ปรับหลักเกณฑ์แต่งตั้งคชก.ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ปรับหลักเกณฑ์แต่งตั้งคชก.ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

6 ก.ค. 2554

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ออก ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 41 (พ.ศ. 2554) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2554 เพื่อใช้แทนประกาศฯฉบับเดิม คือ ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2553)

เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันได้กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 7 ฉบับ บนพื้นที่ชายฝั่งทะเล 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งข้อกำหนดที่เป็นมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมรวมถึงการให้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับอาคารบางประเภทและขนาดด้วย

ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในจังหวัดที่มีการประกาศกำหนดพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จากเดิมซึ่งมีเพียงคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯชุดเดียวในแต่ละจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ เปลี่ยนเป็นคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯสองประเภท คือ

(1) คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ สำหรับโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือโครงการร่วมกับเอกชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี มีผู้ว่าราชการจังหวัดของจังหวัดนั้นๆ เป็นประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดของจังหวัดนั้นๆ เป็นฝ่ายเลขานุการ ส่วนกรรมการอื่นมี เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนายอนุญาตตามกฎหมายสำหรับโครงการหรือกิจการ(หรือผู้แทน) และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 9 คนซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งโดยการเสนอแนะของประธานกรรมการ

(2) คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ สำหรับโครงการหรือกิจการของเอกชน ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการตามกฎหมายก่อนเริ่มการก่อสร้างหรือดำเนินการ ชุดนี้จะมีผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคของจังหวัดนั้นๆ เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการอื่นเช่นเดียวกับประเภทแรก คือ มีผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดของจังหวัดนั้นๆ เป็นฝ่ายเลขานุการ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนายอนุญาตตามกฎหมายสำหรับโครงการหรือกิจการ และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 9 คน

ในการแก้ไขหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯครั้งนี้ ไม่ได้กำหนดกรรมการโดยตำแหน่งที่เป็น หัวหน้าส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจประจำจังหวัด ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ตั้งโครงการ และผู้แทนองค์กรเอกชนซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 2 ท่าน เอาไว้ด้วย แต่ได้เพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเดิมจำนวนไม่เกิน 4 คน เป็นจำนวนไม่เกิน 9 คน

 

Facebook
Twitter
LinkedIn