Behind the Building – Behind the Picture ข้างหลังตึก ข้างหลังภาพ

เมื่อต้นปี 2560 แฮชแท็ก#SavingThaiModernArchitecture บนกน้าฟีดเฟซบุ๊คได้ทำให้บรรดา ฅ ฅนรักตึก ใจเต้นตึกๆ กันพอสมควร แฮชแท็กนี้เกิดขึ้นเมื่อเพจ Foto_momo โดย วีรพล สิงห์น้อย หรือ “เบียร์ สิงห์น้อย” ช่างภาพสถาปัตยกรรมได้บันทึกความโมเดิร์นของอาคารเก่าช่วงศตวรรษ 2549-2510 (ยุค 50s-70s) ผ่านภาพถ่าย

แม้วันนี้บริบททางสังคมและความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้ทำให้บางอาคารหล่นหายไปตามกาลเวลา
จากความคุ้นเคย จากความช่างสังเกต จากโจทย์ของหน้าที่การงาน จากความประทับใจและหลงรักรูปทรงอาคารเหล่านี้ที่ยังคงความสวยงามอยู่ จากการค้นคว้าข้อมูลประทับใจในแง่มุมการออกแบบของสถาปนิกชั้นครูล้วนเป็นเหตุผลให้ “เบียร์ สิงห์น้อย” ตัดสินใจกดชัตเตอร์เก็บภาพอาคารเหล่านี้ไว้เป็นความทรงจำ

“อาคารปาฐกถาประดิษฐ์ เชยจิตร หรือตึกฟักทอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นอาคารแรกที่ทำให้ผมอยากเก็บภาพตึกอื่นๆ ต่อเป็นซีรี่ย์ ตึกฟักทองเปรียบเหมือนไอดอลของ ม.อ. ก็ว่าได้ ถ้าดูตามหลักสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม จะเห็นว่าอาคารเหมือนรูปชามทรงคว่ำ มีกลีบเป็นรูปผลฟักทอง ความพิเศษของการก่อสร้างคือ การถ่ายเทน้ำหนักจากจุดศูนย์กลางของอาคาร ซึ่งอาคารนี้สร้างขึ้นในช่วงปี 2509-2510 นับว่าประทับใจมากในยุคนั้น ภาพนี้สำเร็จได้ผ่านการถ่ายด้วยโดรน”
FYI : ความสวยงามของตึกฟักทองในยุคนั้นทำให้มีกองถ่ายภาพยนตร์ 2 เรื่อง เลือกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ คือเรื่อง จินตะหรา (2516) และวงศคณาญาติ (2529)

“ผมไปถ่ายตึกนี้พร้อมๆ กับตึกฟักทอง โดยตึกสตางค์เป็นตึกของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ตั้งชื่อตามศาสตราจารย์ ดร. สตางค์ มงคลสุข ผู้ก่อตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งตึกสตางค์และตึกฟักทองได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2559 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถันภ์ จุดเด่นของอาคารคือหลังคาคอนกรีตเล็กๆ ที่ประกอบกันจนครอบคลุมเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ได้”

“จุดเริ่มต้นของที่นี่คล้ายๆ กับตึกฟักทองที่หาดใหญ่ เป็นยุคที่มีการสร้างแคมปัสตามหัวเมืองใหญ่ ในยุคนี้สถาปนิกนิยมออกแบบอาคารแบบไฮเปอร์โบลิกพาราโบลอยด์ (Hyperbolic Paraboliod) ซึ่งเล่นกับความโค้งของโครงสร้าง ถ้ามองแปลนของอาคารจะเห็นเป็นรูปหกเหลี่ยม แล้วยกมุมสามมุม กดอีกสามมุมลงเป็นพื้นที่ใต้หลังคา ซึ่งใช้คอนกรีตแผ่นเดียวความหนาประมาณ 10-15 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าล้ำสมัยมาก ทราบมาว่าอาจารย์วทัญญูกับอาจารย์นครให้นักศึกษาช่วยกันเทคอนกรีต ซึ่งก็เหมือนเป็นการทำงานจริงไปด้วย เท่าที่ฟังมาด้วยความล้ำของรูปทรงอาคาร ทำให้มีคนไม่มั่นใจว่าตัวอาคารจะมั่นคงแข็งแรงจริงหรือ ดังนั้น เมื่อปูนแห้งแล้ว อาจารย์ก็ให้นักศึกษาขึ้นไปทดสอบยืนบนโครงสร้างด้านบน ปรากฏว่ายืนได้ ข้างหลังภาพนี้คือผมใช้เวลารอแสงนานมาก ระหว่างที่รอทำให้ผมได้เห็นคุณสมบัติของอาคารที่คำนึงถึงแรงลม อาคารนี้อยู่แล้วเย็น”

