ศาลปกครองสั่ง กทม.ฟันโรงแรมซอยร่วมฤดี

ศาลปกครองสั่ง กทม.ฟันโรงแรมซอยร่วมฤดี

จาก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 10 ก.พ. 2555

จากกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ประชาชนในซอยร่วมฤดีชนะคดีในการยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผอ.เขตปทุมวัน ในฐานะเป็นผู้บริหารราชการในราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นผู้ใช้อำนาจออกคำสั่งทางปกครองในเขตปกครองท้องที่สำนักงานเขตปทุมวัน กทม. และยังเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ฐานออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้เอกชน คือ บริษัทลาภประทาน จำกัด และบริษัททับทิมทร จำกัด ผู้ประกอบการโรงแรมดิเอทัส บางกอกก่อสร้างอาคารสูงใหญ่เกินกว่ากฎหมาย โดยสั่งให้ กทม. และผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่จะสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องรื้อถอนอาคารภายใน 30 วัน

นางภาวิณี อามาตย์ทัศน์ ผอ.เขตปทุมวัน กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีที่ยืดเยื้อมานานแล้ว ซึ่งตนยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลในวันนี้เนื่องจากศาลไม่ได้เรียกเขตให้เข้าร่วมรับฟัง เรียกเพียงผู้บริหารโรงแรมดิเอทัส และบริษัทลาภประทาน อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มีการอนุญาตก่อสร้างอาคารโรงแรมดิเอทัส มีนายสุรเกียรติ์ ลิ้มเจริญ ปัจจุบันเป็นรอง ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็น ผอ.เขต และเนื่องจากเป็นอาคารขนาดใหญ่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาตก่อสร้างคือสำนักการโยธา

ด้านนายสุรเชษฐ วรวงศ์วสุ กรรมการบริษัท ลาภประทาน จำกัด กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหารโรงแรมดิเอทัส ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลในวันนี้ ซึ่งจากนี้จะปรึกษาทนายความให้ดำเนินการอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด และขอยืนยันว่าทางบริษัทก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างได้ตรวจสอบความถูกต้องทุกขั้นตอน โดยได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานเขตปทุมวัน โดยเฉพาะเรื่องแนวเขตทางแล้ว ซึ่งบริษัทได้รับหนังสือตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีแนวเขตทางกว้าง 10 เมตร ตั้งแต่หน้าที่ดินบริเวณโครงการจนถึงถนนใหญ่(ถ.เพลินจิต)ซึ่งบริษัทมีหลักฐานทุกประการ และได้ส่งให้ศาลพิจารณาด้วย แต่ศาลพิจารณาโดยให้น้ำหนักประเด็นเขตทางตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งต้องยอมรับว่าสภาพความเป็นจริงในซอยอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา พื้นที่ในซอยมีเจ้าของต่างกันหลายโฉนด และมีการรุกล้ำที่สาธารณะทำให้ซอยมีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ดังนั้นตนมีความเห็นว่าเจ้าหน้าที่ กทม.ควรจะต้องดำเนินการกับผู้ที่รุกล้ำที่สาธารณะแทนที่จะมาดำเนนิการเอาผิดกับทางบริษัท

Facebook
Twitter
LinkedIn