แก้พรบ.ควบคุมอาคาร ให้สามารถยกเว้น ผ่อนผัน โครงการสำหรับผู้มีรายได้น้อย

แก้พรบ.ควบคุมอาคาร ให้สามารถยกเว้น ผ่อนผัน โครงการสำหรับผู้มีรายได้น้อย

16 ต.ค. 2550

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 16 ต.ค. 2550 เป็นการเพิ่มความในมาตรา 7 ซึ่งเป็นมาตราที่ให้อำนาจรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง เพื่อยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งเดิมกำหนดให้ทำได้สำหรับอาคาร 7 ประเภท โดยเพิ่มประเภทที่ 8 ขึ้นคือ

“(8) อาคารที่กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ จัดให้มีหรือพัฒนาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ ต้องมิใช่การยกเว้นหรือผ่อนผันเงื่อนไขเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของอาคารหรือความปลอดภัยของผู้ซึ่งอยู่อาศัยหรือใช้อาคาร”

เหตุผลในการออกกฎหมายเพิ่มเติมในครั้งนี้ ได้อ้างถึงนโยบายของรัฐบาลในอันที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนและขยายโอกาสให้คนยากจนและคนด้อยโอกาส ซึ่งมีนโยบายประการหนึ่งคือ การส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัย รวมทั้งได้รับการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ สามารถดำเนินการจัดให้มีหรือพัฒนาที่อยู่อาศัยต้นทุนต่ำสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้โดยไม่มีปัญหาอุปสรรคในด้านการขออนุญาตก่อสร้าง หรือด้านข้อกำหนดมาตรฐานอาคารในบางเรื่อง เช่น ระยะถอยร่น เนื้อที่ของที่ว่างภายนอกอาคาร ระยะห่างจากแนวเขตที่ดิน เป็นต้น จึงต้องออกกฎหมายให้สามารถออกกฎกระทรวง เพื่อยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารบางประการ

ถ้าหากย้อนกลับไปดูโครงการสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่เกิดขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา นอกจากโครงการบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติแล้วยังมีโครงการอื่น เช่น โครงการบ้านมั่นคง ของ พอช.  โครงการเหล่านี้พัฒนาขึ้นโดยต้องการให้มีความสอดคล้องกับฐานะทางเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย และด้วยเงื่อนไขจำกัดของที่ตั้งโครงการ ขนาดแปลงที่ดิน ฯลฯ หลายๆ กรณีจึงไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามกฎหมายที่มีอยู่ได้ทั้งหมด บางเรื่องได้มีการแก้ไขกฎหมาย เช่นการออกประกาศกระทรวงเพื่อยกเว้นให้โครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แต่บางเรื่องอย่างเรื่องการควบคุมอาคารก็ยังไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมายเสียก่อน จึงมีโครงการบางโครงการที่ได้ทำผิดข้อกำหนดตามกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น และบางกรณีทำให้เกิดปัญหายืดเยื้อกับเจ้าพนักงานท้องถิ่นขึ้นก็มี การแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมอาคารในครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มแรกในการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดกฎหมายควบคุมอาคารของโครงการสำหรับผู้มีรายได้น้อยของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเคยจัดทำกันอย่างรีบเร่งจนอาจละเลยกฎหมายในช่วงที่ผ่านมา และก็คงจะตามมาด้วยการออกกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นในเรื่องข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

 

Facebook
Twitter
LinkedIn