สรุปผลการเสวนาบูรณาการกฎหมายสิ่งอำนวยความสะดวกผู้พิการฯ

สรุปผลการเสวนาบูรณาการกฎหมายสิ่งอำนวยความสะดวกผู้พิการฯ

10 ม.ค. 2554

 

คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรีผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ได้จัดให้มีการเสวนา เรื่อง “การบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้” เมื่อ 29 พ.ย. 2553 ที่ผ่านมา โดยสมาคมฯได้ส่ง นายศักดิ์ชัย ยวงตระกูล เป็นผู้แทนเข้าร่วมการเสวนา

 

การเสวนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ความต้องการ และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายคนพิการ สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจ เพื่อให้สังคมได้รับทราบข้อมูล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักและมีความเข้าใจในการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และเพื่อรวมกำหนดกระบวนขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป

 

การเสวนาครั้งนี้ มีนางยุวดี นิ่มสมบุญ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นประธาน มีนายมณเฑียร บุญตัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา รูปแบบการเสวนาเป็นรูปแบบเวทีโต๊ะกลมโดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน

การเสวนาเกิดขึ้นเนื่องจากได้เล็งเห็นว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการบูรณาการร่วมกัน มีกฎหมายที่อยู่ในความดูแลของ 3 หน่วยงาน ได้แก่
1. กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ. 2548 อยู่ในความดูแลของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกในอาคาร สถานที่ หรือบริการสาธารณะอื่นสำหรับคนพิการ พ.ศ. …. อยู่ในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสำหรับคนพิการในโครงสร้างพื้นฐานและในระบบการขนส่งสาธารณะ พ.ศ. …. ออกตาม พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 37 อยู่ในความดูแลของกระทรวงคมนาคม

 

นอกจากนี้ยังมีคู่มือต่างๆ ที่ได้จัดทำกันขึ้น ทั้งที่ดำเนินการโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สมาคมสถาปนิกสยามฯ และกรมโยธาธิการและผังเมือง (มยผ. 6301) ซึ่งก็ยังไม่มีการบูรณาการร่วมกัน

อีกทั้งพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น ทางเดินเท้าและสวนสาธารณะในปัจจุบันเต็มไปด้วยร้านค้าและสิ่งกีดขวางทางเดินเท้า รวมทั้งมีรถจักรยานยนต์มาขับขี่บนทางเท้า ทำให้ผู้ใช้ซึ่งรวมไปถึงผู้สูงอายุและคนพิการไม่สามารถใช้พื้นที่เหล่านี้ได้โดยสะดวก ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้เพราะสาเหตุหลายประการทั้งในด้านการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ อิทธิพลของคนในพื้นที่ และความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน

ประเด็นหลักๆ จึงมี 2 ประเด็นคือ การที่จะบูรณาการกฎกระทรวงและร่างกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ และปัญหาการใช้พื้นที่สาธารณะของคนทุกคนในสังคม

 

ในประเด็นแรก เนื่องจากกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับมีที่มาต่างกัน และมีองค์กรที่มีภารกิจรองรับต่างกัน การออกกฎกระทรวงทำได้เท่าที่กฎหมายฉบับหลักได้ให้อำนาจไว้ ในชั้นแรกจึงควรมีการพิจารณาไม่ให้มีเนื้อหาที่ขัดกันซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนและมีปัญหาในการตีความของผู้ปฏิบัติ และสรุปว่า

1. ในการจัดทำร่างกฎกระทรวง หรือในกรณีที่มีการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง หน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดประเด็นเนื้อหาไว้กว้างๆ โดยไม่ควรลงในรายละเอียดมากจนเกินไป เพื่อทำให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติหรือการออกคู่มือรองรับการปฏิบัติ และควรตัดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนกันออก และบูรณาการให้กฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับสามารถผนวกรวมสาระสำคัญหรือนำไปประกอบการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างครบถ้วน ทันสมัย และเป็นสากล

2. กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ควรดำเนินการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ หรือดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับนี้ มาดำเนินการจัดทำ “คู่มือการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้” โดยการบูรณาการเนื้อหาสาระสำคัญในกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ และอาจขยายความเพื่อเป็นแนวทางให้ปฏิบัติได้จริง ทั้งด้านการออกแบบที่เป็นธรรม การใช้เทคโนโลยีที่สมเหตุสมผล การนิยามถ้อยคำที่สำคัญ ตัวอย่างแบบมาตรฐานต่างๆ ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ จารีตประเพณี และความต้องการของคนพิการหรือผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านนั้น ๆ และควรระบุข้อผิดพลาดที่พบบ่อย รวมถึงการรวบรวมรายชื่อ ที่อยู่ และลักษณะงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อจัดทำแล้วให้นำเสนอให้องค์กรวิชาชีพและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องรรับรองความถูกต้องเหมาะสม แล้วนำเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติให้ความเห็นชอบหรือนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อสั่งการให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปใช้ควบคู่กับกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับต่อไป

 

สำหรับกฎกระทรวงควบคุมอาคารที่ออกบังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง แจ้งว่า ที่ผ่านมายังไม่ได้รับทราบปัญหาจากการนำกฎกระทรวงฉบับนี้ไปใช้ ดังนั้น หากมีอุปสรรคขัดข้องใดๆ ก็อยากให้มีการรวบรวมและมีหนังสือชี้แจงถึงข้อบกพร่องต่างๆ เพื่อจะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายของกระทรวงเพื่อดำเนินการพิจารณาแก้ไขต่อไป

สำหรับในประเด็นที่สอง ผู้เข้าร่วมเสวนามีความเห็นว่า ควรมีการรณรงค์โดยนำรูปแบบการรณรงค์ที่ได้ผลสำเร็จมาแล้วมาใช้ เช่น การรณรงค์ให้งดสูบบุหรี่ จึงควรประชาสัมพันธ์หรือสร้างความตระหนักรู้แก่สังคมไทยในเรื่องสิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันตามกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกๆ คนสามารถใช้พื้นที่สาธารณะทุกแห่งได้อย่างเท่าเทียมกัน

ผู้เสวนามีความเห็นร่วมกันว่า เสนอให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) สนับสนุนด้านวิชาการในการประชาสัมพันธ์การจัดทำคู่มือให้รู้เท่าทันสิทธิ์ และประชาสัมพันธ์ความตระหนักรู้ในประเด็นสาธารณะ เรื่องสิทธิการใช้พื้นที่สาธารณะของคนทุกคนในสังคมดังกล่าวข้างต้น

Facebook
Twitter
LinkedIn