กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จังหวัดกระบี่

กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จังหวัดกระบี่

6 ส.ค. 2553
 
                ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออก “ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2553” เพื่อใช้แทนฉบับเดิม พ.ศ. 2546 ก่อนที่จะหมดอายุลงในเดือน กันยายน 2553 ประกาศฉบับนี้ได้กำหนดอายุใช้บังคับ ตั้งแต่ 31 ก.ค. 2553 ถึง 26 มี.ค. 2555 (ตรงกับวันหมดอายุของประกาศกระทรวงอีกฉบับหนึ่งที่มีพื้นที่ในเขตจังหวัดกระบี่เช่นเดียวกัน) มีเขตพื้นที่ใช้บังคับคงเดิมเหมือนในฉบับ พ.ศ. 2546 แต่ในเรื่องของการกำหนดแยกบริเวณและข้อกำหนดในรายละเอียดต่างๆ มีการปรับปรุงแก้ไขหลายอย่าง พอสรุปในส่วนที่น่าสนใจได้ดังนี้
 
การกำหนดบริเวณ
                เดิมกำหนดไว้แบ่งเป็น 5 บริเวณ บริเวณที่ 1 ถึง 4 เป็นพื้นที่บนแผ่นดินใหญ่ ส่วนบริเวณที่ 5 เป็นพื้นที่ในเกาะต่างๆ สำหรับในประกาศกระทรวงฯฉบับใหม่นี้ ได้แบ่งออกเป็น 4 บริเวณ ได้แก่ บริเวณที่ 1 คือพื้นที่บนแผ่นดินใหญ่, บริเวณที่ 2 คือพื้นที่เกาะพีพีดอน, บริเวณที่ 3 คือพื้นที่เกาะอื่นๆ และบริเวณที่ 4 เป็นส่วนที่อยู่ในน่านน้ำทะเล
                บริเวณที่ 1 ยังแยกออกเป็น 4 บริเวณย่อย ได้แก่ บริเวณที่ 1(ก) ถึง 1(ง) ซึ่งก็คือบริเวณที่ 1 ถึง 4 เดิม และบริเวณที่ 3 ใหม่ก็คือบริเวณที่ 5 เดิมนั่นเอง ส่วนบริเวณที่ 2 ใหม่เป็นการแยกเกาะพีพีดอนออกมาเป็นบริเวณต่างหาก และยังแบ่งออกเป็น 2 บริเวณย่อย คือ บริเวณที่ 2(ก) สำหรับพื้นที่ในระยะวัดจากชายฝั่งทะเล 50 เมตร และ 2(ข) สำหรับพื้นที่ที่เหลือของเกาะพีพีดอน
                สำหรับบริเวณย่อยของบริเวณที่ 1 จะกำหนดเริ่มตั้งแต่ ระยะ 50 เมตรจากแนวชายฝั่งทะเล เป็นบริเวณที่ 1(ก), ระยะ 150 เมตรถัดไปเป็น บริเวณที่ 1(ข), ระยะที่เหลือในพื้นที่บังคับใช้ตามประกาศฯ เป็นบริเวณที่ 1(ค) ทั้งสามบริเวณย่อยนี้ถือเอาเฉพาะพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางน้อยกว่า 40 เมตร หากมีความสูงจากน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 40 เมตรขึ้นไปจะถือเป็นบริเวณที่ 1(ง)
 
