กฎกระทรวงบริเวณห้ามก่อสร้าง ปากน้ำปราณ สามร้อยยอด จ.ประจวบฯ

กฎกระทรวงบริเวณห้ามก่อสร้าง ปากน้ำปราณ สามร้อยยอด จ.ประจวบฯ

19 มี.ค. 2553

กระทรวงมหาดไทยออก “กฎกระทรวง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในพื้นที่บางส่วนในท้องที่ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรีและตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2553” เพื่อใช้บังคับแทนประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ควบคุมในบริเวณดังกล่าวซึ่งหมดอายุลง

 

กฎกระทรวงฉบับนี้มีการกำหนดบริเวณและข้อกำหนดต่างๆ เช่นเดียวกับประกาศกระทรวงมหาดไทยที่หมดอายุ คือ ได้กำหนดพื้นที่ 4 บริเวณ มีข้อกำหนดห้ามก่อสร้างอาคารชนิด/ประเภทต่างๆ ในแต่ละบริเวณ ที่สำคัญๆ ได้แก่
“บริเวณที่ 1” คือพื้นที่ในระยะ 100 เมตรวัดจากเขตพระราชฐานโครงการพระราชดำริสวนป่าหาดทรายใหญ่
“บริเวณที่ 2” คือพื้นที่ในระยะ 50 เมตรวัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดิน ตลอดแนวชายฝั่งทะเลของตำบลปากน้ำปราณและตำบลสามร้อยยอด
“บริเวณที่ 3” คือพื้นที่ในระยะ 150 เมตรวัดจากบริเวณที่ 2 เข้าไป
“บริเวณที่ 4” คือพื้นที่ในระยะ 500 เมตรวัดจากบริเวณที่ 3 เข้าไป

 

อาคารที่ก่อสร้างใน “บริเวณที่ 1” และ “บริเวณที่ 2” ต้องห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 20 เมตร, มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร, พื้นที่ไม่เกิน 75 ตร.ม., ระยะห่างจากอาคารอื่นไม่น้อยกว่า 4 เมตร และห่างจากเขตที่ดินผู้อื่นไม่น้อยกว่า 2 เมตร, มีที่ว่างโดยรอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 75

 

“บริเวณที่ 3” ห้ามก่อสร้าง โรงงานทุกจำพวก เว้นแต่โรงงานจำพวกที่ 1 ที่มีพื้นที่เกิน 100 ตร.ม., โรงมหรสพ, สถานีขนส่ง, อาคารเลี้ยงสัตว์, ตลาดที่มีพื้นที่เกิน 300 ตร.ม. หรือห่างจากตลาดอื่นน้อยกว่า 50 เมตร, สถานพยาบาลเกิน 5 เตียง, ศาสนสถาน, สถานศึกษา, ห้องแถวหรือตึกแถว, อาคารเก็บสินค้าที่มีพื้นที่เกิน 100 ตร.ม., ฯลฯ อาคารที่ก่อสร้างในบริเวณที่ 3 ต้องมีความสูงไม่เกิน 12 เมตร, พื้นที่อาคารไม่เกิน 2,000 ตร.ม. และมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

 

“บริเวณที่ 4” ห้ามก่อสร้าง โรงงานทุกจำพวก เว้นแต่โรงงานจำพวกที่ 1 ที่มีพื้นที่เกิน 100 ตร.ม., อาคารเลี้ยงสัตว์, อาคารเก็บสินค้าที่มีพื้นที่เกิน 200 ตร.ม. อาคารที่ก่อสร้างในบริเวณที่ 4 ต้องมีความสูงน้อยกว่า 23 เมตร และมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินถึงส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร

 

Download link

Facebook
Twitter
LinkedIn