หลักเกณฑ์ทั่วไปในการพัฒนาที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม

23 ธันวาคม 2556

การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ทั่วไปในการพัฒนาที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม โดยได้ออก “ประกาศการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ 103/2556 เรื่อง การพัฒนาที่ดินสำหรับผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม” ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2556 และจะเริ่มมีผลใช้บังคับในวันที่ 22 มกราคม 2557 เป็นต้นไป

ประกาศการนิคมอุตสาหกรรมฉบับนี้ ได้ยกเลิกประกาศฉบับเดิม ได้แก่ ประกาศการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ 64/2536 เรื่อง หลักเกณฑ์ทั่วไปในการพัฒนาที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2536 และ ประกาศการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ 95/2538 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการพัฒนาที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม (แก้ไขเพิ่มเติม) ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2538 ตามประกาศฯฉบับนี้ ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินและประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะต้องดูแลรับผิดชอบที่ดินและพัฒนาที่ดินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศฯฉบับนี้

การขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารของผู้ประกอบกิจการเพื่อพัฒนาที่ดินสำหรับประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม ก็จะใช้หลักเกณฑ์ตามประกาศฯฉบับนี้ ประกาศฯฉบับนี้ยังคงมีหลักเกณฑ์ข้อกำหนดต่างๆ ตามประกาศฯฉบับเดิมทั้งหมด แต่ได้ปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมขึ้นหลายอย่าง พอสรุปข้อแตกต่างและเพิ่มเติมได้พอสังเขปดังนี้

1. ที่จอดรถยนต์ – หลักเกณฑ์เดิมไม่ได้กำหนดอัตราของที่จอดรถยนต์ที่จะต้องจัดให้มีเอาไว้ ในประกาศฯฉบับใหม่นี้ได้กำหนดให้มีที่จอดรถยนต์ภายในแปลงที่ดินของตนไม่น้อยกว่า 1 คันต่อพื้นที่อาคาร 240 ตารางเมตร เศษให้คิดเป็น 240 ตารางเมตร

2. การก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร

2.1 ระยะร่นถึงแนวรั้วหรือเขตที่ดินด้านหน้าแปลงที่ดินหรือด้านที่มีทางเข้าออก – ยังกำหนดไว้เช่นเดิม ซึ่งขึ้นกับความสูงของอาคาร แต่ได้กำหนดวิธีคิดความสูงของอาคาร ให้วัดแนวดิ่งจากระดับถนนหรือระดับพื้นดินที่ก่อสร้างขึ้นไปถึงส่วนของอาคารที่สูงที่สุด (เดิมถึงดาดฟ้า) สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด นอกจากนั้น ยังได้เพิ่มข้อยกเว้น จากเดิมซึ่งยกเว้นสำหรับอาคารป้อมยามและหลังคาโรงจอดรถ ให้ก่อสร้างชิดแนวเขตที่ดินได้ ได้เพิ่มการยกเว้นสำหรับ โครงสร้างรองรับท่อ โครงสร้างรองรับหม้อแปลงไฟฟ้า สถานีปรับความดันแก๊สขนาดเล็ก ศาลพระภูมิ และเสาธง ด้วย

2.2 ระยะร่นถึงเขตที่ดินของผู้ประกอบกิจการรายอื่น – ยังกำหนดไว้เช่นเดิม แต่ได้เพิ่มข้อยกเว้นกรณีที่เป็นโครงสร้างรองรับท่อ ให้ก่อสร้างชิดแนวเขตที่ดินได้ แต่ว่าจะต้องไม่เป็นการกีดขวางทางสัญจรเพื่อสะดวกต่อการดับเพลิง

2.3 อาคารอยู่อาศัย อาคารตึกแถว อาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่นอกเขตอุตสาหกรรม ให้มีระยะร่นตามกฎหมายควบคุมอาคาร

3. การก่อสร้างอาคารที่เป็นสำนักงานของผู้ประกอบกิจการ – ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชราด้วย ตามกฎกระทรวงควบคุมอาคาร

4. รั้ว – ที่ตั้งอยู่ติดหรือใกล้กับถนนของนิคมอุตสาหกรรม – เดิมกำหนดให้เป็นรั้วโปร่งสูงได้ไม่เกิน 2.00 เมตรจากระดับทางเท้าหรือถนน ได้เพิ่มให้สามารถทำส่วนล่างเป็นรั้วทึบได้แต่ต้องสูงไม่เกิน 1.20 เมตร และกรณีการก่อสร้างรั้วเพื่อใช้ในการป้องกันอุทกภัยเป็นการเฉพาะ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กนอ. กำหนด

5. การทำทางเข้าออกเชื่อมสู่ถนนสายประธานภายในนิคมอุตสาหกรรม – เว้นแต่ไม่มีทางเข้าออกสู่ถนนสายอื่น เพิ่มยกเว้นมีเหตุความจำเป็นทางด้านวิศวกรรม ซึ่งจะพิจารณาเป็นกรณีไปโดยยึดหลักความปลอดภัยด้านวิศวกรรมเป็นประการสำคัญ

6. ทางเข้าออกสำหรับรถยนต์ – เพิ่มหลักเกณฑ์ว่าจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจรของแปลงที่ดินข้างเคียงของผู้ประกอบกิจการรายอื่น และกรณีมีมากกว่าหนึ่งทาง จะต้องมีระยะจากจุดศูนย์กลางห่างกันไม่น้อยกว่า 60.00 เมตร เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นและไม่สามารถปฏิบัติได้ ทั้งนี้ กนอ.จะอนุญาตให้ก่อสร้างทางเข้าออกได้เฉพาะภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น

7. ทางเข้าออกสำหรับรถยนต์ – สำหรับแปลงที่อยู่บริเวณมุมทางร่วมทางแยก ต้องห่างจากจุดเริ่มต้นโค้งหรือหักมุมของขอบทางร่วมหรือขอบทางแยกถึงแนวศูนย์กลางปากทางเข้าออกรถยนต์ ไม่น้อยกว่า 40.00 เมตร เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นและไม่สามารถปฏิบัติได้ เพิ่ม แต่ทั้งนี้จะต้องมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 20.00 เมตร และจะต้องไม่อยู่บนเชิงลาดสะพาน และต้องห่างจากจุดสุดเชิงลาดสะพานไม่น้อยกว่า 50.00 เมตร

8. ระะระบายน้ำเสีย – ต้องก่อสร้างเป็นระบบปิด และต้องจัดให้มีบ่อตรวจคุณภาพน้ำเสีย พร้อมประตูน้ำปิด-เปิดซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ตลอดเวลาก่อนที่จะระบายน้ำเสียลงสู่ระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของนิคมอุตสาหกรรม

9. การถมดิน – การถมดินทั่วไป จะต้องไม่สูงกว่าระดับถนนหน้าแปลงที่ดินหรือระดับทางเท้าด้านหน้าแปลงที่ดิน

10. การถมดิน – หากความสูงของเนินดินเกินระดับที่ดินของผู้ประกอบกิจการที่อยู่ข้างเคียง ต้องจัดให้มีการระบายน้ำเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความเสียหายแก่ผู้ประกอบกิจการหรือบุคคลอื่นที่อยู่ข้างเคียง

11. การปลูกต้นไม้ยืนต้น – ไม่น้อยกว่า 1 ต้นต่อพื้นที่ 1 ไร่ (เดิม 1 ต้นต่อพื้นที่ 2 ไร่) และความสูงของต้นไม้ต้องไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร

12. การก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารสำหรับการประกอบกิจการหรือการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

ดาวน์โหลดประกาศ

Facebook
Twitter
LinkedIn