กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์

กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์
29 มิ.ย. 2561

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออก “ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2561” เพื่อใช้แทนฉบับเดิม พ.ศ. 2553 ที่กำลังจะหมดอายุลง ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้มีอายุใช้บังคับ 5 ปี ตั้งแต่ 30 มิ.ย. 2561 ถึง 29 มิ.ย. 2566 มีเนื้อหาที่ได้ปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมในรายละเอียดบางอย่างจากฉบับเดิม พอสรุปเฉพาะในส่วนที่ที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร ดังนี้

สำหรับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารโรงงาน นอกจากโรงงานจำพวกที่ 1 และโรงงานจำพวกที่ 2, 3 ตามบัญชีท้ายประกาศฯ ที่ยกเว้นให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารได้แล้ว ยังเพิ่มข้อยกเว้นสำหรับโรงงานจำพวกที่ 1, 2 และ 3 ที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับเกลือ ในพื้นที่บริเวณที่ 2 และบริเวณที่ 3 ด้วย

โรงงานตามที่กำหนดยกเว้นนั้น จะต้องมีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เพื่อควบคุมมลพิษหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดด้วย

สำหรับอาคารประเภทอื่น ได้เพิ่มห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร เป็นอาคารเลี้ยงนกแอ่นกินรัง ในบริเวณที่ 1 ถึง 5

ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใดๆ ในบริเวณที่มีความลาดชันเกินร้อยละ 35 ซึ่งเดิมไม่ได้กำหนด

หลักเกณฑ์สำหรับพื้นที่ในบริเวณที่ 4 และ 5 ที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเล 50 ถึง 200 เมตร เดิมให้ทำได้เฉพาะอาคารที่สูงไม่เกิน 12 เมตรและมีพื้นที่รวมไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร หรืออาคารของทางราชการเพื่อสาธารณประโยชน์ ในประกาศฯฉบับใหม่นี้ ตัดอาคารของทางราชการเพื่อสาธารณประโยชน์ออกไป ซึ่งหมายความว่า อาคารของทางราชการก็จะต้องมีความสูงและพื้นที่รวมตามหลักเกณฑ์เช่นเดียวกัน

หลักเกณฑ์สำหรับพื้นที่บริเวณที่ 1 ถึง 5 การก่อสร้างโดยรอบเขตที่ดินของโบราณสถาน ในระยะ 100 เมตร ต้องมีความสูงไม่เกิน 6 เมตร ในประกาศฯฉบับนี้ยังคงเดิมและได้เพิ่มข้อความ “และต้องไม่มีลักษณะบดบังทัศนียภาพ”

โครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น มีการปรับเปลี่ยน เช่น
– โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด แก้จาก จำนวนห้องพัก 10-79 ห้อง หรือมีพื้นที่ใช้สอยทุกอาคารรวมกัน 500-4,000 ตารางเมตร เป็น 30-79 ห้อง หรือ 1,500-4,000 ตารางเมตร
– กิจการที่นำบ้านพักอาศัยไปให้บริการเป็นสถานที่พักในลักษณะโรงแรม แก้จาก จำนวนห้องพัก 10-79 ห้อง เป็น 30-79 ห้อง
– โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ที่มีเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืน แก้จาก 10-29 เตียง เป็น 10-59 เตียง
– การจัดสรรที่ดิน แก้จาก ไม่ถึง 250 แปลง เป็นตั้งแต่ 100 แปลงแต่ไม่ถึง 500 แปลง หรือมีเนื้อที่ 19-100 ไร่
– ท่าเทียบเรือสาธารณะ จากเดิม ต่ำกว่า 60 ตันกรอส เป็น ตั้งแต่ 100 ตารางเมตรแต่ไม่ถึง 1,000 ตารางเมตร และท่าเทียบเรือสำราญกีฬา จากเดิม ไม่ถึง 50 ลำ เป็น ตั้งแต่ 5 ลำแต่ไม่ถึง 50 ลำ หรือมีพื้นที่ตั้้งแต่ 100 ตารางเมตร แต่ไม่ถึง 1,000 ตารางเมตร

สำหรับโครงการที่ต้องจัดทำ “รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” (ประกาศฯฉบับนี้เริ่มใช้ชื่อรายงานใหม่นี้ แทนคำว่า “รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” ที่เคยใช้อยู่เดิม เนื่องจากการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อไม่นานมานี้) ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ได้ตัดรายการที่เป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานฯตามปกติอยู่แล้วออกไป คงเหลือโครงการที่นอกเหนือจากที่ต้องจัดทำรายงานฯอยู่แล้ว ได้แก่ (ก) โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม หรืออาคารชุด ที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่เกิน 50 เมตร (ข) กิจการที่นำบ้านพักอาศัย ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว ไปให้บริการเป็นสถานที่พักในลักษณะโรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป และ (ค) สถานที่ที่ใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีปริมาณในการกำจัดเกิน 50 ตันต่อวัน

(เพิ่มเติมข้อความ 19 ก.ค. 2561)

มีจุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือ ข้อ 16 ของประกาศกระทรวงฯ กำหนดว่า “การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารเป็นโรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม หรืออาคารชุด ที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลเกินกว่า 50 เมตร และมีจํานวนห้องพักตั้งแต่ 10 ถึง 29 ห้อง ต้องดําเนินการตามข้อกําหนดท้ายประกาศนี้”

ข้อกำหนดท้ายประกาศดังกล่าว นอกจากจะได้กำหนดเกี่ยวกับมาตรการระหว่างการก่อสร้างแล้ว ยังมีมาตรการที่จะต้องดำเนินการก่อนการก่อสร้างด้วย ดังนี้
(ก) พิจารณาออกแบบให้มีอัตราส่วนของพื้นที่สีเขียวร้อยละ 50 ของแปลงที่ดิน สำหรับการก่อสร้างใหม่ในพื้นที่ใหม่ที่ยังไม่เคยมีการใช้ประโยชน์ และร้อยละ 30 ของแปลงที่ดินสำหรับการก่อสร้างใหม่ในพื้นที่เดิมที่เคยมีการใช้ประโยชน์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550เรื่อง แผนปฏิบัติการเชิงนโยบายด้านการจัดการพื้นที่สีเขียวชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน
(ข) พิจารณาออกแบบและวางผังอาคารให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบริเวณพื้นที่และโดยรอบ โดยต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนบริเวณใกล้เคียง

มาตรการก่อนการก่อสร้างดังกล่าวจึงมีผลต่อการออกแบบอาคารโรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม และอาคารชุด อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนการที่มาปรากฏเป็นข้อกำหนดท้ายประกาศแทนที่จะไปกำหนดอยู่ในตัวประกาศ และการที่ใช้คำว่า “พิจารณาออกแบบ(และวางผัง)ให้…” แทนการบังคับด้วยคำว่า “ต้อง…” จะมีนัยยะในเชิงบังคับที่เข้มน้อยกว่าปกติหรือไม่คงต้องหาคำตอบกันต่อไป

ดาวน์โหลดประกาศกระทรวง
ดาวน์โหลด แก้คำผิด ประกาศกระทรวง

Facebook
Twitter
LinkedIn