ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการผังเมือง

วันที่ 8 ก.ย. 2558

พระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ออกใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับคณะกรรมการผังเมือง (องค์ประกอบ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม) ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ระยะเวลาการใช้บังคับ และการแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม

มีสาระที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่สำคัญๆ พอสรุปได้ดังนี้

1. เปลี่ยนคำว่า องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2. ปรับปรุงบทนิยามความหมายของคำว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่น และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3. ปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการผังเมือง
3.1 เพิ่ม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
3.2 เพิ่ม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก 7 เป็น 9 คน โดยระบุสาขาวิชาที่มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ ได้แก่ การผังเมือง สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี สังคม ในจำนวนนี้อย่างน้อย 1 คนต้องมาจากผู้มีประสบการณ์ด้านการสอนหลักสูตรการผังเมืองในสถาบันอุดมศึกษา
3.3 ผู้แทนจากสถาบันองค์การอิสระและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผังเมืองจากเดิมไม่เกิน 7 คนเป็นไม่เกิน 9 คน ประกอบด้วย ผู้แทนของ สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวม 5 คน กับผู้แทนสถาบันองค์การอิสระและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผังเมือง อีกไม่เกิน 4 คน

4. เพิ่มมาตรา 6/1 และมาตรา 6/2
4.1 มาตรา 6/1 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามสำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนสถาบันหรือองค์การอิสระ และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการการผังเมือง ที่สำคัญคือ ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
4.2 นอกจากนั้น ยังเพิ่มมาตรา 6/2 กำหนดให้กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนสถาบันหรือองค์การอิสระ และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผังเมือง จะต้องไม่เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ

5. เพิ่มวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผังเมืองที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากสถาบันหรือองค์การอิสระและบุคคลอื่น จาก 2 ปีเป็น 3 ปี ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

6. การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่ง โดยที่คณะรัฐมนตรีให้ออก จะต้องเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ

7. องค์ประกอบของผังเมืองรวมแต่ละฉบับ
7.1 วัตถุประสงค์ในการวางและจัดทำผังเมืองรวม กำหนดเพิ่มว่า ให้กำหนดโดยคำนึงถึงความเป็นระเบียบ ความสวยงาม การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ความปลอดภัยของประชาชน การเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ การดำรงรักษาสถานที่ที่มีคุณค่าทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี และการจัดสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมกัน
7.2 แผนที่แสดงเขตของผังเมืองรวม กำหนดเพิ่มว่า โดยแสดงข้อมูลภูมิประเทศและระดับชั้นความสูง
7.3 เพิ่ม ข้อกำหนดที่จะให้ปฏิบัติหรือไม่ให้ปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองรวมทุกประการ รวม 8 ประการ ซึ่งหากผังเมืองรวมฉบับใดไม่มีประการใดใน 8 ประการนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผังเมือง โดยมีเหตุผลอันสมควร ข้อกำหนดเหล่านี้บางประการมีอยู่แล้วในผังเมืองรวมเกือบทุกฉบับ เว้นแต่ประการที่น่าสนใจคือ อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นของอาคารทุกหลังต่อพื้นที่แปลงที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคาร (F.A.R.) อัตราส่วนพื้นที่อาคารปกคลุมดินต่อพื้นที่แปลงที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคาร และอัตราส่วนพื้นที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมของแปลงที่ดินที่อาคารตั้งอยู่ต่อพื้นที่ใช้สอยรวมของอาคาร (O.S.R.) ซึ่งยังไม่มีในผังเมืองรวม ยกเว้นผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ซึ่งมีข้อกำหนด F.A.R. และ O.S.R. อยู่

8. ไม่กำหนดอายุผังเมืองรวม (เดิมกำหนดอายุ 5 ปี โดยอาจมีการต่ออายุ) แต่ให้มีการประเมินตามระยะเวลาที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนดแต่ไม่เกิน 5 ปี หากคณะกรรมการผังเมืองเห็นว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็จึงให้กรมโยธาธิการและผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการปรับปรุงโดยการวางและจัดทำผังเมืองรวมขึ้นใหม่ให้เหมาะสม

9. เพิ่มมาตรา 26/1 ซึ่งกำหนดขั้นตอนในการแก้ไขผังเมืองรวม ที่เป็นการแก้ไขเฉพาะบริเวณหรือเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใด

10. บทเฉพาะกาล
10.1 คณะกรรมการผังเมืองซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ใช้บังคับ ให้คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการผังเมืองชุดใหม่ ซึ่งต้องไม่เกิน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ใช้บังคับ และคณะกรรมการผังเมืองที่แต่งตั้งใหม่นี้ให้ถือเป็นวาระแรก
10.2 สำหรับผังเมืองรวมทึ่ออกใช้บังคับไปแล้ว ทุกฉบับจะระบุว่ามีอายุใช้บังคับห้าปี และบางฉบับมีการต่ออายุใช้บังคับห้าปีบ้าง หนึ่งปีบ้าง พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดเป็นบทเฉพาะกาลว่า ให้คงใช้บังคับต่อไปได้จนกว่าจะมีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมที่ออกตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ ใช้บังคับ

 

ดาวน์โหลดพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 4)

Facebook
Twitter
LinkedIn