“ผมสังเกตเห็นว่าอาคารทรงโมเดิร์นเกิดขึ้นในช่วงปี 1950-70 ซึ่งสอดคล้องความเจริญของเมืองที่กำลังเติบโตขึ้น ยุคแรกของสถาปัตยกรรมคือการสร้างวัด สร้างวัง ยุคต่อมาคือการสร้างบ้านของบรรดาคหบดี จากนั้นยุคของการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการก่อสร้างบริษัทห้างร้าน ธนาคาร เริ่มสร้างอาคารที่มีคาแรกเตอร์มากขึ้น ยุคก่อนสังเกตว่าอาคารจะเป็นรูปแบบสแตนอโลน ไม่ได้ตั้งอยู่ตามห้างเหมือนทุกวันนี้ อย่างธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาเพลินจิต เป็นตึกที่สวยงามมากในสายตาผม หน้าอาคารเป็นสโลปแอ่นโค้งตอนปลาย ด้านในตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสกสีทอง ปัจจุบันอาคารนี้ถูกทุบทิ้งไปแล้ว ให้ย้อนเวลากลับไปดูอีกก็คงไม่ได้แล้ว ดีใจที่ได้บันทึกภาพเก็บไว้

“ผมบังเอิญไปเจออาคารหนึ่งแถวโรบินสัน บางรัก พอเห็นรูปทรงคล้ายรวงข้าวซึ่งเป็นเอกลักษณ์ รู้ทันทีเลยว่าเป็นธนาคารกสิกรไทย ปัจจุบันที่นี่กลายเป็นร้านอาหารไปแล้ว ด้วยสีอาคารที่โดดเด่นคนชอบคิดว่าผมแต่งสีรูป แต่ไม่ใช่ เป็นสีแบบนี้เลย ผมย้อนไปดูอาคารนี้ใน Google Street View เมื่อปี 2559 มันมีป้ายอะไรไม่รู้เต็มไป    หมด โชคดีได้มาเจอตอนที่เอาออกไปหมดแล้ว เหลือหน้าตาเดิมๆ แบบนี้นี้ก็สวยดี”

“ทั้งสองอาคารตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน ผมประทับใจงานออกแบบของอาจารย์กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ซึ่งเป็นสถาปนิกระดับต้นๆ ในสมัยนั้นเลย อาจารย์กฤษฎาพยายามนำความเป็นไทยมาใช้ในการออกแบบอาคาร ทั้งคอนกรีตบล็อกที่นำลายไทยมาใช้ ตัวโบสถ์มีโครงหลังคาทรงโค้ง ตรงกลางเว้นเป็นช่องแสง ซึ่งสถาปนิกตั้งใจเปิดไว้ให้แสงมีมิติเข้ามาในอาคาร ข้างหลังภาพนี้ผมประทับใจคนดูแลครับ แม้เราจะไม่ได้เป็นคริสต์ศาสนิกชน แต่เจ้าหน้าที่ยิ้มแย้ม มีไมตรี อนุญาตให้เราเข้าไปถ่ายได้ ทำให้เห็นถึงการดูแลรักษาอย่างดีของเจ้าหน้าที่”

