ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร

27 สิงหาคม 2558

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 ออกใช้บังคับแล้ว โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่สำคัญคือกระบวนการเกี่ยวกับการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ พระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระที่เพิ่มเติมขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พอสรุปได้ดังนี้

1. เพิ่มมาตรา 8 วรรคสอง กำหนดให้รัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคาร สามารถออกประกาศกำหนดรายละเอียดทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ซึ่งจะสามารถทำให้ข้อปฏิบัติในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารเป็นไปอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานสากลซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามพัฒนาการของเทคโนโลยีเกี่ยวกับการก่อสร้าง

การเพิ่มมาตรา 8 วรรคสองนี้ จะทำให้ในอนาคต ข้อกำหนดที่เคยจะต้องกำหนดเอาไว้โดยละเอียดในกฎกระทรวง สามารถกำหนดเพียงกรอบหรือหลักการสำคัญๆ แล้วไปกำหนดรายละเอียดเพิ่มขึ้นในประกาศกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะทำให้การออกข้อกำหนดรายละเอียดต่างๆ มีความคล่องตัวขึ้น เพราะไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรีซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยากและใช้เวลานาน

2. เพิ่มมาตรา 32 ตรี กำหนดให้เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการ สำหรับอาคารบางชนิดหรือประเภทต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก เพื่อให้บุคคลที่ได้รับผลกระทบได้รับการชดใช้ค่าเสียหายในเบื้องต้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และจำนวนเงินเอาประกันภัยที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคาร

อันที่จริงพระราชบัญญัติควบคุมอาคารได้บรรจุเรื่องการประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกเอาไว้แล้วตั้งแต่การปรับปรุงแก้ไขในปี พ.ศ. 2543 โดยได้เพิ่มมาตรา 8(16) ให้รัฐมนตรีสามารถออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดประเภทอาคารที่ต้องทำประกันภัยฯบุคคลภายนอก และซึ่งต่อมาก็ได้ออก “กฎกระทรวง กำหนดชนิดหรือประเภทของอาคารที่เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการต้องทำการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก พ.ศ. 2548”  อย่างไรก็ตาม ที่แล้วมาเรื่องการประกันภัยฯบุคคลภายนอกไม่สามารถใช้บังคับได้จริง เนื่องจากกำหนดได้เพียงประเภทอาคาร แต่ไม่มีมาตราที่กำหนดบทบังคับ บทลงโทษ และบทบัญญัติที่ให้สามารถออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และจำนวนเงินเอาประกันภัยได้

3. แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษในมาตรา 65 ทวิ เพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับความผิดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 32 ตรี (เรื่องการทำประกันภัยฯบุคคลภายนอกตามมาตรา 32 ตรี) และมาตรา 66 บทกำหนดโทษในกรณีไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารในมาตรา 39 ตรี วรรคสาม

4. เนื้อหาส่วนใหญ่ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 นี้คือการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 39 ทวิ และมาตรา 39 ตรี ซึ่งเป็นการกำหนดกระบวนการเกี่ยวกับ “การแจ้งก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น” ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535  การปรับปรุงแก้ไขครั้งนี้เปิดโอกาสให้สามารถใช้วิธีการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม โดยสอดคล้องกับการพัฒนาบุคลากรและองค์กรวิชาชีพด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม อันเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น

สำหรับมาตรา 39 ทวิ และมาตรา 39 ตรี ที่ได้แก้ไข มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลายอย่าง บางเรื่องเป็นเรื่องใหม่ที่ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องทราบเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้อง เนื้อหาเฉพาะที่เปลี่ยนแปลงไป พอสรุปได้ดังนี้

– มาตรา 39 ทวิใหม่ ใช้สำหรับการก่อสร้าง ดัดแปลง และรื้อถอนอาคาร ไม่ครอบคลุมถึงการเคลื่อนย้ายอาคาร

