พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม กระบี่ และพังงา

31 มี.ค. 2559

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกประกาศกระทรวงสองฉบับ กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่ต่างๆ ในจังหวัดกระบี่ และจังหวัดพังงา ได้แก่
(1) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2559
(2) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอทับปุด อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา พ.ศ. 2559
ประกาศสองฉบับนี้ให้มีระยะเวลาบังคับใช้ห้าปีนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ คือตั้งแต่ 1 เม.ย. 2559 จนถึง 31 มี.ค 2564

พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่จังหวัดกระบี่

สำหรับพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่จังหวัดกระบี่ มีการจำแนกพื้นที่ออกเป็น 5 บริเวณ ได้แก่ บริเวณที่ 1 เขตอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน, บริเวณที่ 2 เขตสงวนและคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้, บริเวณที่ 3 เขตน่านน้ำเพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางทะเล ประมงและชายฝั่ง, บริเวณที่ 4 เขตการจัดการชายฝั่งทะเลและเกาะ, บริเวณที่ 5 พื้นที่นอกเหนือจากบริเวณที่ 1 ถึง 4 ยกเว้นพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองกระบี่

ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร, ห้ามกระทำการหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, กำหนดประเภทอาคารหรือการประกอบกิจการที่ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้, กำหนดการกระทำหรือการประกอบกิจกรรมที่ห้าม, หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ติดตั้งป้าย, การก่อสร้างโดยรอบเขตโบราณสถาน และกำหนดให้การก่อสร้างอาคาร หรือดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการบางประเภท ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

หลักเกณฑ์และข้อกำหนดบางอย่างที่น่าสนใจ ได้แก่
– ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 30 เมตร หรือมีความลาดชันไม่เกินร้อยละ 35
– ในระยะ 20 เมตรต่อมา ให้ทำได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 7 เมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของที่ดินแปลงที่ขออนุญาต
– ในระยะ 150 เมตรต่อมา ให้ทำได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของที่ดินแปลงที่ขออนุญาต
– ในระยะต่อมาจนสุดแนวเขตพื้นที่ที่ให้ใช้มาตรการ ให้ทำได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 16 เมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของที่ดินแปลงที่ขออนุญาต
– ในระยะ 500 เมตรทั้งสองฟากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถ.เพชรเกษม) ให้ทำได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 23 เมตร และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของที่ดินแปลงที่ขออนุญาต
– พื้นที่ว่าง ต้องมีพื้นที่สีเขียวที่เป็นไม้ยืนต้นและเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่างนั้น
– พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกิน 40 เมตร ให้ทำได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร สำหรับอาคารทรงจั่วไม่เกิน 9 เมตร โดยความสูงถึงยอดผนังของชั้นสูงสุดต้องไม่เกิน 6 เมตร และมีไม้ยืนต้นปกคลุมดินไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของที่ดินแปลงที่ขออนุญาต
– พื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 35 ให้ทำได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร และให้ปรับระดับตามแนวนอนต่อแนวดิ่งในอัตราส่วนไม่เกิน 2:1 ส่วน และห้ามปรับระดับโดยการขุดดินหรือถมดิน ลึกหรือสูงเกิน 1 เมตร และมิให้เคลื่อนย้ายหรือทำลายหินดาน
– สำหรับในพื้นที่เกาะพีพีดอนและเกาะลันตาใหญ่ จะมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างออกไป (ดูข้อ 4(6) ของประกาศ)
– การติดตั้งป้ายต้องได้รับอนุญาต โดยพื้นที่ที่จะติดตั้งป้ายต้องมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่เกิน 40 เมตร หรือมีความลาดชันไม่เกินร้อยละ 35 ต้องไม่บดบังทัศนวิสัยหรือทัศนียภาพ และต้องมีระยะห่างจากที่สาธารณะในแนวราบบนพื้นดินและในอากาศไม่น้อยกว่า 2 เท่าของความสูงของป้ายในแนวดิ่ง
– การก่อสร้างอาคารโดยรอบเขตโบราณสถานในระยะ 100 เมตร ต้องมีความสูงไม่เกิน 6 เมตร และต้องไม่มีลักษณะบดบังทัศนียภาพ

พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่จังหวัดพังงา

สำหรับพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่จังหวัดพังงา จำแนกพื้นที่ออกเป็น 6 บริเวณ ได้แก่ บริเวณที่ 1 เขตอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน, บริเวณที่ 2 เขตสงวนและคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้, บริเวณที่ 3 เขตน่านน้ำเพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางทะเล ประมงและชายฝั่ง, บริเวณที่ 4 เขตคุ้มครองแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล, บริเวณที่ 5 เขตการจัดการชายฝั่งทะเลและเกาะ, บริเวณที่ 6 พืว้นที่นอกเหนือจากบริเวณที่ 1 ถึง 5

ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ได้กำหนด ห้ามกระทำการหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, กำหนดประเภทอาคารหรือการประกอบกิจการที่ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้, กำหนดการกระทำหรือการประกอบกิจกรรมที่ห้าม, หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ติดตั้งป้าย, การก่อสร้างโดยรอบเขตโบราณสถาน และกำหนดให้การก่อสร้างอาคาร หรือดำเนินโครงการหรือประกอบกิจการบางประเภท ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในประกาศสำหรับจังหวัดพังงา ไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การก่อสร้างดัดแปลงอาคารไว้ แต่ก็มีข้อกำหนดบางอย่างที่น่าสนใจ เช่น
– ในบริเวณที่ 5 ในพื้นที่อำเภอเกาะยาว ห้ามก่อสร้างและประกอบกิจการโรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศ อาคารอยู่อาศัยรวม และอาคารชุด ที่มีจำนวนห้องมากกว่า 30 ห้อง
– ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ยกเว้นบริเวณที่ 6 ห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารเป็นกิจการที่นำบ้านพักอาศัยไปใช้ประโยชน์เพื่อให้บริการที่พักเป็นการชั่วคราวในลักษณะที่ไม่เข้าข่ายโรงแรม และมีจำนวนห้องพักรวมทั้งหมดตั้งแต่ 30 ห้องขึ้นไป
– การก่อสร้างอาคารโดยรอบเขตโบราณสถานในระยะ 100 เมตร ต้องมีความสูงไม่เกิน 6 เมตร และต้องไม่มีลักษณะบดบังทัศนียภาพ

ดาวน์โหลด

ประกาศกระทรวงฯ จังหวัดกระบี่

ประกาศกระทรวงฯ จังหวัดพังงา

Facebook
Twitter
LinkedIn