ข้อกำหนดตามความลาดชัน
                ในประกาศกระทรวงฯฉบับใหม่นี้ ได้แบ่งข้อกำหนดออกเป็นส่วนๆ ตามความลาดชันของพื้นที่ด้วยสำหรับบริเวณที่ 1 และบริเวณที่ 2 โดยในบริเวณที่ 1 แบ่งเป็น ความลาดชันไม่เกินร้อยละ 20, เกินกว่าร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 35, เกินกว่าร้อยละ 35 ถึงร้อยละ 50 และเกินกว่าร้อยละ 50 ส่วนบริเวณที่ 2 จะมีข้อกำหนดทั่วไปสำหรับทุกความลาดชันในชั้นแรก และข้อกำหนดเฉพาะสำหรับความลาดชันตั้งแต่ร้อยละ 15 ถึงร้อยละ 35, เกินกว่าร้อยละ 35 ถึงร้อยละ 50 และเกินกว่าร้อยละ 50 ตามลำดับ
                ในพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 50 และในพื้นที่ในระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่เกิน 30 เมตร ไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างใดๆ เว้นแต่ บริเวณที่ 2(ก) เฉพาะพื้นที่บริเวณท่าเรืออ่าวต้นไทรเท่านั้น ที่อาจจะก่อสร้างหรือดัดแปลงเพื่อทดแทนอาคารเดิมที่ได้รับความเสียหายจากธรณีพิบัติภัยเมื่อปลายปี 2547 ได้ แต่จะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศฯฉบับนี้
                สำหรับพื้นที่ความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 35 แต่ไม่เกินร้อยละ 50 ให้ก่อสร้าง ดัดแปลง ได้เฉพาะอาคารอยู่อาศัยที่เป็นอาคารเดี่ยว มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร สำหรับบริเวณที่ 1 และสูงไม่เกิน 8 เมตร สำหรับบริเวณที่ 2 นอกจากนี้ยังกำหนดขนาดแปลงที่ดินต่ำสุดที่จะยื่นขออนุญาต จะต้องไม่น้อยกว่า 120 ตร.วา มีพื้นที่อาคารต่อหลังไม่เกิน 80 ตร.ม. และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของแปลงที่ดินที่ขออนุญาตด้วย
                สำหรับความลาดชันที่เกินกว่าร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 35 ในบริเวณที่ 1 หรือ ตั้งแต่ร้อยละ 15 ถึงร้อยละ 35 ในบริเวณที่ 2 ก็ให้ก่อสร้าง ดัดแปลง ได้เฉพาะอาคารอยู่อาศัยที่เป็นอาคารเดี่ยวเช่นกัน แต่กำหนดเรื่องความสูงไว้อยู่ระหว่าง 6 ถึง 12 เมตร แตกต่างกันไปในแต่ละบริเวณย่อย ได้แก่ สูงไม่เกิน 6 เมตรสำหรับบริเวณที่ 1(ข) และ 1(ค), ไม่เกิน 8 เมตรสำหรับบริเวณที่ 2 และไม่เกิน 12 เมตรสำหรับบริเวณที่ 1(ก) และ 1(ง) ข้อกำหนดที่เหมือนๆ กันของทั้ง 2 บริเวณที่มีความลาดชันในระดับนี้ คือ กำหนดขนาดแปลงที่ดินต่ำสุดที่จะยื่นขออนุญาต ต้องไม่น้อยกว่า 100 ตร.วา มีพื้นที่อาคารต่อหลังไม่เกิน 90 ตร.ม. และมีพื้นที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของแปลงที่ดินที่ขออนุญาต นอกจากนั้น สำหรับบริเวณที่ 2 ยังกำหนดให้ต้องมีระยะห่างจากอาคารข้างเคียงไม่น้อยกว่า 4 เมตรด้วย
                สำหรับพื้นที่ที่มีความลาดชันไม่เกินร้อยละ 20 ในบริเวณที่ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับประกาศฯฉบับเดิม พบว่ามีข้อกำหนดที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมคือ เดิมให้มีระยะห่างจากแนวชายฝั่งไม่น้อยกว่า 20 เมตร ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 30 เมตร, บริเวณที่ 1(ข) เดิมกำหนดให้มีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60, บริเวณที่ 1(ค) เดิมกำหนดให้สูงไม่เกิน 16 เมตร ปรับลดลงเหลือไม่เกิน 12 เมตร และให้มีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40
 
ประเภทอาคาร
                ในส่วนของประเภทอาคารที่ไม่ให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้ รวมทั้งข้อกำหนดยกเว้น ยังคงเหมือนเดิมเป็นส่วนใหญ่ ที่เปลี่ยนแปลง เช่น สุสาน ซึ่งยอมให้สร้างได้เฉพาะกรณีที่ของเดิมใช้ประโยชน์เต็มพื้นที่แล้ว โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องอยู่ห่างจากแนวชายฝั่งไม่น้อยกว่า 1 กม. และห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะหรือเพื่อการบริโภคไม่น้อยกว่า 300 เมตร, โรงฆ่าสัตว์ไม่มีข้อกำหนดห้าม, ห้ามอาคารที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ โดยยกเว้น สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง, สถานีบริการก๊าซ, ร้านจำหน่ายก๊าซ, และสถานที่ที่ใช้ก๊าซ
                สำหรับอาคารอยู่อาศัย เฉพาะในบริเวณที่ 2(ก) หรือภายในระยะ 50 เมตรจากชายฝั่งทะเลของเกาะพีพีดอน จะต้องมีลักษณะเป็นอาคารเดี่ยว สูงไม่เกิน 9 เมตร และมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ส่วนบริเวณที่ 2(ข) ยอมให้ทำบ้านแถวได้ด้วย แต่ทั้งนี้จะต้องมีความยาวแต่ละแถวไม่เกิน 25 เมตร และจัดให้มีที่ว่างระหว่างแถวไม่น้อยกว่า 5 เมตร และต้องไม่เข้าข่ายการจัดสรรที่ดิน ข้อกำหนดความสูงในบริเวณที่ 2(ข) ยังคงไม่เกิน 9 เมตร และต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
                ในส่วนของพื้นที่บนแผ่นดินใหญ่ สามารถที่จะก่อสร้าง ห้องแถว ตึกแถว หรือบ้านแถว ได้ในบริเวณที่ 1(ค) โดยจะต้องมีความยาวแต่ละแถวไม่เกิน 25 เมตร และจัดให้มีที่ว่างระหว่างแถวไม่น้อยกว่า 5 เมตร
 
