กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล พัทยา

กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล พัทยา

6 ส.ค. 2553
 
                ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออก “ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2553” เพื่อใช้แทนฉบับเดิม พ.ศ. 2546 ที่จะหมดอายุลงในเดือน กันยายน 2553 ประกาศฉบับนี้ได้กำหนดอายุใช้บังคับ 5 ปี คือตั้งแต่ 31 ก.ค. 2553 ถึง 30 ก.ค. 2558 มีการปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมข้อกำหนดในรายละเอียดต่างๆ หลายอย่างพอสรุปในส่วนที่น่าสนใจได้ดังนี้
 
การแบ่งบริเวณ
                ประกาศฯฉบับใหม่นี้ยังคงแบ่งออกเป็น 2 บริเวณใหญ่ๆ เช่นเดิม คือ บริเวณที่ 1 พื้นที่บนแผ่นดินใหญ่ และบริเวณที่ 2 พื้นที่น่านน้ำทะเล อย่างไรก็ตาม ในบริเวณที่ 1 นั้น มีการกำหนดข้อบังคับที่แยกย่อยแตกต่างจากเดิม โดยจะมีทั้งระยะที่วัดจากทะเล ความลาดชัน ฟากฝั่งถนนสุขุมวิท และระยะจากคลอง
 
พื้นที่ที่ห้ามก่อสร้างใดๆ
                ในประกาศกระทรวงฯฉบับนี้ ได้กำหนดพื้นที่ที่ห้ามการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ใดๆ ได้แก่ พื้นที่ในระยะ 6 เมตรจากริมคลองขนาดกว้างตั้งแต่ 10 เมตร, พื้นที่ในระยะ 3 เมตรจากริมคลองขนาดกว้างน้อยกว่า 10 เมตร, และพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 50
 
การก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม
                ยังคงห้ามก่อสร้างฯ อาคารประเภทโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีข้อกำหนดยกเว้น คือ อนุญาตโรงงานตามบัญชี 1 ท้ายประกาศฯ หรือโรงงานที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวมเมืองพัทยา ในพื้นที่ฟากตะวันออกของถนนสุขุมวิท
 
100 เมตรแรกจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
                โปรดสังเกตว่า ในกรณีของพัทยานี้ กำหนดระยะ 100 เมตร ไม่ได้วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเช่นเดียวกับประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ ฉบับอื่นๆ แต่เป็นการกำหนดระยะวัดจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งได้กำหนดเช่นนี้มาก่อนแล้วในประกาศฯฉบับที่ยกเลิกไป
                อย่างไรก็ตาม มีข้อกำหนดสำหรับพื้นที่ในระยะ 20 เมตรแรกจากแนวชายฝั่งทะเล (แนวที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด ตามปกติธรรมชาติ) กำหนดไม่ให้มีการก่อสร้างใดๆ เว้นแต่ อาคารที่เป็นองค์ประกอบของระบบสาธารณูปโภค หรือเพื่อรักษาความปลอดภัยหรืออำนวยความสะดวกสำหรับการท่องเที่ยว และโครงสร้างเสาสัญญาณเตือนภัย โดยมีหลักเกณฑ์บางประการในเรื่องความสูง พื้นที่อาคาร พื้นที่คลุมดิน และสัดส่วนที่ว่าง
                 ในพื้นที่ส่วนที่เหลือจนถึงระยะ 100 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อาคารต้องมีความสูงไม่เกิน 14 เมตร และมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของแปลงที่ดินที่ขออนุญาต
 
ข้อกำหนดตามความลาดชันของพื้นที่
                นอกจากที่ได้กำหนดห้ามก่อสร้างใดๆ ในพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินร้อยละ 50 แล้ว ประกาศฯฉบับนี้ ยังมีข้อกำหนดเฉพาะในพื้นที่ที่มีความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ 20-35 กับพื้นที่ที่มีความลาดชันร้อยละ 35-50 ด้วย ซึ่งแต่เดิมไม่มี
                ในพื้นที่ความลาดชันร้อยละ 20-35 อาคารที่สร้างได้ จะต้องสูงไม่เกิน 12 เมตร ขนาดแปลงที่ดินมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 100 ตร.วา มีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน 90 ตร.ม. และมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ส่วนพื้นที่ที่มีความลาดชันร้อยละ 35-50 อาคารที่สร้างได้ จะต้องสูงไม่เกิน 12 เมตรเช่นกัน แต่ขนาดแปลงที่ดินมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 120 ตร.วา มีพื้นที่อาคารคลุมดินต่อหลังไม่เกิน 80 ตร.ม. และมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75
 
พื้นที่สีเขียว
                ประกาศฯฉบับนี้ ได้กำหนดเรื่องพื้นที่สีเขียวเอาไว้ด้วย โดยระบุไว้สำหรับพื้นที่ที่มีความลาดชันร้อยละ 20-50 ว่าจะต้องมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อยร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่างที่ต้องจัดให้มีตามข้อกำหนด โดยจะต้องใช้ไม้ยืนต้นท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลักด้วย
 
หลักเกณฑ์การวัดความสูง
                ประกาศฯฉบับนี้ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การวัดความสูงไว้ชัดเจนขึ้นด้วยเช่นเดียวกับในประกาศฯฉบับอื่นอีก 3 ฉบับที่ออกใช้บังคับพร้อมกัน (กรุณาดูในข่าวประกาศฯของจังหวัดกระบี่)

 

 

Download link

 

Facebook
Twitter
LinkedIn