ฟัน 1,172 ตึกเบี้ยวตรวจสอบ!

ฟัน 1,172 ตึกเบี้ยวตรวจสอบ!

1 ก.พ. 2554
ที่มาจาก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 3-5 ก.พ. 2554

 

กทม. เชือด 1,172 อาคารสูง-อาคารใหญ่-อาคารใหญ่พิเศษ ลงโทษปรับ 6 หมื่นบาท รายวันอีกวันละหมื่น คุก 3 เดือน หลังเจ้าของเพิกเฉยไร้วี่แววส่งรายงานผลการตรวจสอบความปลอดภัยให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นรับรอง เผยกฎหมายบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2550 ส่วนอาคารตั้งแต่ 5,000-ไม่เกิน 10,000 ตร.ม.กว่า 2,000 อาคาร เริ่มทยอยส่งรายงานหลังมีคำสั่งตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2553 ส่วนปีหน้าถึงคิวตึก 2,000 ตร.ม.

จากกรณีที่กรมโยธาธิการและผังเมืองบังคับใช้ กฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบ พ.ศ. 2548 ออกตามความในพระราชบัญญติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และมีผลบังคับใช้จริงปี 2550 เพื่อตรวจสอบอาคาร 9 ประเภททั่วประเทศ ประกอบด้วย 1. ป้ายขนาดตั้งแต่ 25 ตารางเมตร 2.อาคารขนาด 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป 3.อาคารสูง 23 เมตรขึ้นไป 4.โรงงานอุตสาหกรรมเกิน 5,000 ตารางเมตร เกิน 1 ชั้น 5.สถานบริการเกิน 200 ตารางเมตร 6.อาคารชุมนุมคนตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป 7.โรงมหรสพ 8.โรงแรม 80 ห้องขึ้นไป และ 9. อาคารพักอาศัยรวม โดยอาคารเหล่านี้จะต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมือง

ทั้งนี้อาคารที่อยู่ในข่ายระยะแรกตั้งแต่ปี 2550 กำหนดให้ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องจัดให้มีผู้ชำนาญการตรวจสอบสภาพและโครงสร้างอาคาร ให้มีความปลอดภัยและมั่นคงแข็งแรง ให้กับท้องถิ่นรับทราบในทุก 1 ปีและตรวจสอบใหญ่ทุก 5 ปี ส่วนระยะที่สอง อาคารขนาดตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไปแต่ไม่ถึง 10,000 ตารางเมตร กำหนดส่งรายงานการตรวจสอบอาคารตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป และหากฝ่าฝืน ถูกจำคุก 3 ปี ปรับครั้งละ 60,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละ 10,000 บาทจนกว่าจะดำเนินการนั้น

ล่าสุดแหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังมีอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาทิ อาคารสำนักงาน อาคารชุดพักอาศัย โรงแรม ฯลฯ ละเลยการตรวจสอบอาคาร ทั่วกทม.จำนวน 1,172 อาคาร จากจำนวนกว่า 5,000 อาคาร ในจำนวนกว่า 1,000 อาคารที่ยังค้างการตรวจสอบ ส่วนใหญ่จะเป็นอาคารชุดพักอาศัย ขณะที่กทม. ได้ส่งหนังสือเวียนแจ้งเตือนต่อเจ้าของอาคารไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังเพิกเฉย แม้จะมีบทลงโทษที่รุนแรง เช่น หากเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามจะถูกจำคุกเป็นเวลานาน 3 เดือน โทษปรับ 60,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะมีการจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารตามที่กฎหมายกำหนด ที่ผ่านมา เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ใช้มาตรการที่เข้มข้นในทันทีเพราะถือว่าเป็นกฎหมายใหม่ แต่ขณะนี้เวลาผ่านไปนานและมีการแจ้งเตือนไปแล้วหลายครั้ง ส่งผลให้ต่อไปนี้ หากมีการออกคำสั่งให้อาคารที่อยู่ในข่ายต้องส่งรายงานผลการตรวจสอบอาคาร แล้วยังหลบเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม กทม.จะใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาดโดยนำบทลงโทษดังกล่าวมาบังคับใช้ทันที

ขณะเดียวกัน กทม. ยังเปิดให้อาคารขนาดตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นอาคารล็อตที่สองที่อยู่ในข่ายจะต้องตรวจสอบอาคารและส่งผลรายงานต่อ กทม. เริ่มตั้งแต่ วันที่ 24 ตุลาคม 2553 เป็นต้นมาซึ่งพบว่าอาคารขนาด 5,000-ไม่เกิน 10,000 ตารางเมตรในเขตกทม.มีจำนวนกว่า 2,000 อาคาร ได้ทยอยยื่นรายงานผลการตรวจสอบเข้ามาเกือบ 1,000 ราย

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในปี 2555 กทม.จะเรียกอาคารขนาด 2,000 ตารางเมตรแต่ไม่เกิน 5,000 ตารางเมตรตรวจสอบและรายงานผลการตรวจสอบความปลอดภัยและความมั่นคงแข็งแรงในอนาคต ซึ่งประเมินว่า มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 อาคาร โดยเฉพาะหอพัก อพาร์ตเมนต์ และอาคารชุดขนาดเล็ก รวมถึงอาคารสำนักงาน ซึ่งยอมรับว่า เจ้าของอาคารจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น และผลักภาระให้กับผู้เช่าพื้นที่หรือผู้ซื้อ แต่ในทางกลับกันมองว่า หากเจ้าของอาคารปฏิบัติตามกฎหมายจะช่วยคุ้มครองความปลอดภัยอาคารตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัย ซึ่งจะคุ้มค่ากว่า

นอกจากนี้ กทม.เตรียมทำหนังสือถึงกรมโยธาธิการและผังเมืองขอแนวทางปฏิบัติ เกี่ยวกับรายละเอียดขั้นตอนว่าเจ้าของโครงการและบริษัทผู้ชำนาญการจะต้องเตรียมอะไรบ้าง และต้องมีหลักฐานอะไรบ้างมาแสดงต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมาหลายโครงการ เอกสารไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแบบอาคารสูญหาย ชื่อตามสำเนาทะเบียนบ้าน ฯลฯ

Facebook
Twitter
LinkedIn