ข้อกำหนดสำหรับบริเวณที่ 3
                ในบริเวณที่ 3 บนพื้นที่เกาะต่างๆ นอกเหนือจากเกาะพีพีดอน จะมีข้อกำหนดโดยทั่วไปเช่นเดียวกับบริเวณที่ 1(ก) กรณีความลาดชันไม่เกินร้อยละ 20 แต่สำหรับบริเวณที่ 3 จะมีข้อกำหนดเดียวกันสำหรับทุกความลาดชัน
 
พื้นที่สีเขียว
                ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฉบับนี้ ได้กำหนดเรื่องพื้นที่สีเขียวเอาไว้ด้วย โดยระบุไว้สำหรับบริเวณที่ 1 และบริเวณที่ 2 ว่าจะต้องมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อยร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่างที่ต้องจัดให้มีตามข้อกำหนด โดยจะต้องใช้ไม้ยืนต้นท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลักด้วย
 
หลักเกณฑ์การวัดความสูง
                ประกาศฯฉบับนี้ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การวัดความสูงไว้ชัดเจนขึ้นด้วย โดยให้ถือระดับพื้นดินที่ก่อสร้างเป็นหลัก เว้นแต่กรณีมีการปรับระดับพื้นดินจนเท่ากับหรือสูงกว่าถนนสาธารณะ ก็จะให้วัดจากระดับถนนสาธารณะแทน ส่วนกรณีของการก่อสร้างบนเชิงลาดแนวเชิงเขา ให้วัดที่จุดที่ต่ำที่สุดของอาคารหลังนั้น การวัดความสูงจะวัดจนถึงจุดที่สูงที่สุดของอาคาร เว้นแต่เป็นอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาก็ให้วัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด
 
การจัดทำ IEE หรือ EIA
                สำหรับประเภทอาคารหรือประเภทโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) หรือ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก็ได้ปรับเปลี่ยนไปตามเกณฑ์ในประกาศกำหนดประเภทโครงการที่ได้ออกมากก่อนหน้าแล้ว เช่น กรณี โรงแรมหรือที่พักตากอากาศ หรืออาคารอยู่อาศัยรวม ก็ได้เพิ่มเกณฑ์พื้นที่ใช้สอยรวมตั้งแต่ 500 แต่ไม่ถึง 4,000 ตร.ม. สำหรับการต้องจัดทำ IEE และ 4,000 ตร.ม. ขึ้นไป สำหรับการต้องจัดทำ EIA, การจัดสรรที่ดิน ผ่อนคลายลงจากเกณฑ์ไม่เกิน 99 แปลงหรือต่ำกว่า 19 ไร่ จะต้องจัดทำ IEE เป็นไม่เกิน 250 แปลงหรือต่ำกว่า 100 ไร่ หากเกินกว่านี้ก็ต้องจัดทำ EIA และในประกาศฯฉบับนี้ ไม่ได้กำหนดว่า อาคารสูงจะต้องทำ EIA เช่นเดิม เนื่องจากทุกบริเวณตามประกาศฯฉบับนี้ ให้ก่อสร้างได้สูงไม่เกิน 12 เมตรอยู่แล้ว
                อีกอย่างหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ กิจการที่มีการนำเอาบ้านพักอาศัย ห้องแถว ตึกแถว หรือบ้านแถว 10-79 หลัง/ห้อง ที่อยู่ในที่ดินแปลงเดียวกันหรือติดต่อกัน มาจัดให้บริการในรูปของสถานที่พักลักษณะโรงแรม ก็จะต้องจัดทำ IEE และหากจำนวนหน่วยมากกว่านั้นก็จะต้องจัดทำ EIA
 
ข้อกำหนดควบคุมชายฝั่งทะเลจังหวัดกระบี่
                ประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ออกมาใช้บังคับแทนฉบับเดิมซึ่งออกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 และมีการแก้ไขปรับปรุงและขยายระยะเวลาบังคับใช้เรื่อยมา แต่อย่าลืมว่า นอกจากฉบับใหม่นี้แล้ว ยังมีประกาศฯอีกฉบับหนึ่งซึ่งบังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดกระบี่เช่นกัน ซึ่งเมื่อผนวกรวมกันทั้งสองฉบับแล้วจึงจะครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลในจังหวัดกระบี่ไว้ทั้งหมด ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกฎกระทรวงควบคุมอาคาร ซึ่งออกใช้บังคับในปี พ.ศ. 2547 (แก้ไขปรับปรุง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550) ซึ่งจะต้องถูกนำมาพิจารณาร่วมกับประกาศกระทรวงตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้วย ในการตรวจสอบข้อกำหนดต่างๆ สำหรับการก่อสร้างในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดกระบี่จึงจำเป็นจะต้องตรวจสอบให้ครบถ้วนด้วย

 

 

Download link

Facebook
Twitter
LinkedIn