ปรับปรุงมาตรฐานระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการในนิคมอุตสาหกรรม

22 ต.ค. 2555

คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรม ออก “ข้อบังคับคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าด้วยมาตรฐานระบบสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการในนิคมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2555” มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 2555 โดยยกเลิกข้อบังคับในเรื่องเดียวกันฉบับเดิม คือ ข้อบังคับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าด้วยมาตรฐานระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการในนิคมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2548 รวมทั้ง ข้อบังคับฯ (ฉบบที่ 2) พ.ศ. 2552 ข้อบังคับฉบับนี้เป็นการปรับปรุงจากข้อบังคับเดิม โดยเนื้อหายังคงประกอบด้วยหมวดต่างๆ เช่นเดิม ได้แก่ ระบบถนนภายในหรือทางเชื่อมต่อกับถนนหรือทางภายนอกนิคมอุตสาหกรรม, ระบบระบายน้ำฝนและระบบป้องกันน้ำท่วม, ระบบน้ำประปา, ระบบบำบัดน้ำเสีย, ระบบสื่อสารโทรคมนาคม, ระบบไฟฟ้า, ระบบดับเพลิงและระบบป้องกันอุบัติภัย, การจัดสรรพื้นที่ในนิคมอัตสาหกรรม, ระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการอื่นเพิ่มเติม เป็นต้น

สำหรับรายละเอียดในหมวดต่างๆ ยังมีเนื้อหาเช่นเดิม โดยมีส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาอยู่ใน “หมวด 2 ระบบระบายน้ำฝนและระบบป้องกันน้ำท่วม” ซึ่งในหมวดนี้ได้เพิ่มบทนิยาม “พื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัย” หมายความว่า บริเวณพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุประสบอุทกภัย หรือบริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย เช่น บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน เป็นต้น และเพิ่มข้อที่ว่าด้วยประเด็นพิจารณากรณีการออกแบบระบบระบายน้ำฝนสำหรับนิคมอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัย (ข้อ 19), ปรับปรุงข้อกำหนดการระบายน้ำออกนอกพื้นที่สำหรับพื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัย (ข้อ 20 วรรคสอง), ปรับปรุงข้อกำหนดเรื่องการก่อสร้างคันกั้นน้ำล้อมรอบพื้นที่โครงการเพื่อป้องกันน้ำท่วม กรณีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเป็นที่ลุ่มและมีน้ำท่วมขัง (ข้อ 21)

สำหรับการก่อสร้างคันกั้นน้ำล้อมรอบพื้นที่โครงการเพื่อป้องกันน้ำท่วม สำหรับนิคมอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัย ได้เพิ่มข้อที่กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการก่อสร้างเอาไว้โดยละเอียด (ข้อ 22) เช่น คันกั้นน้ำต้องมีความสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในรอบ 70 ปี โดยกำหนดระยะส่วนเผื่อความสูงไว้ไม่น้อยกว่า 50 ซม., ต้องไม่ขวางทางน้ำหลาก, ต้องออกแบบสันเขื่อนให้มีทางสำหรับการซ่อมบำรุงโดยมีผิวจราจรกว้างไม่น้อยกว่า 2.50 เมตร และหนาไม่น้อยกว่า 20 ซม. ตลอดจนมีทางขึ้น-ลงทุกระยะ 800 เมตร เป็นต้น

 

download

Facebook
Twitter
LinkedIn