โยธารื้อผังเมืองกรุงเทพ แจกโบนัสพื้นที่รถไฟฟ้า

โยธารื้อผังเมืองกรุงเทพ แจกโบนัสพื้นที่รถไฟฟ้า

22 ม.ค. 54

 

กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งทำผังใหม่ทั่วประเทศ ปรับกรุงเทพฯ เป็น “คอมแพค ซิตี้” เน้นใช้พื้นที่ชั้นใน ลดส่งเสริมชั้นนอก กำหนดเขตไม่เกินถนนวงแหวน หลังพบมีที่ว่างอีกมาก ให้โบนัสพิเศษอสังหาฯ รอบๆ แนวรถไฟฟ้า พร้อมยก 3 พื้นที่เสี่ยงภัย หาดใหญ่ ลพบุรี โคราช เป็นเขตพิเศษต้นแบบลดปัญหาน้ำท่วม

นายปรีชา รณรงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวในงานสัมมนา “ทิศทางของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2011” ถึงนโยบายด้านการจัดวางผังเมืองของประเทศว่า ยังคงยึดแนวนโยบายในการจัดวางผังประเทศ ผังภาค และผัง กทม. ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มีการวางผังเมืองโดยเฉพาะให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่กรมโยธาฯ จะต้องเร่งดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ในส่วนของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปี พ.ศ.2549 จะหมดอายุในเดือนพ.ค.2554  แต่ช่วงที่รอฉบับใหม่อยู่นี้จะขยายเวลาการใช้ไปอีก 1 ปี จนถึงปี 2555

ทั้งนี้สำหรับผังเมืองฉบับใหม่ กทม.จะเป็นผู้จัดทำ โดยขณะนี้มีมติออกมาแล้วว่าจะมีการปรับปรุงให้สอดรับกับการเปลี่ยนไปของประโยชน์การใช้พื้นที่ แม้ส่วนใหญ่จะยึดในรายละเอียดของผังเมืองฉบับเดิม แต่จะมีการเพิ่มเติมในรายละเอียดบางส่วน เพื่อให้เมืองมีลักษณะกระชับภายใต้แนวคิดเรียกว่า “คอมแพค ซิตี้”โดยจะมีการกำหนดให้เมืองชั้นในมีความหนาแน่นมากขึ้น ลดการส่งเสริมพื้นที่ชั้นนอกลง ซึ่งสวนทางกับฉบับเดิมที่เน้นพื้นที่ชั้นนอกมากกว่า

“กรอบแนวคิดการจัดวางผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับใหม่นี้ ต้องการกระชับเมืองให้มีการพัฒนาได้ไม่เกินแนวเส้นวงแหวนรอบนอก เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ได้เต็มที่ เพราะพบว่าพื้นที่ดังกล่าวยังมีที่ดินว่างเปล่าเหลืออยู่มาก” นายปรีชากล่าวและว่า สำหรับพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณใกล้ระบบขนส่งมวลชนหรือโครงข่ายรถไฟฟ้าในรัศมีไม่เกิน 500 เมตร นั้นจะมีการให้โบนัสพิเศษ เช่น สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้น สร้างเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรือหนาแน่นมากได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามแนวคิด คอมแพค ซิตี้ หรือเมืองกระชับ ยังไม่ได้สรุปรายละเอียดในเรื่องการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การอนุรักษ์ การกำหนดความเข้มงวด เพื่อการรองรับสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อให้สอดรับและสอดคล้องกับที่ตั้งรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นต้น

นอกจากจะมีการจัดทำผังเมืองรวมระดับจังหวัด 76 จังหวัดแล้ว ยังมีผังชุมชนที่สามารถทำได้ในระดับท้องถิ่น เช่น อบต.สามารถผลักดันการพัฒนาพื้นที่ของตนเองได้ ทั้งนี้ผังเมืองรวมนั้นส่วนใหญ่มีความคืบหน้าแล้วกว่า 50%

“ผังจังหวัดภูเก็ตน่าจะมีการประกาศออกมาเป็นฉบับแรกภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาเมืองที่ขณะนี้พบว่าภูเก็ตมีการเติบโตค่อนข้างสูงมาก อีกทั้งจะมีการลงทุนศูนย์ประชุม นิทรรศการนานาชาติที่มีการอนุมัติงบลงทุนไปแล้วหลายพันล้านบาท”

นายปรีชา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่น้ำท่วม เป็นโมเดลพิเศษ คือ หาดใหญ่ จ.สงขลา จ.ลพบุรี และ จ.นครราชสีมา โดยกำหนดเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการใช้ผังเมืองบรรเทาอุทกภัย อย่างไรก็ตามภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้องมองเรื่องผังเมืองมากเป็นพิเศษ เช่น มีการห้ามก่อสร้าง การเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่กักเก็บน้ำ จัดทำระบบแก้มลิง

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

Facebook
Twitter
LinkedIn