มาตรา 39 ทวิใหม่กับผลกระทบต่อสถาปนิก

28 สิงหาคม 2558

ตามที่ได้รายงานข่าวไปแล้วว่าพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 ประกาศใช้บังคับแล้ว (ข่าว: ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร) เป็นการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ ซึ่งในหลายๆ ประเด็นมีผลกระทบต่อผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม

ประการแรก มาตรา 39 ทวิใหม่ นี้ทำให้ฐานของผู้ออกแบบสำหรับอาคารที่จะใช้วิธีแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ กว้างขึ้นอย่างมาก จากเดิมที่จะต้องเป็นวุฒิสถาปนิก/วุฒิวิศวกรเท่านั้น มาเป็นทุกระดับ โดยกำหนดคุณสมบัติของสถาปนิก/วิศวกรผู้มีสิทธิ์เป็นผู้ออกแบบตามประเภทอาคาร โดยสรุปคือ

ระดับวุฒิ ทุกประเภทอาคาร

ระดับสามัญ งานในวิชาชีพควบคุม ที่ไม่ใช่อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรืออาคารประเภทอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง

ระดับภาคี งานที่ไม่เข้าข่ายเป็นวิชาชีพควบคุม

การแจ้งก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ เป็นกระบวนการที่จะเอื้ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ผู้ประกอบการ ให้สามารถเริ่มต้นก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารได้เร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการมอบภาระรับผิดชอบให้แก่สถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบมากขึ้นด้วย เพราะผู้ออกแบบจะต้องมีความมั่นใจว่าแบบที่ออกแบบไว้นั้นจะไม่มีปัญหาในแง่ของกฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นหลังจากที่เริ่มงานก่อสร้างไปแล้ว หากผู้ออกแบบ ทำงานโดยขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็เสี่ยงที่แบบจะไม่ถูกต้องจนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเจ้าของอาคารกับผู้ออกแบบ รวมถึงการกล่าวหาทางจรรยาบรรณวิชาชีพตามมาอีกด้วย

นอกจากเรื่องคุณสมบัติของสถาปนิก/วิศวกรผู้ออกแบบแล้ว มาตรา 39 ทวิใหม่ ยังได้กำหนดให้มีเอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นของผู้ออกแบบและผู้ควบคุมงานเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ได้แก่

– ต้องมีหนังสือรับรองของผู้ออกแบบเพื่อรับรองว่าเป็นผู้รับผิดชอบการออกแบบอาคาร และการออกแบบอาคารนั้นถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

– ต้องมีหนังสือรับรองของผู้ควบคุมงานเพื่อรับรองว่าจะควบคุมการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารให้ถูกต้องตามแบบและรายการคำนวณที่ได้แจ้งไว้

– หากเป็นอาคารที่กฎหมายกำหนดว่าต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ คนชรา หรือผู้สูงอายุ ตามที่กฎหมายกำหนด (ดู “กฎกระทรวง กำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548“) จะต้องมีการรับรองของผู้ออกแบบเพื่อรับรองการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกนั้นด้วย ดังนั้น ผู้ออกแบบจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) หรือการออกแบบเพื่อผู้พิการหรือทุพพลภาพ คนชรา ผู้สูงอายุ (Accessible Design) และสามารถที่จะรับรองได้ว่าอาคารที่ออกแบบเป็นไปตามกฎหมายหรือมาตรฐานในเรื่องเหล่านี้

– หากเป็นอาคารชนิดหรือประเภทที่กำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบงานออกแบบและคำนวณส่วนต่างๆ ของโครงสร้างอาคารตามมาตรา 21 ทวิ (ดู “กฎกระทรวง กำหนดชนิดหรือประเภทของอาคาร หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตรวจสอบงานออกแบบและคำนวณส่วนต่างๆ ของโครงสร้างอาคาร พ.ศ. 2550“) ต้องมีหนังสือรับรองการตรวจสอบงานออกแบบและคำนวณส่วนต่างๆ ของโครงสร้างอาคาร ซึ่งออกโดยวุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา ซึ่งทีมผู้ออกแบบต้องตระหนักถึงภาระงานที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ด้วย และควรให้เจ้าของอาคารทราบถึงขอบเขตของงานที่เพิ่มขึ้นนี้ตั้งแต่เริ่มต้น

– มาตรา 39 ทวิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนขึ้นว่า กรณีที่เป็นอาคารในโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ต้องยื่นหลักฐานหนังสือแสดงการให้ความเห็นชอบรายงานฯด้วย ดังนั้น การจะแจ้งตามมาตรา 39 ทวิได้ EIA หรือ IEE จะต้องผ่านความเห็นชอบก่อน

– ส่วนกรณีอาคารในโครงการหรือกิจการที่ไม่ต้องจัดทำ EIA หรือ IEE แต่ถ้าเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ (อาคารตาม มาตรา 32(1) กฎกระทรวง กำหนดอาคารประเภทควบคุมการใช้ พ.ศ. 2552 และสถานบริการ) จะต้องมี “หนังสือรับรองจากผู้แจ้ง พร้อมเอกสารและหลักฐานแสดงการให้ข้อมูลและการแจ้งสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นแก่บุคคลที่อยู่บริเวณข้างเคียง เกี่ยวกับการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือการดำเนินโครงการหรือกิจการ”  เอกสารในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของผู้แจ้งคือเจ้าของอาคาร ซึ่งผู้ออกแบบควรให้ข้อมูลแก่เจ้าของอาคารได้รับทราบ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของผู้อยู่อาศัยในบริเวณข้างเคียงสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งเดิมไม่อาจรับรู้และแสดงความคิดเห็นได้เหมือนกับโครงการที่ต้องจัดทำ EIA  ส่วนวิธีการดำเนินการแจ้งสิทธิฯ รูปแบบและเนื้อหาของหนังสือรับรอง จะเป็นอย่างไรคงต้องรอดูความชัดเจนต่อไป

– เอกสารที่ใช้ในการยื่นของผู้ออกแบบและควบคุมงาน นอกจากสำเนาใบอนุญาตแล้ว ยังต้องมี “หนังสือรับรองการได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม/วิศวกรรมควบคุม” ที่ออกโดยสภาสถาปนิก/สภาวิศวกร ด้วย เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหม่และเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสภาวิชาชีพซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือรับรองฯดังกล่าว ทั้งผู้ออกแบบ และผู้ควบคุมงานในโครงการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอน ที่ประสงค์จะใช้วิธีแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ แทนการขออนุญาตปกติ จะต้องยื่นคำร้องต่อสภาสถาปนิก/สภาวิศวกร เพื่อให้ออกหนังสือรับรองเป็นรายโครงการไป

Facebook
Twitter
LinkedIn