ภาพรวมการเปิดเสรีด้านวิชาชีพในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ภาพรวมการเปิดเสรีด้านวิชาชีพในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

คัดจาก กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 17 ม.ค. 2555

แรงงาน คาดหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 อาชีพหมอ-พยาบาล-วิศวะแข่งขันเดือดทั้งในไทยและประเทศอาเซียน ชี้หมอ-พยาบาล-ลาว-พม่า เริ่มเข้าทำงานในไทย เหตุข้อตกลงมาตรฐานกลางเอื้อให้เคลื่อนย้าย-ทำงานง่ายขึ้น ฟันธงมาเลเซียเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว

นายสิงหเดช ชูอำนาจ ผู้อำนวยการสำนักงานประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี พ.ศ. 2558 จะมีการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือในภูมิภาคอาเซียนใน 8 สาขาวิชาชีพโดยมี 7 สาขาวิชาชีพที่ได้มีข้อตกลงยอมรับร่วมกันใน 10 ประเทศกลุ่มอาเซียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี และช่างสำรวจ ส่วนอีก 1 สาขาคือ สาขาการท่องเที่ยวใน 32 ตำแหน่งงาน เช่น พนักงานโรงแรม พนักงานต้อนรับ พนักงานซักรีด แม่บ้าน มัคคุเทศก์ ฯลฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกลุ่มประเทศอาเซียน

เมื่อเร็วๆ นี้ สภาวิชาชีพใน 5 สาขาวิชาชีพประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ได้ประชุมหารือกันและได้ข้อสรุปในเรื่องการจัดทำข้อตกลงร่วมกันด้านคุณสมบัติที่เป็นมาตรฐานกลางของผู้ประกอบวิชาชีพ (Mutual Recognition Arrangements – MRAs) เพื่อนำมาใช้กำหนดเป็นเกณฑ์พิจารณาการเคลื่อนย้ายบุคลากรใน 5 สาขาวิชาชีพข้างต้นระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งยังเหลืออีก 2 สาขาวิชาชีพคือ นักบัญชีและช่างสำรวจ ซึ่งจะมีประชุมหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปในเรื่อง MRAs ต่อไป

โดยภาพรวมใน 7 สาขาอาชีพโดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล วิศวกร และสถาปนิก แม้ปัจจุบันมีคนไทยที่ประกอบอาชีพเหล่านี้เคลื่อนย้ายออกไปทำงานในต่างประเทศ และมีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทย ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายแรงงานตามระบบทุนอยู่แล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะมีการแข่งขันกันหางานทำในอาชีพข้างต้นสูงขึ้นทั้งการเข้ามาทำงานในไทยและเคลื่อนย้ายออกไปทำงานในประเทศอื่นๆ ในอาเซียนโดยเฉพาะประเทศมาเลเซียถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด

ทั้งนี้ เนื่องจากมีข้อมูลว่า ปัจจุบันในไทย แพทย์ 100 คน จะมีชาวต่างชาติซึ่งเรียนจบแพทย์มาโดยตรงมาทำงานในฐานะผู้ช่วยแพทย์ 40 คน โดยเฉพาะตามโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่เพื่อช่วยสื่อสารและดึงดูดลูกค้าชาวต่างชาติ ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่สามารถทำงานเป็นแพทย์ในไทยได้เนื่องจากติดข้อกฎหมายไทย ส่วนพยาบาล 100 คนก็มีพยาบาลต่างชาติเช่น มาเลเซีย พม่า และลาว ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพยาบาล 24 คน

ขณะเดียวกันชาวต่างชาติ เช่น มาเลเซีย พม่า ลาว ซึ่งครอบครัวมีฐานะดีและเข้ามาเรียนสาขาต่างๆ เช่น พยาบาล วิศวกร สถาปนิกในมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงในไทย เมื่อเรียนจบ ก็จะมีโอกาสทำงานในไทยได้ง่ายขึ้น รวมทั้งชาวต่างชาติที่เรียนจบแพทย์ซึ่งทำงานอยู่ในไทยอยู่แล้วหรือมาจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็เข้ามาทำงานเป็นแพทย์ในไทยได้ เนื่องจากมี MRAs ของอาเซียนรองรับ ขณะที่เด็กไทยที่ไปเรียนด้านวิศวะที่สิงคโปร์ก็สามารถทำงานสิงคโปร์ได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

ในส่วนของอาชีพแพทย์และพยาบาลที่เกรงกันว่าจะเกิดปัญหาสมองไหลไปทำงานประเทศอื่นๆ มากขึ้น ผมมองว่าปัญหาดังกล่าวในปัจจุบันลดน้อยลง เนื่องจากรัฐบาลไทยได้เพิ่มค่าตอบแทนสูงขึ้นและมีเงินค่าวิชาชีพเฉพาะ อีกทั้งบุคลากรเหล่านี้จริงๆ แล้วก็ไม่ได้อยากไปทำงานต่างประเทศ แต่ก็เชื่อว่าทั้งใน 7 อาชีพโดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก จะมีการแข่งขันกันสูงขึ้น ทั้งที่เข้ามาทำงานในไทยและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

Facebook
Twitter
LinkedIn