ตีกรอบเลิกใช้แร่ใยหิน เร่งผู้ผลิตปรับตัวภายใน 5 ปี

ตีกรอบเลิกใช้แร่ใยหิน เร่งผู้ผลิตปรับตัวภายใน 5 ปี

คัดจาก กรุงเทพธุรกิจ 8 ต.ค. 2555

กรมโรงงานฯ เตรียมเสนอกระทรวงอุตสาหกรรม วางแผนยกเลิกใช้แร่ใยหินภายใน ต.ค.นี้ เร่งผู้ผลิตกระเบื้องมุงหลังคาใช้เวลาปรับตัว 5 ปี ขณะที่ผู้ผลิตกระเบื้องยาง-กระเบื้องแผ่นเรียบต้องปรับเทคโนโลยีภายใน 3 ปี พร้อมผลักดันมาตรการรองรับผลกระทบ

นายชุมพล ชีวะประภานันท์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ.อยู่ระหว่างสรุปรายงานจัดทำร่างแผนยกเลิกการนำเข้าและการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบขั้นสุดท้ายตามที่มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นผู้ดำเนินการ โดยคาดว่าจะเสนอกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาได้ภายในเดือน ต.ค. 2555 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไป

ทั้งนี้ก่อนออกประกาศยกเลิกนั้น ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และให้ระยะเวลาผู้ผลิต ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบ จากราคาสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น เพราะผู้ใช้สินค้าบางกลุ่มมีความพร้อม ขณะที่บางกลุ่มไม่พร้อม

“ที่ผ่านมากรมโรงงานฯ พยายามศึกษา เพื่อดูผลกระทบอย่างรอบคอบ ซึ่งเห็นว่าการยกเลิกใช้แร่ใยหินทันทีอาจจะทำไม่ได้เพราะผู้ใช้สินค้ามีหลายระดับ โดยบางกลุ่มอาจพร้อมให้ยกเลิก แต่บางกลุ่มอาจจะไม่พร้อม ดังนั้นอาจต้องมาตรการทางภาษีรองรับสินค้าที่จะมีราคาสูงขึ้น โดยรัฐอาจต้องมาดูแนวทางที่เหมาะสมต่อไป” นายชุมพล กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ในเบื้องต้นมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้กำหนดแนวทางเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในสินค้า 5ประเภท คือ

1. กระเบื้องมุงหลังคา โดยกำหนดเวลาการปรับตัว 5 ปี ใน 1-2 ปีแรก จะต้องทำวิจัยพัฒนา ในปีที่ 3 กำหนดให้เลิกใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์กระเบื้องลอนใหญ่ และในช่วงปีที่ 3-5 ให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แร่ใยหินในกระเบื้องลอนเล็ก และเมื่อครบ 5 ปี ทุกโรงงานต้องยกเลิกการใช้แร่ใยหินในกระเบื้องลอนเล็ก ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตเลิกการใช้แล้ว 2-3 ราย

2. กระเบื้องยางปูพื้น ซึ่งในช่วง 1-2 ปีแรก จะดำหนดให้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้แร่ใยหิน และในปีที่ 3 ทุกโรงงานต้องเปลี่ยนเทคโนโลยีผลิตไม่ใช้แร่ใยหิน ซึ่งผู้ผลิตบางส่วนได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้ว

3. กระเบื้องแผ่นเรียบ มีหลายโรงงานเลิกใช้แร่ใยหินไปแล้วเช่นเดียวกัน จึงกำหนดเวลาปรับตัวภายใน 3 ปี โดยใน 1-2 ปีแรก กำหนดให้โรงงานที่ยังไม่เปลี่ยน ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่วนผู้ผลิตที่เลิกใช้แล้วต้องพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น และในปีที่ 3 ทุกโรงงานต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต

4. ท่อน้ำแรงดันสูง หรือท่อซีเมนต์ใยหิน ยังไม่มีโรงงานใดยกเลิกการใช้ ดังนั้นจึงกำหนดให้ยกเลิกใช้เป็นขั้นบันได โดยใน 1-2 ปีแรก ให้ลดการใช้ 25% ปีที่ 3 ลดการใช้ 50% ปีที่ 4 ลดการใช้ 75% และปีที่ 5 ต้องลดการใช้ 100%

5. เบรกและคลัทช์ มีผู้ประกอบการบางรายยกเลิกใช้ไปแล้ว กลุ่มนี้ กำหนดเวลาปรับตัว 5 ปี ในปีที่ 1-2 ให้วิจัยและพัฒนาลดการใช้ หาสารทดแทน และภายใน 2 ปี จะต้องยกเลิกใช้แร่ใยหินในผ้าเบรกและคลัทช์ในรถจักรยานยนต์ และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และภายในปีที่ 3-5 จะวิจัยและพัฒนาในกลุ่มของรถบรรทุก และรถโดยสารขนาดใหญ่ สิ้นสุดปีที่ 5 ผู้ผลิตทุกรายต้องยกเลิกการใช้

 

 

 

Facebook
Twitter
LinkedIn