ปลดล็อคอาคารร้างยอมให้ขออนุญาตใหม่ 5 ปี

ปลดล็อคอาคารร้างยอมให้ขออนุญาตใหม่ 5 ปี

4 พ.ย. 2552

แม้ว่ากระทรวงมหาดไทยจะได้เคยออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 57 เมื่อ พ.ศ. 2544 มาแล้วเพื่อผ่อนผันให้อาคารที่ดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จเนื่องจากมีผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจให้สามารถก่อสร้างต่อได้ แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาอาคารร้างได้ทั้งหมด เนื่องจากยังมีอาคารก่อสร้างค้างไว้อีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถมาขออนุญาตใหม่ได้ เนื่องจากใบอนุญาตหมดอายุลงนานแล้ว จนเมื่อจะขออนุญาตใหม่ ก็ติดขัดไม่สามารถทำได้เนื่องจากจะต้องดัดแปลงแก้ไขอาคารให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารที่ออกใช้บังคับใหม่ๆ ซึ่งมีข้อกำหนดเข้มงวดขึ้น ได้แก่ กฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (แก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 33) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 เป็นต้น

ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ คือ “กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคารสำหรับอาคารที่ไดัรับผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ พ.ศ. 2552” กำหนดผ่อนผันสำหรับอาคารที่ได้รับอนุญาตระหว่างวันที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ใช้บังคับ จนถึงวันที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ใช้บังคับ (ช่วงระหว่าง 17 ก.พ. 2535 ถึง 7 ส.ค. 2543) โดยอาคารนั้นจะต้องได้ตอกเสาเข็มหรือทำฐานแผ่เสร็จแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 หรือถ้ายังไม่มีการตอกเสาเข็มหรือทำฐานแผ่ แต่ได้ก่อสร้างโครงสร้างอาคารลงต่ำกว่าระดับพื้นดินได้พื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่อาคารส่วนที่ต่ำกว่าระดับพื้นดินนั้น

อาคารดังกล่าวซึ่งอาจจะไม่ได้ต่ออายุใบอนุญาต หรือเคยขอต่อออายุแต่ไม่ได้รับการต่ออายุ ถ้าประสงค์จะทำการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารต่อไป สามารถยื่นคำขออนุญาตใหม่ได้ โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ คือ
– ขนาดพื้นที่ปกคลุมดิน พื้นที่อาคาร และความสูงไม่เกินเกณฑ์ที่เคยได้รับอนุญาต
– ต้องมีหน้งสือรับรองการตรวจสอบโครงสร้างอาคารที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จว่ามีความมั่นคง แข็งแรง และมีความปลอดภัยในการที่จะก่อสร้างหรือดัดแปลงต่อไปได้ ออกโดยวิศวกรโยธา ระดับวุฒิวิศวกร เสนอมาพร้อมคำขออนุญาต (ตามแบบท้ายกฎกระทรวง)
– การออกใบอนุญาตจะใช้หลักเกณฑ์ตามกฎหมายควบคุมอาคารที่ใช้บังคับในขณะที่เคยได้รับอนุญาต ยกเว้นที่เป็นเรื่องของระบบการป้องกันอัคคีภัย และระบบความปลอดภัยภายในอาคาร จะต้องเป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารในขณะที่ยื่นคำขออนุญาตใหม่
– การยื่นคำขออนุญาตตามกฎกระทรวงฉบับนี้สามารถทำได้ภายใน 5 ปี นั่นคือทำได้จนถึงวันที่ 4 พ.ย. 2557
View

Facebook
Twitter
LinkedIn