ข้อบังคับและประกาศคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรม

ข้อบังคับและประกาศคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรม

คณะกรรมการนิคมอุตสาหกรรมได้ออกข้อบังคับและประกาศที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ข้อบังคับคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2551
ข้อบังคับฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 25 ส.ค. 2551 แทนประกาศคณะกรรมการ กนอ. เก่าหลายฉบับ (ประกาศฯ ที่ 1/2531, ที่ 4/2535, ที่ 6/2535, ที่ 2/2538, ที่ 1/2546 และ ที่ 2/2540) ข้อบังคับฉบับนี้ได้กำหนดให้การประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม มี 4 ลักษณะ คือ การประกอบอุตสาหกรรม, การประกอบการบริการในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป, การประกอบพาณิชยกรรมในเขตประกอบการเสรี และ การประกอบกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งประเภทและขนาดของการประกอบกิจการจะเป็นไปตามที่ กนอ. กำหนดหรือให้ความเห็นชอบซึ่งจะคำนึงถึงความสอดคล้องและความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่ง
ข้อบังคับฉบับนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการขออนุญาต การอนุญาตให้ประกอบกิจการ และเงื่อนไขต่างๆสำหรับการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีเงื่อนไขที่น่าสนใจบางประการ เช่น

  • ผู้ประกอบกิจการต้องประกอบกิจการให้เป็นไปตามแผนผังแม่บทสำหรับนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งและต้องพัฒนาที่ดินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กนอ. กำหนด
  • การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้ายอาคาร ตามกฎหมายควบคุมอาคาร ผู้ประกอบกิจการจะต้องเสนอแบบแปลน แผนผัง รายละเอียด และรายงานการตรวจสอบอาคารต่อ กนอ. เพื่อพิจารณาอนุญาต ออกใบรับรอง แล้วแต่กรณี ตามแบบที่ กนอ. กำหนด
  • ผู้ประกอบกิจการต้องไม่ปลูกสร้างที่พักอาศัยใดๆ และต้องไม่ให้ผู้ใดพักอาศัยอยู่ ในบริเวณที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ เว้นแต่ เป็นเป็นผู้ประกอบกิจการให้บริการที่พักอาศัยหรือเพื่อพาณิชย์และบริการตามแผนผังแม่บทของนิคมอุตสาหกรรมนั้นๆ
  • การตั้ง ขยาย ก่อสร้าง แก้ไขต่อเติมหรือดัดแปลงอาคาร โรงงานหรืออาคารอื่นเพื่อการประกอบกิจการหรือขยายกิจการ รวมทั้งการอนุญาตอื่นตามกฎหมายโรงงาน ผู้ประกอบกิจการต้องเสนอแบบแปลน แผนผัง รายละเอียดต่อ กนอ. พร้อมทั้งแจ้งระยะเวลาการเริ่มก่อสร้าง และระยะเวลาการเริ่มประกอบอุตสาหกรรมให้ กนอ. พิจารณา

2. ประกาศคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ลงวันที่ 29 เม.ย. 2535
ประกาศฯฉบับนี้ออกเพื่อใช้แทน ประกาศฯ ที่ 3/2535 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีเงื่อนไขบางประการที่น่าสนใจ เช่น จะต้องดำเนินการให้มีพื้นที่ดังต่อไปนี้ด้วย ได้แก่

  • พื้นที่ปลูกสร้างอาคาร โรงงาน หรืออาคารสำนักงานต้องมีความถูกต้องเหมาะสมตามลักษณะของการประกอบกิจการ ระบบหรือวิธีการผลิต
  • พื้นที่สำหรับการรักษาความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบป้องกันอุบัติภัย เป็นต้น
  • พื้นที่ว่างตามลักษณะภูมิสถาปัตยกรรม
  • พื้นที่ใช้สอยประกอบกิจการที่จำเป็นตามความเหมาะสม เช่น ที่เก็บและวางของหรือพักสินค้า ที่จอดรถ โรงอาหาร ป้อมยาม เป็นต้น, และพื้นที่ว่างสำหรับการขยายกิจการในอนาคต

กรณีการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม อาจจัดทำได้เฉพาะที่จัดไว้เพื่อเป็นที่พักอาศัยสำหรับพนักงานและคนงาน ตลอดจนครอบครัวของพนักงานและคนงานนั้น และต้องอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่สถานประกอบการตั้งอยู่ (เว้นแต่นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวไม่ได้จัดให้มีพื้นที่พักอาศัยสำหรับพนักงานและคนงานไว้) ทั้งนี้ได้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องจำนวนของที่ดินและอาคารชุดไว้ดังนี้

  • ที่ดินสำหรับผู้บริหาร ผู้ชำนาญการ และช่างฝีมือ ไม่เกิน 200 ตร.วา/ครอบครัว รวมกันไม่เกิน 3 ไร่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และนครปฐม) และไม่เกิน 5 ไร่ในเขตจังหวัดอื่นๆ
  • ที่ดินสำหรับคนงาน ไม่เกิน 100 ครอบครัว/ไร่ รวมกันไม่เกิน 5 ไร่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และไม่เกิน 10 ไร่ในเขตจังหวัดอื่นๆ
  • อาคารชุดสำหรับผู้บริหาร ผู้ชำนาญการ และช่างฝีมือ ไม่เกิน 1 ห้องชุด/ครอบครัว รวมกันไม่เกิน 10 ห้องชุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และไม่เกิน 20 ห้องชุดในเขตจังหวัดอื่นๆ
  • อาคารชุดสำหรับคนงาน ไม่เกิน 1 ห้องชุด/ครอบครัว รวมกันไม่เกิน 100 ห้องชุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และไม่เกิน 200 ห้องชุดในเขตจังหวัดอื่นๆ

 

View : ข้อบังคับฯ

View : ประกาศฯ

Facebook
Twitter
LinkedIn