“ผมไม่เคยเข้าไปข้างในเลย เพราะเป็นเมนชั่นของเอกชน ซึ่งใจจริงอยากเข้าไปมากแต่ไม่มีโอกาส รูปนี้ถ่ายตั้งแต่สมัยที่ตึก Park Venture ยังไม่ได้สร้าง เมื่อก่อนตรงนี้เป็นตึกแถวและถูกรื้อถอนไปหมดแล้ว ความพิเศษของภาพนี้คือ เราจะไม่มีโอกาสเห็นภาพอาคารนี้ในมุมนี้อีกแล้ว เพราะปัจจุบันมีอาคารขนาดใหญ่ และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสขึ้นมาบดบัง ทำให้ผมเห็นว่าการบันทึกภาพถ่ายเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าเมื่อเวลาผ่านไป”

“ระหว่างทริปสุโขทัย ผมตั้งใจไปนอนที่นี่เพราะอยากรู้ว่าข้างในจะเป็นอย่างไร ที่นี่เป็นโรงแรมราคาย่อมเยา ได้อารมณ์เก่าๆ ขลังๆ ภายในห้องพักเพดานเป็นลายปูนสลัด นอนแล้วรู้สึกเหมือนกำลังดูหินงอกหินย้อย ได้มองออกไปนอกหน้าต่างผ่านขอบเส้นโค้ง รู้สึกดีที่ได้เข้าไปอยู่ในตัวอาคารนั้นจริงๆ ผมเคยคุยกับร้านข้าวแถวนั้น เขาถามว่านอนชั้นเก้าใช่ไหม ผมก็ถามว่าทำไมพี่รู้ เขาบอกว่าโรงแรมนี้ชอบให้แขกพักที่ชั้นเก้า ชั้นอื่นไม่ค่อยมีแขกหรอก อาจด้วยแนวคิดบริหารจัดการก็ได้ ตอนนั้นผมเองก็อยากจะเสพเสปซ จึงลองไล่เดินจากชั้น 9 ลงทางบันไดหนีไฟ ซึ่งชั้นแปดยังโอเค แต่พอถึงชั้นเจ็ดนี่มืดตื๊ดตื๋อ”

“ถ้ารู้ตัวล่วงหน้าว่าจะเดินทางไปไหน ผมจะหาเวลาแวะไปเก็บภาพตามสถานที่ที่เล็งไว้ ครั้งนั้นผมต้องเดินทางไปทำงานที่สุโขทัย ก็เลยกะจะแวะไปที่โณงหนังแห่งนี้ ซึ่งเคยเป็นโรงหนังขนาดใหญ่ เมื่อก่อนอำเภอตะพานหินเทียบได้กับหาดใหญ่ของสงขลาเลยทีเดียว เพราะที่นี่เป็นชุมทางรถไฟหลายสาย ตอนไปถึงผมก็ทำตัวเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป เดินเข้าไปสวัสดีคนที่ดูแล ไม่รู้หรอกว่าพี่เขาเป็นเจ้าของ พอคุยไปคุยมาแกก็ไปรื้ออัลบั้ม    รูปมาให้ดูบอกว่าเมื่อก่อนทำอาชีพเป็นนายหน้าค้าหนัง เอาหนังมาฉาย ไปดูงานตามโรงหนังต่างๆ โรงหนังนี้แกออกแบบเขียนแบบด้วยตนเอง แล้วก็ให้ช่างโยธาก่อสร้างเมื่อปี 2522 ที่นี่จุคนได้เป็นพัน ด้วยหน้าตัวอาคารเป็นเส้นๆ ได้รับแรงบันดาลใจจากกระโจมคณะละครสัตว์ เจ้าของบอกว่าก่อนก่อสร้างเขาดูรูปมาจากนิตยสารต่างประเทศ ผมได้เข้าไปดูข้างในมีเก้าอี้ฉายหนังที่รื้อไปบ้างบางส่วนตรงบริเวณที่ขายตั๋วเจ้าของก็ปรับให้เป็นที่อยู่อาศัย ผมถามว่าจะทุบไหม แกตอบว่าไม่ อยากเก็บไว้ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน”