เสนอสภาแก้ข้อบัญญัติ กทม. สร้างตึกสูงรอบสวนหลวง ร.9-เพิ่มประโยชน์ รับอยู่อาศัย

จาก น.ส.พ.ไทยรัฐ วันที่ 9 ก.ค. 2558

วันที่ 8 ก.ค. 58 ที่ศาลาว่าการ กทม. ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ เป็นประธานการประชุมสภา กทม. สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 ครั้งที่ 2 ประจำปี 2558 โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. คณะผู้บริการ กทม. สมาชิกสภา กทม. และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมที่ประชุมได้มีการพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร บางชนิดหรือบางประเภทบริเวณโดยรอบสวนหลวง ร.9 ในท้องที่เขตประเวศ กทม.ฉบับที่…พ.ศ…. โดย ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า เนื่องจากข้อบัญญัติ กทม. ในการห้ามก่อสร้าง ดัดแปลงการใช้อาคารบางประเภทบริเวณโดยรอบสวนหลวง ร.9 เป็นข้อบัญญัติที่ได้บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งในขณะนั้น กทม.ยังไม่มีผังเมืองรวมบังคับใช้ แต่เมื่อมีการประกาศใช้กฎกระทรวงผังเมืองรวมแล้ว ทำให้มีข้อกำหนดทางกฎหมายในการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของเมือง อีกทั้งในปัจจุบันสภาพเมืองบริเวณดังกล่าวมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ กทม.จึงได้ยื่นแก้ไขข้อบัญญัติดังกล่าว เพื่อผ่อนปรนการใช้ที่ดิน และกำหนดมาตรการในการรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่โดยรอบสวนหลวง ร.9 ให้เหลือในส่วนที่มีความเหมาะสมและจำเป็นอย่างแท้จริง ขณะที่มหานครใหญ่ๆของโลกพื้นที่โดยรอบสวนสาธารณะขนาดใหญ่ได้รับอนุญาตให้สามารถสร้างอาคารสูงได้ ซึ่งอาคารสูงอาจส่งผลต่อสภาพภูมิทัศน์แต่ก็จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตเมืองอย่างคุ้มค่าซึ่งการอนุญาตให้สามารถสร้างอาคารสูงได้ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยและเข้าถึงพื้นที่ได้มากขึ้น

นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ปัจจุบันสวนหลวง ร.9 มีพื้นที่สวนสาธารณะและบึงรับน้ำ รวมกว่า 1,300 ไร่ และปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งมีการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายเส้นทางคมนาคม ซึ่งการแก้ไขร่างข้อบัญญัติการใช้ที่ดินรอบสวนหลวง ร.9 เกิดจากประชาชนได้มีการร้องเรียนขอแก้ไขการใช้ประโยชน์ที่ดิน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีการพัฒนาพื้นที่ถึงขีดสุด ซึ่งข้อกำหนดในปัจจุบันได้กำหนดให้พื้นที่โดยรอบสวนหลวง ร.9 ระยะ 5 ตารางกิโลเมตร สามารถสร้างบ้านเดี่ยวได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในปัจจุบัน สำหรับการแก้ไขข้อบัญญัติเบื้องต้น จะกำหนดระยะในการควบคุมพื้นที่สวนอยู่ที่ประมาณ 300-350 เมตร เพื่อไม่ให้กระทบต่อสภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์โดยรอบ และจะอนุญาตให้อาคารบางประเภทสามารถก่อสร้างได้มากยิ่งขึ้น เช่น บ้านแฝด อาคารอาศัยรวม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้พื้นที่ ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติรับหลักการร่างข้อบัญญัติดังกล่าว และได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติดังกล่าว เพื่อพิจารณารายละเอียดร่างข้อบัญญัติต่อไป.

Facebook
Twitter
LinkedIn