กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เกาะต่างๆ ในอำเภอเกาะสมุยและอำเภอ เกาะพะงัน

30 พ.ค. 2557

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออก “ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณท้องที่ตำบลตลิ่งงาม ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ต ตำบลแม่น้ำ ตำบลหน้าเมือง ตำบลอ่างทอง ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย และตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2557” ครอบคลุมพื้นที่น่านน้ำทะเลและเกาะต่างๆ ในเขตอำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงัน

พื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม จำแนกออกเป็นบริเวณต่างๆ ได้แก่
บริเวณที่ 1 – พื้นที่น่านน้ำทะเลภายในเส้นล้อมรอบที่กำหนด ซึ่งอยู่โดยรอบเกาะสมุยและเกาะพะงัน
บริเวณที่ 2 – พื้นที่บนแผ่นดินของเกาะสมุย เกาะแตน และเกาะพะงัน ยกเว้นบริเวณที่ 3
บริเวณที่ 3 (1) – พื้นที่เกาะสมุยและเกาะพะงัน ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 80 เมตร ถึง 140 เมตร
บริเวณที่ 3 (2) – พื้นที่เกาะสมุยและเกาะพะงัน ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เกินกว่า 140 เมตรขึ้นไป
บริเวณที่ 3 (3) – พื้นที่เกาะแตน (อ.เกาะพะงัน) ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เกิน กว่า 80 เมตรขึ้นไป
บริเวณที่ 4 – พื้นที่บนแผ่นดินของเกาะมัดหลัง เกาะฟาน เกาะวังใน เกาะวังนอก เกาะมัดสุม (อ.เกาะสมุย)
บริเวณที่ 5 – พื้นที่บนแผ่นดินของเกาะมัดแดง เกาะมัดโกง เกาะหัวตะเข้ เกาะดิน เกาะแม่ทับ เกาะแมลงป่อง เกาะฟานใหญ่ เกาะส้ม เกาะลุมหมูน้อย เกาะแหลมรายใน เกาะแหลมรายนอก (อ.เกาะสมุย) เกาะกงเกลี้ยง เกาะม้า เกาะกงธารเสด็จ เกาะแตนอก เกาะแตใน (อ.เกาะพะงัน)
บริเวณที่ 6 – พื้นที่บนแผ่นดินของเกาะราใหญ่ เกาะหลัก เกาะทะลุ เกาะเจดมูล เกาะพึง เกาะกงออก เกาะนาเทียน เกาะฟานน้อย เกาะราหิน เกาะราเทียน (อ.เกาะสมุย) เกาะกงทรายแดง เกาะกง เกาะกงนุ้ย เกาะกงริ้น (อ.เกาะพะงัน) และเกาะอื่น ๆ ที่อยู่ภายในน่านน้ำบริเวณที่ 1 ยกเว้นที่ปรากฏในบริเวณที่ 4 ถึงบริเวณที่ 7
บริเวณที่ 7 (1) – พื้นที่บนแผ่นดินของเกาะเต่า เกาะนางยวน และเกาะหางเต่า
บริเวณที่ 7 (2) – พื้นที่น่านน้ำทะเลภายในเส้นล้อมรอบที่กำหนด ซึ่งอยู่โดยรอบเกาะเต่า เกาะนางยวน และเกาะหางเต่า

สำหรับบริเวณที่ 2 จนถึงบริเวณที่ 7 (1) ซึ่งเป็นพื้นที่บนแผ่นดินนับจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดิน ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไว้ ห้ามกระทำการหรือประกอบกิจการ เช่น การทำเหมืองแร่ การถมปรับพื้นที่หรือปิดกั้นซึ่งทำให้แหล่งน้ำสาธารณะในแผ่นดินตื้นเขิน เปลี่ยนทิศทางหรือทำให้น้ำในแหล่งน้ำนั้นไม่อาจไหลไปได้ตามปกติ การกระทำใดๆ ที่เป็นการเปลี่ยนสภาพธรรมชาติของพื้นที่พรุและพื้นที่ป่าชายเลน การกระทำหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพของหาดไปจากเดิม การปล่อยทิ้งมลพิษลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ การขุด ตัก กรวด ดิน ดินลูกรัง หรือทราย ในพื้นที่ที่ลาดชันเกินกว่าร้อยละ 35 การบุกรุก แผ้วถาง หรือก่อสร้างใดๆ ในบริเวณพื้นที่ป่า การสร้างสนามบินพาณิชย์ การทำสนามกอล์ฟ เป็นต้น

