ประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ เรื่องการทำ EIA+HIA

ประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ เรื่องการทำ EIA+HIA

29 ธ.ค. 2552

หลังจากที่ได้เกิดกรณีมาบตาพุดขึ้น จนกระทั่งศาลปกครองได้ตัดสินให้ระงับโครงการเป็นจำนวนมากที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง และทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องทบทวน และปรับปรุงแก้ไขกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ครอบคลุมไปถึงด้านสุขภาพด้วย (HIA)

เนื่องจากการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากการจัดทำรายงานฯสำหรับโครงการหรือกิจการทั่วๆ ไป อีกทั้งเพื่อให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 อย่างครบถ้วน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯจึงได้ออกประกาศกระทรวงฯ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำ “รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ” ขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2552 มีสาระสำคัญคือ

1. โครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ได้แก่
1.1 โครงการหรือกิจการที่จะได้มีการประกาศกำหนดตามประกาศฉบับนี้ หรือตามกฎหมายอื่น ว่าเป็นโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ
1.2 โครงการหรือกิจการที่ได้รับข้อร้องเรียนว่าอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ และคณะอนุกรรมการวินิจฉัยข้อร้องเรียนฯ ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งขึ้นได้วินิจฉัยภายใน 30 วันแล้วว่าโครงการหรือกิจการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ

2. โครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงจะต้อง
2.1 จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ – โดยจะต้องจัดทำโดยผู้ที่ได้รับอนุญาตและได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หรือผู้มีสิทธิจัดทำรายงานที่ได้รับอนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น
2.2 จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย – โดยเมื่อผู้ชำนาญการฯเห็นชอบกับรายงานฯแล้ว ให้ สผ.จัดส่งผลการพิจารณานั้นให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบหรือผู้อนุญาตโครงการจัดให้มีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นฯ
2.3 ให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการ – โดยเมื่อผู้ชำนาญการฯได้ให้ความเห็นชอบรายงานฯแล้ว ให้ สผ. จัดส่งรายงานพร้อมความเห็นของผู้ชำนาญการฯและสรุปสาระสำคัญของมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบ
2.4 ถ้าหากเป็นโครงการหรือกิจการที่ต้องเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้ สผ. เสนอ ความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ความเห็นขององค์การอิสระ และรายงานการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย

3. เอกสารท้ายประกาศฯฉบับนี้ ประกอบด้วย
ก. แนวทางการจัดทำรายงานฯ
ข. แนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ
ค. แนวทางการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย
ง. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียของหน่วยงานอนุมัติหรือหน่วยงานอนุญาต

Facebook
Twitter
LinkedIn