เอกชนรุมค้าน”ผังเมืองรวมกทม.” ชี้เพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น

เอกชนรุมค้าน”ผังเมืองรวมกทม.” ชี้เพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น

คัดจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 5 กันยายน 2554

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 3 โดยเชิญตัวแทนภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมประมาณ 300 ราย ผู้สื่อข่าวรายงานความคิดเห็นที่น่าสนใจไว้

นายประทีป ตั้งมติธรรม สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ:

ประเด็นการกำหนดขนาดเขตทางขั้นต่ำ 12 เมตรในถนนรอง เห็นว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในขณะนี้ แต่ควรเป็นในอีก 10-12 ปีข้างหน้า หรือควรลดขนาดลงมาให้เหลือขนาดเขตทาง 8 เมตรน่าจะเหมาะสมมากที่สุด

นอกจากนี้ การกำหนดสัดส่วนพื้นที่อาคาร (Floor Area Ratio-F.A.R.) ในหลายพื้นที่ที่มากถึง 10 เท่าถือว่ามากเกินไป น่าจะลดลงเหลือประมาณ 8 เท่าก็พอ มหานครใหญ่ ๆ ทั่วโลกก็ใช้เกณฑ์มาตรฐานนี้อยู่แล้ว

ประเด็นที่อยากให้พิจารณา คือ การกำหนด F.A.R. โบนัส ในรัศมีรถไฟฟ้า 500 เมตร โครงการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่ผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก แต่หากขยายออกไปเป็น 1,000 เมตร เชื่อว่าผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจะเข้าถึงที่อยู่อาศัยในเมืองมากขึ้น

นายธำรงค์ ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย:

ถ้ากำหนดให้มีขนาดเขตทางเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้การพัฒนาโครงการในอนาคตต้องพัฒนาในทำเลติดถนนสายหลักเท่านั้น ส่วนการเข้าไปพัฒนาคอนโดมิเนียมหรืออพาร์ตเมนต์ในถนนซอยไม่สามารถทำได้เลย เหมือนกับเป็นการคุมกำเนิดการพัฒนาโครงการที่อยู่ในถนนซอยไม่ให้เกิดขึ้น

เป็นไปได้หรือไม่ (ที่จะผ่อนปรนให้สามารถพัฒนาโครงการอยู่อาศัยรวมใน)ซอยที่มีเขตทางกว้างไม่ถึง 12 เมตร ให้มีการปรับระยะถอยร่นแบบค่อย ๆ ขยายส่วนอัตราส่วนพื้นที่โล่งต่อพื้นที่อาคารรวม (O.S.R.) อยากให้เพิ่มความสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันจำกัดความสูงอยู่ที่ 23 เมตร

นางสาวณฤดี เคียงศิริ อดีตนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย:

ยังมีหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะที่ดินชานเมืองราคาจะปรับเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้รายได้น้อยและปานกลางไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ เช่น

ที่ดินประเภท “ย.1” ปกติพัฒนาบ้านเดี่ยว 50 ตารางวาขึ้นไป แต่ผังใหม่เพิ่มเป็น 100 ตารางวา ต้นทุนที่ดินเพิ่มเป็น 1.5 ล้านบาท
“ย.2” สร้างทาวน์เฮาส์ 50 ตารางวาขึ้นไปได้ ซึ่งขนาดปกติ 16 ตารางวา ราคาที่ดินอยู่ที่ 480,000 บาท/ตารางวา ผังใหม่จะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านบาท
“ก.1” ที่ดินอนุรักษ์และเกษตรกรรม สร้างบ้านเดี่ยว 1,000 ตารางวาขึ้นไป (2.5 ไร่) ทำให้ราคาที่ดินเพียงอย่างเดียวในการสร้างบ้านพุ่งขึ้นเป็น 30 ล้านบาท

Facebook
Twitter
LinkedIn