ปัญหาและแนวทางแก้ไขในการยื่นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ปัญหาและแนวทางแก้ไขในการยื่นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

จากการที่สถาปนิกเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นส่วนที่สำคัญกับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) สำหรับโครงการต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ต้องพบกับปัญหาในเงื่อนของช่วงเวลาในการได้รับอนุญาตที่เป็นไปอย่างล่าช้า และดูเหมือนจะไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน
ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ โดยกรรมาธิการวิชาชีพ จึงได้ทำการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไข จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งในขณะเดียวกันทาง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดย คุณนิศากร โฆษิตรัตน์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามารับตำแหน่ง เลขาธิการ สผ. คนใหม่อีกครั้ง ก็ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เช่นกัน จึงได้ทำการปรับเปลี่ยนการทำงานของทาง สผ. โดยได้ประกาศขั้นตอนการพิจารณารายงานฯใหม่ให้มีลักษณะที่กระชับและชัดเจนขึ้น ประกอบกับคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องพิจารณารายงานฯเอง ก็มีการเปลี่ยนชุดใหม่ตามวาระ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทางสผ.จึงมีความคิดที่จะจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้น โดยท่านเลขาธิการฯ จะเป็นผู้เข้าอธิบายขั้นตอนต่างๆตามแนวทางใหม่ของท่าน พร้อมตอบข้อซักถามกับส่วนต่างที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ ผู้ประกอบการ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ผู้จัดทำรายงาน และฝ่ายอื่นๆ

และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการพบกับผู้ประกอบการเป็นฝ่ายแรก ที่ โรงแรม อิมพิเรียล ธารา สุขุมวิท 26 ตั้งแต่เวลา 9.00 – 12.30 น. ทางกรรมาธิการวิชาชีพได้เข้าร่วมสังเกตุการณ์ จึงขอนำเสนอประเด็นสำคัญโดยสรุปดังนี้

ท่านเลขาธิการฯ ได้ชี้แจงในเรื่อง การปรับเปลี่ยนประเภทโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำ EIA จากเดิม 22 ประเภท เป็นทั้งหมด 34 ประเภท (สามารถดูรายละเอียดได้จาก website ของทาง สผ.) รวมถึงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกรทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกรทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

โดยในประเด็นแรก ท่านเลขาธิการฯได้เน้นว่า ผู้จัดทำรายงานฯ เป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพที่ขึ้นทะเบียน เพราะฉะนั้นในด้านความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่จึงต้องมีสูง การทำรายงานฯจึงต้องมีคุณภาพและสามารถวิเคราะห์และแนวทางการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบและเป็นไปได้ด้วยดี หากเป็นเช่นนี้แล้วก็จะตอบรับกับขั้นตอนที่ทางสผ.จะนำมาใช้อย่างจริงจัง (ซึ่งขั้นตอนการพิจารณารายงานนี้ จะขอเน้นสรุปไปที่ รายงานสำหรับโครงการที่ต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการและโครงการที่ไม่ต้องเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี – ตามแผนผัง) ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป

หลักการของการพิจารณารายงานในขั้นตอนแบบใหม่นี้ แต่ละโครงการจะได้รับการพิจารณาเพียง 2 รอบ แล้วจะสามารถทราบว่ารายงานนั้นๆได้รับการอนุมัติหรือไม่เลย โดยภายในช่วง 15 วันแรกหลังจากที่ทางสผ. ได้รับการยื่นรายงานฯเพื่อขออนุมัติ ทางสผ.จะทำการตรวจรายงานในด้านความถูกต้องและครบถ้วนของรายงาน หากมีปัญหาใดๆก็จะแจ้งให้ผู้ทำรายงานแก้ไข หรือเพิ่มเติมข้อมูลของรายงานให้ครบถ้วน

ภายใน 15 วันต่อมา ทางสผ.ก็จะนำเสนอความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับรายงานฯนั้นไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เพื่อพิจารณา ซึ่งการพิจารณาก็จะกระทำภายใน 45 วัน และทางเจ้าของรายงานสามารถนำทีมที่ปรึกษาเข้าอธิบายชี้แจงในประเด็นต่างๆที่ทาง คชก.สงสัย ในขั้นตอนนี้อาจจะได้รับการอนุมัติ หรือมีความเห็นให้แก้ไขในประเด็นต่างๆ เพื่อนำเสนอรายงานต่อ คชก.ใหม่อีกครั้ง ในประเด็นความเห็นของ คชก.นี้ ท่านเลขาธิการฯ ได้ยืนยันที่จะแก้ไขปัญหาเดิมๆที่ไม่มีความชัดเจน ไม่มีหลักเกณฑ์ โดยจากนี้ทุกความเห็นของ คชก.ต้องมีเหตุผลทางวิชาการสนับสนุน ไม่เป็นแค่ดุลย์พินิจ หรือความคิดส่วนตัวอีกต่อไป

