กรมโยธาฯของบเพิ่มรื้อผังเมืองแก้น้ำท่วมยั่งยืนโฟกัส 27 จังหวัด

กรมโยธาฯของบเพิ่มรื้อผังเมืองแก้น้ำท่วมยั่งยืนโฟกัส 27 จังหวัด

เรียบเรียงจาก ประชาชาติธุรกิจ (www.prachachat.net) วันที่ 6 ธ.ค. 2554

โยธาฯขอ 2,400 ล้าน ผุดผังเมืองป้องกันอุทกภัยลุ่มแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา ท่าจีน สะแกกรัง ครอบคลุม 27 จังหวัดภาคเหนือ กลาง และตะวันตก หวังแก้น้ำท่วม ยั่งยืน คุมชัดพื้นที่ไหนเหมาะสมอยู่อาศัย เขตอุตสาหกรรม ทำเกษตรกรรมและรับน้ำ ตามระดับความสูง-ต่ำของพื้นดิน คาดใช้เวลา 300 วัน

นายเชตวัน อนันตสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปีนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เนื่องจากวิธีการแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องโครงสร้างอย่างเดียว จะต้องมีมาตรการด้านผังเมืองเกี่ยวข้องด้วย กรมฯได้ของบประมาณ 2,400 ล้านบาท แยกเป็นงบฯกลางปี 2555 วงเงิน 900 ล้านบาท เพื่อจัดทำผังเมืองป้องกันอุทกภัยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำ สะแกกรัง ครอบคลุม 13 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม และงบฯที่ขอแปรญัตติเพิ่มเติม 1,500 ล้านบาท เพื่อจัดทำผังเมืองป้องกันอุทกภัยในลุ่มแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ครอบคลุม 14 จังหวัดภาคเหนือ รวมถึงจังหวัดเพชรบูรณ์และสระบุรี โดยหลังได้งบประมาณแล้วจะดำเนินการทันทีให้แล้วเสร็จใน 300 วัน จากนั้นจะนำไปใช้ได้ จะให้แต่ละจังหวัดและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นทิศทางการพัฒนาต่อไป

ผังเมืองรวมฉบับนี้จะดำเนินการได้เร็วเพราะเป็นผังเมืองเชิงนโยบายระดับจังหวัด ไม่ได้เป็นผังเมืองรวมที่บังคับใช้ตามกฎหมายเหมือนผังเมืองรวมทั่วไป จึงไม่ต้องผ่านการประชาพิจารณ์ เมื่อจัดทำเสร็จจะเสนอให้รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทยลงนาม ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ เมื่อ ครม.อนุมัติจะนำมาบังคับใช้ได้ทันที โดยหน่วยงานเช่น กรมชลประทาน การนิคมฯ ท้องถิ่น เป็นต้น จะต้องนำผังเมืองรวมฉบับนี้เป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป อาทิ ขออนุญาตก่อสร้างสร้างที่อยู่อาศัย โรงงาน

สำหรับรายละเอียดที่จะมาใช้เป็นมาตรการ เน้นการป้องกันน้ำท่วมเป็นหลัก เริ่มจากการหาระดับความสูงของพื้นดินแต่ละจังหวัด เพื่อกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนว่าบริเวณไหนเหมาะสมสร้างที่อยู่อาศัย พื้นที่รับน้ำ แก้มลิง แนวฟลัดเวย์ เขตอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นมลพิษและไม่เป็นมลพิษ และพื้นที่การเกษตรกรรม เพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำ โดยกรมฯจะประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน จะขอนโยบายชัดเจนว่ามีแผนจะสร้างแนวฟลัดเวย์หรือเขื่อนในบริเวณไหนเพิ่มบ้าง รวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูแลโรงงาน เพื่อนำมาประกอบการวางผังเมืองต่อไป

Facebook
Twitter
LinkedIn