ยกเว้นกฎหมายให้วิศวกร-สถาปนิกจีนในโครงการรถไฟความเร็วสูง

ยกเว้นกฎหมายให้วิศวกร-สถาปนิกจีนในโครงการรถไฟความเร็วสูง

15 มิ.ย. 2560

หัวหน้า คสช. ออก “คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา” ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2560 อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดให้บุคลากรของรัฐวิสาหกิจที่เข้ามาดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ทั้งบุคคลและนิติบุคคล ได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 ของพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543

ในคำสั่งคสช.ดังกล่าว ได้ให้เหตุผลในเรื่องความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบคมนาคมให้ก้าวหน้า ทันสมัย และสอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งทางราง ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่การดำเนินการยังมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ซึ่งมีผลกระทบต่อการขับเคลื่อนโครงการและกรอบระยะเวลาการดำเนินการ โดยเฉพาะที่เป็นข้อจำกัดตามกฎหมาย นอกจากนั้น เนื่องจากโครงการนี้เป็นการดำเนินการในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งโดยสภาพของข้อเท็จจริงย่อมจำเป็นต้องยกเว้นการปฏิบัติตามกฎระเบียบบางเรื่อง ในขณะที่จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบรัดกุม โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และสามารถเร่งรัดการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จได้โดยเร็ว จึงจำเป็นต้องกำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์วิธีการไว้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ รวมทั้งเป็นการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ที่ต้องการปฏิรูประบบคมนาคมของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ ยกระดับศักยภาพการแข่งขัน และลดความเหลื่อมล้ำตามยุทธศาสตร์ของประเทศ

โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ จะเป็นการให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำสัญญาจ้างรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนที่มีประสบการณ์ตรงด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เพื่อดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ประกอบด้วย (1) งานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา (2) งานที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา และ (3) งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร

คำสั่ง คสช. ฉบับนี้ได้กำหนดในวรรคสองของข้อ 2 ว่า “รัฐวิสาหกิจตามวรรคหนึ่งและบุคลากรของรัฐวิสาหกิจนั้นทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หากต้องดําเนินการในลักษณะของการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรม ให้ได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 และมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้กระทรวงคมนาคมประสานให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดให้มีหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่บุคลากรดังกล่าวตามความเหมาะสม”

สำหรับมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติทั้งสองเป็นมาตราที่กำหนดห้ามประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกรหรือสภาสถาปนิก มาตรา 47 กำหนดห้ามมิให้แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม เว้นแต่จะเป็นผู้ได้รับวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพสาขานั้น ๆ หรือผู้ได้รับใบอนุญาต และมาตรา 49 เป็นมาตราที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตทั้งประเภทบุคคลและนิติบุคคล

นอกจากเรื่องข้างต้นแล้ว คำสั่ง คสช. ฉบับนี้ยังลดข้อจำกัดด้านกฎหมายในเรื่องอื่นๆ เช่น การกำหนดมูลค่าโครงการ ค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง การจัดทำร่างสัญญาจ้างและเงื่อนไขอื่นในการทำสัญญาจ้าง ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยใช้ผลการเจรจาต่อรอง รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และผลการประชุมของคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน มาเป็นกรอบในการพิจารณา และให้วงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติถือเป็นราคากลางตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ในการดำเนินการโครงการและการทำสัญญาจ้าง ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบหลายฉบับ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดหาผู้ประกอบการและการเสนอราคา) กฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจ้าง พ.ศ. 2544 ระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2544 รวมทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. เอง คือ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2560 เรื่อง การกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560

***** ปรับปรุง 21/6/2560

ในส่วนของสภาวิศวกรและสภาสถาปนิก หลังจากที่ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 30/2560 สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกก็ได้ออก “แถลงการณ์ร่วม” เกี่ยวกับกรณีนี้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 โดยได้ชี้แจง มีเนื้อหาดังนี้

1. สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกได้มีความพยายามอย่างที่สุดในการแสดงหลักการและจุดยืนเพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายวิศวกรและกฎหมายสถาปนิก โดยการกำหนดให้วิศวกรและสถาปนิกจีนที่ประสงค์จะเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในโครงการดังกล่าวดำเนินการยื่นขอรับใบอนุญาตฯระดับภาคีวิศวกรพิเศษและระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ โดยสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะเร่งรัด ช่วยเหลือ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกในเรื่องของระยะเวลาการยื่นคำขอฯ เพื่อมิให้เกิดปัญหาและอุปสรรคของความล่าช้าในการเริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว ทั้งนี้ โดยมิได้ย่อหย่อนต่อมาตรฐานการทดสอบความรู้ความชำนาญ

2. คำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งย่อมมีผลผูกพันต่อสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งดังกล่าว

3. สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะร่วมกันผลักดันให้เกิดความร่วมมือในโครงการดังกล่าวเพื่อให้วิศวกรและสถาปนิกไทยได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นรูปธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาวิชาชีพภายในประเทศ

4. สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะเร่งจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่วิศวกรและสถาปนิกจีนที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ตามความเหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของโครงการดังกล่าว

นอกจากนี้ สภาสถาปนิกยังได้จัดทำ “คำชี้แจง เรื่อง โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงระหว่างไทย-จีน” เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สมาชิกสภาสถาปนิก ซึ่งในส่วนของการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบแก่สถาปนิกจีนนั้น ได้ระบุว่ามีขอบเขต เช่น สภาพแวดล้อมการปฏิบัติวิชาชีพในประเทศ ศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมไทย ฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรมและการใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไทย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายผังเมือง กฎหมายอาคาร และกฎหมายอื่นๆ จรรยาบรรณวิชาชีพ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ

Facebook
Twitter
LinkedIn