จัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครอง

จัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครอง

4 ก.ค. 2554

ศาลปกครองสูงสุดได้ออกประกาศสองฉบับ ได้แก่ “ประกาศประธานศาลปกครองสูงสุด เรื่อง การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองชั้นต้น” และ “ประกาศประธานศาลปกครองสูงสุด เรื่อง การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองสูงสุด” ประกาศทั้งสองฉบับลงวันที่ 29 มิ.ย. 2554 ให้จัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองชั้นต้นและในศาลปกครองสูงสุด เพื่อทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาและดำเนินการทั้งปวงในคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมภายในเขตอำนาจของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด โดยให้มีตุลาการหัวหน้าแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองชั้นต้นและในศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบงานของแผนก

แผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองชั้นต้นและในศาลปกครองสูงสุดนี้จะเริ่มดำเนินการเมื่อใดให้เป็นไปตามประกาศของประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต้องไม่เกินกว่า 30 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 4 ส.ค. 2554

ในขณะเดียวกัน ได้มีการออก “คำแนะนำของประธานศาลปกครองสูงสุดในการดำเนินคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม” ด้วย ซึ่งมีเนื้อหาโดยสังเขปในบางประเด็น ดังนี้

โดยที่ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของสาธารณชนและการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม สมควรให้การดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นไปโดยรวดเร็วทันต่อการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ สังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งต่อการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่คู่กรณีอย่างมีประสิทธิภาพ ประธานศาลปกครองสูงสุดจึงออกคำแนะนำนี้

ในประเด็นเกี่ยวกับความสมบูรณ์ครบถ้วนของคำฟ้อง หากพอที่จะเข้าใจได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับหรืออาจจะได้รับผลจากการกระทำดังกล่าวในลักษณะใดลักษณะหนึ่งโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ก็ถือได้ว่าเพียงพอที่จะพิจารณาและดำเนินการต่อไปได้แล้ว

ในประเด็นการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี ให้พิจารณาให้ครอบคลุมถึงประเด็นความเสียหายต่างๆ ได้แก่ ค่าเสียหายทางด้านสุขภาพอนามัย ค่าเสียหายทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ค่าเสียหายทางด้านวิถีชีวิตของชุมชนในสังคม (เช่นความสุญเสียเอกลักษณ์ของชุมชน ความสูญเสียทางวัฒนธรรม)

หากคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะในปัจจุบัน หรืออาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะในอนาคต ศาลพึงพิจารณากำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยไม่ต้องรอให้ผู้ฟ้องคดีร้องขอ และในกรณีที่ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวดังกล่าว หน่วยงานปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ศาลกำหนด หากมีการฝ่าฝืนคำสั่งศาล ให้ศาลดำเนินการตามที่เห็นสมควรเพื่อให้คำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาบรรลุผล

ในการกำหนดคำบังคับในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ควรพิจารณาว่าต้องกำหนดให้มีผลย้อนหลังหรือมีผลไปในอนาคตหรือไม่ โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ในการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากผลแห่งคำพิพากษาด้วย

นอกจากนั้น คำแนะนำยังมีมาตรการและคำกำชับเพื่อให้ศาลลดและเร่งรัดขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาและงานธุรการคดีเพื่อให้คดีแล้วเสร็จโดยเร็ว เช่น หลังจากผู้ถูกฟ้องยื่นคำให้การต่อศาลแล้ว หากข้อเท็จจริงที่ได้จากคู่กรณีและที่ศาลแสวงหามาเพียงพอที่จะพิจารณาพิพากษาได้แล้ว ก็ให้ศาลส่งสำเนาคำให้การพร้อมทั้งพยานหลักฐานให้แก่ผู้ฟ้องคดีทราบ พร้อมทั้งสรุปข้อเท็จจริงและความเห็นเพื่อเตรียมจัดทำบันทึกของตุลาการเจ้าของสำนวนเสนอต่อองค์คณะเพื่อพิจารณาต่อไป

Facebook
Twitter
LinkedIn