สผ.ขีดเส้นคอนโด4พันตร.ม.ทำอีไอเอ

สผ.ขีดเส้นคอนโด4พันตร.ม.ทำอีไอเอ

[ฐานเศรษฐกิจ 26-28 ก.พ. 2552]

สผ.ปิดช่องมาตรา 39 ทวิ ควบคุมอาคาร ขีดเส้น คอนโดฯ-โรงแรม อาพาร์ตเมนต์ 4,000 ตารางเมตร หรือ 80 ห้องขึ้นไป ต้องทำ EIA รวมถึงอาคารสูงเกิน 23 เมตร 10,000 ตร.ม. จัดสรร 250 แปลง อยู่ในข่ายด้วย ยันอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ประกาศใช้แน่ ไม่สนเอกชนค้าน

แหล่งข่าวจาก สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในอีก 1-2 เดือนนับจากนี้ สผ. เตรียมบังคับใช้ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับขนาดและประเภทของอาคารโครงการที่พักอาศัย โรงแรมรีสอร์ต ที่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ทั้งนี้สาระสำคัญ กำหนดให้โครงการ หรือ กิจการ ประเภทบ้านจัดสรรขนาด 100 ไร่ขึ้นไป หรือ 250 แปลงขึ้นไป , อาคารพาณิชย์ อพาร์ตเมนต์ อาคารชุด โรงแรม ขนาด 80 ห้อง หรือ ตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป ,อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร หรือ อาคารสูง 23 ชั้น และมีขนาดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องขออนุญาตจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอ จากสผ. จากเดิมที่กำหนดให้ ห้องชุด 80 ห้องขึ้นไป และบ้านจัดสรร 500 แปลง หรือ 100 ไร่ ขึ้นไปต้องทำอีไอเอ เท่านั้น

อย่างไรก็ดี สผ.ต้องการแก้ปัญหาโครงการเลี่ยง อีไอเอ โดยเฉพาะอาคารชุดที่ชอบขออนุญาตก่อสร้างโดยใช้มาตรา 39 ทวิ ตามกฎหมายควบคุมอาคาร (ก่อสร้างได้ทันทีหลังยื่นแจ้งต่อเจ้าพนักงาน) ไม่เกิน 79 ห้อง และเมื่อก่อสร้างไปแล้วช่วงหนึ่ง จึงยื่นขอแก้ไขแบบเพิ่มจำนวนห้อง จากหน่วยงานทิ้งถิ่นไปพร้อมๆกับ ยื่นขออนุญาตอีไอเอ ภายหลัง ทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยเฉพะผู้บริโภคที่ ซื้อโครงการไปแล้วแต่กลับโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้ หรือไม่ได้ห้องชุดเนื่องจาก ติดอีไอเอและต้องเฉือนพื้นที่ขายเป็นพื้นที่ว่าง ฯลฯ

ซึ่งมั่นใจว่า อนาคตหากประกาศมีผลบังคับใช้ จะแก้ปัญหา การนำมาตรา 39 ทวิมาใช้ในทางที่ผิด ได้ แต่ทั้งนี้ สำหรับโครงการบ้านจัดสรรอาจมีวิธีหลบเลี่ยง อาทิ พัฒนาคราวละ 249 แปลง หรือไม่เกิน 250 แปลง ซึ่งทางปฏิบัติก็สามารถกระทำได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย สวล.

ด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า มีผลกระทบแน่ทุกโครงการไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม รวมถึงอพาร์ตเมนต์ จะเข้าข่ายต้องทำอีไอเอ ทั้งหมดโดยเฉพาะ อาคารชุด ไม่มีบริษัทไหน ทำต่ำกว่า 4,000 ตารางเมตร เพราะไม่คุ้มกับราคาที่ดินและการลงทุน ส่งผลให้อนาคต งานอีไอเอทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่พิจารณามีเท่าเดิม ส่งผลให้เกิดความล่าช้า และทำให้ราคาบ้านและ คอนโดมิเนียมแพงขึ้น

เช่นเดียวกับ นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ อุปนายกสมาคมอาคารชุดไทย และประธานกรรมการ บริษัทนิรันดร์ เรสซิเด้นท์ จำกัด กล่าวว่า งานของ สผ.จะเพิ่มจากเดิม 5 เท่า จากปัจจุบันมีโครงการค้างการพิจารณา อีไอเอ กว่า 200 โครงการ ทำให้ล่าช้ากว่าเดิม และส่งผลให้มาตรา 39 ทวิ ไม่มีผลในทางปฏิบัติ ทั้งที่ เป็นกฎหมายที่ดี ผู้ประกอบการสามารถนำไปขออนุญาตเพื่อความรวดเร็วของการประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ดีมองว่า ในอนาคต หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้จะทำให้ผู้ประกอบการรายกลาง-เล็กล้มหายตายจาก เหลือแต่รายใหญ่ที่ผูกขาดตลาด ทั้งที่ ถูกซ้ำเติมจากวิกฤติเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้

 

Facebook
Twitter
LinkedIn