– แบบที่ใช้ในการแจ้งให้ใช้แบบที่คณะกรรมการควบคุมอาคารกำหนด (เดิมกำหนดว่า ตามแบบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด เช่น แบบ กทม.๑ ของกรุงเทพมหานคร) ซึ่งคงจะมีการกำหนดขึ้นต่อไป เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ และสอดคล้องกับข้อกำหนดใหม่เกี่ยวกับเอกสารและหลักฐานในมาตรา 39 ทวิ นอกจากนี้ยังจะมีการกำหนดแบบใบรับแจ้งและแบบหนังสือแจ้งข้อทักท้วงด้วย

– เอกสารสำเนาใบอนุญาตของผู้ออกแบบ ผู้ออกแบบและคำนวณอาคาร และผู้ควบคุมงาน จะต้องรับรองสำเนาถูกต้อง (เดิมก็รับรองสำเนากันอยู่แล้ว เพียงแต่กฎหมายไม่ได้เขียนระบุไว้ให้ชัดเจน) และที่สำคัญคือจะต้องมี “หนังสือรับรองการได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมหรือผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” ที่ออกโดยสภาสถาปนิกหรือสภาวิศวกร แล้วแต่กรณี

– ต้องมีหนังสือรับรองของผู้ออกแบบเพื่อรับรองว่า เป็นผู้รับผิดชอบการออกแบบอาคาร และการออกแบบอาคารนั้นถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และสำหรับอาคารประเภทหรือขนาดที่กฎหมายกำหนดว่าต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ คนชรา หรือผู้สูงอายุ ตามที่กฎหมายกำหนด (ดู “กฎกระทรวง กำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548“) จะต้องมีการรับรองของผู้ออกแบบเพื่อ “รับรองการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวก” นั้นด้วย

– ต้องมีหนังสือรับรองของผู้ควบคุมงาน เพื่อรับรองว่าจะควบคุมการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารให้ถูกต้องตามแบบและรายการคำนวณที่ได้แจ้งไว้

– สำหรับอาคารชนิดหรือประเภทที่กำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบงานออกแบบและคำนวณส่วนต่างๆ ของโครงสร้างอาคารตามมาตรา 21 ทวิ (ดู “กฎกระทรวง กำหนดชนิดหรือประเภทของอาคาร หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจสอบงานออกแบบและคำนวณส่วนต่างๆ ของโครงสร้างอาคาร พ.ศ. 2550”) ต้องมีหนังสือรับรองการตรวจสอบงานออกแบบและคำนวณส่วนต่างๆ ของโครงสร้างอาคาร

– ในกรณีที่เป็นอาคารในโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต้องมีหนังสือแสดงการให้ความเห็นชอบรายงานฯ

– ในกรณีอาคารในโครงการหรือกิจการที่ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ถ้าเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ จะต้องมีหนังสือรับรองจากผู้แจ้ง พร้อมเอกสารและหลักฐานแสดงการให้ข้อมูลและการแจ้งสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นแก่บุคคลที่อยู่บริเวณข้างเคียง เกี่ยวกับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือการดำเนินโครงการหรือกิจการ

– สำหรับผู้ออกแบบ (สถาปนิก) และผู้ออกแบบและคำนวณ (วิศวกร) ซึ่งเดิมจะต้องใช้วุฒิสถาปนิก และวุฒิวิศวกร มาตรา 39 ทวิ ใหม่ กำหนดให้สามารถใช้ผู้ออกแบบซึ่งมีใบอนุญาตระดับต่างๆได้ ขึ้นกับลักษณะ ขนาด หรือประเภทของอาคาร ดังนี้

– อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรืออาคารตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้รับผิดชอบงานออกแบบ และผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณ ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมระดับวุฒิสถาปนิก และผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมระดับวุฒิวิศวกร

– อาคารที่ไม่ใช่อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรืออาคารตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ที่กำหนดให้ผู้รับผิดชอบต้องเป็นระดับวุฒิสถาปนิกและวุฒิวิศวกร) หากเป็นอาคารที่มีลักษณะ ขนาด หรืออยู่ในประเภทที่กำหนดว่าเป็นงานวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม และงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในสาขาวิศวกรรมโยธา ผู้รับผิดชอบงานออกแบบ และผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณ ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมระดับไม่ต่ำกว่าสามัญสถาปนิก และผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมไม่ต่ำกว่าระดับสามัญวิศวกร

