หลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนที่ปรึกษาไทย

หลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนที่ปรึกษาไทย

30 ก.ย. 2554

กระทรวงการคลังออก “ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนที่ปรึกษาไทย พ.ศ. 2554” เพื่อให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับทะเบียนที่ปรึกษาไทยที่เหมาะสม ชัดเจน และถือปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

สืบเนื่องจากที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 กำหนดให้มีศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาที่ปรึกษาไทย และให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย

ปัจจุบัน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รับจดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทย ทั้งที่ปรึกษาอิสระและที่ปรึกษานิติบุคคลใน 15 สาขา ได้แก่ สาขาเกษตรและพัฒนาชนบท สาขาอุตสาหกรรมก่อสร้าง สาขาการศึกษา สาขาพลังงาน สาขาสิ่งแวดล้อม สาขาการเงิน สาขาสาธารณสุข สาขาอุตสาหกรรม สาขาประชากร สาขาการสื่อสารโทรคมนาคม สาขาการท่องเที่ยว สาขาคมนาคมขนส่ง สาขาพัฒนาเมือง สาขาการประปาและสุขาภิบาล และสาขาเบ็ดเตล็ด ที่ปรึกษาไทยที่ได้รับการจดทะเบียนจะมีข้อมูลแสดงอยู่ในระบบสารสนเทศและทะเบียนที่ปรึกษาไทย ซึ่งจะเผยแพร่แก่หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และประชาชนโดยทั่วไป

ประกาศฉบับนี้แบ่งที่ปรึกษาไทยออกเป็น 2 ประเภท คือ ที่ปรึกษาอิสระ และ ที่ปรึกษานิติบุคคล แต่ละประเภทจะมี 2 ระดับ คือ ระดับ A และระดับ B โดยระดับ A จะต้องมีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาหรือจัดตั้งเป็นนิติบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีประสบการณ์โครงการที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ไม่น้อยกว่า 3 โครงการ ฯลฯ

ตามประกาศฉบับนี้ การจดทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทย จะเป็นการดำเนินการผ่านทางระบบเครือข่ายสารสนเทศของศูนย์ข้อมูล จากนั้นให้จัดส่งเอกสารที่จำเป็นให้สำนักงานฯภายใน 30 วัน พร้อมลงนามรับรองความถูกต้องของเอกสารทุกหน้า พร้อมประทับตรา (ถ้ามี)

ในการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เคยให้ไว้ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับบุคลากร ที่ปรึกษา ข้อมูลทั่วไป ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน ประสบการณ์โครงการ เป็นต้น ให้ดำเนินการผ่านทางระบบเครือข่ายสารสนเทศของศูนย์ข้อมูลฯ และหากที่ปรึกษาได้ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษากับหน่วยงานใด ก็ให้แจ้งข้อมูลให้สำนักงานฯทราบภายใน 45 วัน โดยดำเนินการผ่านทางระบบเครือข่ายสารสนเทศของศูนย์ข้อมูลฯ

สำหรับที่ปรึกษาไทยที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วก่อนประกาศฉบับนี้ก็จะยังคงมีสิทธิตามเงื่อนไข และตามระยะเวลาที่กำหนดอยู่ในหนังสือรับรอง แต่เมื่อพ้นกำหนดนั้นแล้ว ก็จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับปี 2554 นี้ เช่น ในการต่ออายุการจดทะเบียน จะต้องดำเนินการยื่นคำขอต่อสำนักงานฯ ก่อนวันครบกำหนดไม่น้อยกว่า 30 วัน เป็นต้น

Download Link

เพิ่มเติม แก้คำผิด

Download Link แก้คำผิด

เพิ่มเติม ประกาศฯ (ฉบับที่ 2)

Download Link ประกาศฯ (ฉบับที่ 2)

Facebook
Twitter
LinkedIn