ในพื้นที่เหล่านี้ ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร หรือดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบริเวณ เช่น

บริเวณที่ 2 – โรงแรมและอาคารอยู่อาศัยรวม ต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่างตามที่กฎหมายควบคุมอาคารหรือกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองกำหนดไว้ โดยมีไม้ยืน ต้นท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก

บริเวณที่ 3 – อนุญาตเฉพาะอาคารอยู่อาศัยที่เป็นอาคารเดี่ยว มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร ขนาดแปลงที่ดินไม่น้อยกว่า 100 ตารางวา มีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่าง โดยมีไม้ยืนต้นท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก จัดให้มีการหน่วงน้ำหรือท่อที่สามารถลดอัตราการระบายน้ำออกสู่สาธารณะ ลักษณะหลังคาลาดชันตามแบบสถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมเมืองร้อนชื้น หรือสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น โดยมีพื้นที่หลังคาไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่อาคาร และมีสีกลมกลืนธรรมชาติ สำหรับบริเวณที่ 3 (1) และ (3) ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ส่วนบริเวณที่ 3 (2) ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และต้องมีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลัง สูงสุดไม่เกิน 90 ตารางเมตรด้วย

บริเวณที่ 4 – อาคารหรือสิ่งก่อสร้างใดๆ ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 10 เมตร ความสูงไม่เกิน 6 เมตร พื้นที่อาคารรวมกันไม่เกิน 75 ตารางเมตร ที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่าง โดยมีไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ท้องถิ่น เป็นองค์ประกอบหลัก และมีลักษณะหลังคาเช่นเดียวกับหลักเกณฑ์ในบริเวณที่ 3 สำหรับ โรงแรม ในแต่ละโครงการให้สร้างได้ไม่เกิน 50 ห้อง

บริเวณที่ 5 และบริเวณที่ 6 – ห้ามอาคารทุกชนิด ทุกประเภท สำหรับบริเวณที่ 5 เว้นแต่เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือของราชการ และบริเวณที่ 6 ยกเว้นเพื่อประโยชน์หรือความปลอดภัย ในการเดินเรือ

บริเวณที่ 7 (1) – กำหนดหลักเกณฑ์ควบคุมสำหรับพื้นที่เกาะเต่า เกาะนางยวน และเกาะหางเต่า

นอกจากนี้ ยังกำหนดห้ามก่อสร้างดัดแปลงอาคารใดๆ บนพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 50 ในบริเวณที่ 2 บริเวณที่ 4 และบริเวณที่ 7 (1) ฯลฯ

สำหรับการก่อสร้างอาคาร การดำเนินการโครงการหรือประกอบกิจการ บางประเภท จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นด้วย ได้แก่ โรงแรมหรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลเกินกว่า 50 เมตรและมีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 10 ห้องถึง 79 ห้อง หรือมีพื้นที่ใช้สอยของทุกอาคารรวมกันตั้งแต่ 500 ตารางเมตร แต่ไม่ถึง 4,000 ตารางเมตร โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยค้างคืนตั้งแต่ 10 เตียง ถึง 29 เตียง การจัดสรรที่ดินที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อยไม่ถึง 500 แปลงหรือไม่เกิน 100 ไร่ เป็นต้น

ส่วนโครงการหรือกิจการที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากโครงการหรือกิจการที่จะต้องจัดทำอยู่แล้วตามประกาศกระทรวงฯฉบับอื่น ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมนี้ยังได้กำหนดให้ทำสำหรับโครงการหรือกิจการเหล่านี้ด้วยคือ โรงแรมหรืออาคารอยู่อาศัยรวมหรือสถานที่พักตากอากาศที่อยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่เกิน 50 เมตร ฯลฯ

ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฉบับนี้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2557 มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2562

ดาวน์โหลด

 

Facebook
Twitter
LinkedIn