– อาคารที่ไม่ใช่อาคารที่มีลักษณะ ขนาด หรืออยู่ในประเภทที่กำหนดว่าเป็นงานวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม และงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในสาขาวิศวกรรมโยธา ผู้รับผิดชอบงานออกแบบ และผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณ ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม และผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (ทุกระดับ)

– เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะออกใบรับแจ้งให้ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับชำระค่าธรรมเนียม (เดิมภายในวันที่ได้รับแจ้ง)

– ในกรณีผู้แจ้งไม่ทำการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ภายใน 120 วันนับแต่วันที่ออกใบรับแจ้ง ให้ถือว่าไม่ประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร และให้ใบรับแจ้งเป็นอันยกเลิก

– เมื่อออกใบรับแจ้งแล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นยังสามารถทักท้วงได้ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ออกใบรับแจ้ง หรือนับแต่วันที่เริ่มก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร แล้วแต่กรณี โดยกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขไว้ ดังนี้

– กรณีเอกสารและหลักฐานที่ยื่นไว้ไม่ถูกต้อง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหนังสือทักท้วงให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากไม่ดำเนินการแก้ไข ถ้ามีการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนแล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการตามมาตรา 40(1) หรือ 40(2)

– กรณีแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน หรือรายการคำนวณไม่ถูกต้อง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงให้ผู้แจ้งแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน

– กรณีการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนไม่ถูกต้อง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงให้ผู้แจ้งดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ระหว่างนี้ผู้แจ้งต้องระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนในส่วนที่ไม่ถูกต้องนั้น เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อแก้ไขให้เป็นไปตามข้อทักท้วงของเจ้าพนักงานท้องถิ่น

สำหรับสองกรณีหลังนี้ ถ้าผู้แจ้งไม่ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าไม่ประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอน และให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งยกเลิกใบรับแจ้งที่ได้ออกไว้ นอกจากนั้นยังมีอำนาจดำเนินการตามมาตรา 40(1) (2) และมาตรา 42 แล้วแต่กรณี

– ส่วนข้อทักท้วงที่เป็นข้อยกเว้นซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจแจ้งข้อทักท้วงได้ตลอดเวลาแม้เมื่อพ้นระยะเวลา 120 วันนับแต่วันที่ออกใบรับแจ้ง ยังกำหนดไว้เช่นเดิมได้แก่

(1) กรณีเกี่ยวกับการรุกล้ำที่สาธารณะ

(2) กรณีเกี่ยวกับระยะ หรือระดับระหว่างอาคารกับถนน ตรอก ซอย ทางเท้า หรือที่สาธารณะที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมอาคารหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ยื่นแจ้ง

(3) กรณีเกี่ยวกับข้อกำหนดเกี่ยวกับการห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน ใช้ หรือเปลี่ยนการใช้อาคารชนิดใดหรือประเภทใด ที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมอาคารหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ยื่นแจ้ง

– อายุใบรับแจ้ง การต่ออายุใบรับแจ้ง การโอนใบรับแจ้ง กรณีผู้แจ้งตายและทายาทหรือผู้จัดการมรดกประสงค์จะดำเนินการต่อไป การเก็บใบรับแจ้ง ฯลฯ ไว้ในบริเวณ การออกใบแทนใบรับแจ้งกรณีใบรับแจ้งสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด ให้นำมาตรา 35 ถึงมาตรา 39 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับใบอนุญาตมาใช้บังคับแก่ใบรับแจ้งโดยอนุโลม

– กรณีผู้แจ้งได้ยื่นแจ้งไว้ก่อน ให้ถือเป็นใบรับแจ้งตามพระราชบัญญัตินี้

 

ดาวน์โหลด: พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558

Facebook
Twitter
LinkedIn