ทาง สผ. จะนำเสนอรายงานฯฉบับแก้ไขแก่ทาง คชก.พิจารณาอีกครั้งเป็นรอบที่ 2 ภายใน 30 วัน หลังจากได้รับรายงานฯ ซึ่งหากไม่ได้รับการอนุมัติ ก็ถือว่ารายงานฉบับนั้นๆ ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป หากเจ้าของโครงการมีความต้องการที่จะแก้ไขรายงานฯเพื่อนำเสนอใหม่ ก็จะถือว่าโครงการนั้นๆจะต้องเริ่มต้นกับขั้นตอนทั้งหมดของทาง สผ.ตั้งแต่ต้นอีกครั้ง

ซึ่งจะเห็นได้ว่า หากทุกขั้นตอนเป็นไปตามหลักการข้างต้น เวลาที่มากที่สุดในการพิจารณาอนุมัติรายงานฯ ในฝ่ายของทาง สผ. ก็จะเป็น 15+15+45+(x)+30 = 105 วัน หรือ 3.5 เดือน ส่วน x คือช่วงเวลาที่ทางฝ่ายผู้ทำรายงานฯ และบริษัทที่ปรึกษาต่างๆจะร่วมกันแก้ไข รายงานฯให้สมบูรณ์ถูกต้องตามความเห็นของทาง คชก. ดังนั้นโดยหลักการแล้ว ปัญหาเรื่องความล่าช้าของการพิจารณาก็น่าจะได้รับการแก้ไข แต่ผู้ทำรายงานฯก็จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณภาพมากพอ ที่จะให้คำปรึกษากับทุกฝ่ายเพื่อให้ได้โครงการตามที่ทาง คชก. เห็นชอบตามหลักวิชาการ
ส่วนเรื่องประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกรทบสิ่งแวดล้อมฯ นั้น มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ประเภทโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานฯ เพิ่มเติมจากเดิม ตามเอกสารท้ายประกาศ 1 ดังนี้
• ลำดับที่ 27.1 ได้แก่อาคารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ฝั่งทะเล ทะเลสาบหรือชายหาด หรือที่ยู่ใกล้หรืออยู่ในอุทยานแห่งชาติ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ ซี่งเป็นบริเวณที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยมีตวามสูงตั้งแต่ 23.00 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกัน ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
• ลำดับที่ 27.2 ได้แก่อาคารที่ใช้ใน การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง โดยมีตวามสูงตั้งแต่ 23.00 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกัน ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
• ลำดับที่ 27.1 ได้แก่อาคารที่ใช้เป็น สำนักงานหรือที่ทำการของเอกชน โดยมีตวามสูงตั้งแต่ 23.00 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกัน ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
• ลำดับที่ 30 ได้แก่ โรงแรมหรือสถานที่พักตากอากาศตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้อง ขึ้นไป หรือมี พื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป
• ลำดับที่ 31 ได้แก่ อาคารอยู่อาศัยรวม ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้อง ขึ้นไป หรือมี พื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป

โดยเฉพาะประเด็น อาคารที่ใช้ใน การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง นี้ ท่านเลขาธิการฯตีความรวมถึงอาคารห้างสรรพสินค้า แต่จากคำจำกัดความของ “ธุกิจค้าปลีกและค้าส่ง” ที่ระบุในประกาศฯนี้ ก็ยังดูคลุมเครือที่จะนำมาใช้กับอาคารห้างสรรพสินค้าได้ ซึ่งก็น่าที่จะต้องติดตามกันต่อไป

ส่วนความคืบหน้าของการที่ทาง สผ. จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการกับฝ่ายอื่นๆนั้น ทางคณะกรรมมาธิการวิชาชีพ จะได้ติดตามและประสานงานกับทาง สผ.อีกครั้ง เพื่อที่ทางสมาคมฯ และสมาชิกจะได้มีส่วนร่วม และมีความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลง และเป็นไปเกี่ยวกับเรื่อง EIA นี้ ซึ่งในเบื้องต้นก็ได้มีการพูดคุยกับท่านเลขาธิการ สผ. ถึงการเชิญท่านมาเป็นวิทยากรเพื่อให้ความรู้ แก่สมาชิกของทางสมาคมฯ ส่วนเวลาที่แน่นอนจะแจ้งให้ทราบต่อไปอีกครั้ง

Facebook
Twitter
LinkedIn