท้องถิ่นทั้งเหล่านี้เป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกมาใช้บังคับแล้วในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดนนทบุรี และในอนาคตอาจมีข้อบัญญัติในเรื่องและลักษณะนี้ออกมาใช้บังคับในท้องถิ่นอื่นเพิ่มเติมอีกในสองจังหวัดนี้และในจังหวัดอื่นๆ ก็เป็นได้ ซึ่งคงต้องติดตามดูต่อไป

Facebook
Twitter
LinkedIn