ศาลปกครองมีคำสั่งให้ กทม. ชดเชยค่าเสียหายแก่เหยื่อซานติก้า

ศาลปกครองมีคำสั่งให้ กทม. ชดเชยค่าเสียหายแก่เหยื่อซานติก้า

เรียบเรียงจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 พ.ย. 2555
และ ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 31 ต.ค. 2555

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2555 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีระหว่าง นางเอสเตอร์ เยียนเชน เลาพิกานน์ กับพวกรวม 12 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ได้รับความเสียหายจากการละเลยไม่ควบคุมดูแลสถานบริการซานติก้าผับเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้

โดยศาลพิพากษาให้กรุงเทพมหานครชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 คน ตั้งแต่ 68,000 บาทถึง 550,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2552 โดยนางเอสเตอร์ เยียนเชน เลาพิกานน์ กับพวกรวม 12 คน ฟ้องกรุงเทพมหานครเนื่องจากละเลยไม่ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมอาคารที่เปิดเป็นสถานบริการซานติก้าผับ กล่าวคือ โครงสร้างของอาคาร ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพมั่นคงและปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงแห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จนเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคาร เป็นเหตุให้บุตรแลทายาทของผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 คนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต

ทั้งนี้ ศาลให้เหตุผลว่า กรณีดังกล่าวเชื่อได้ว่าผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างดัดแปลงอาคาร รวมทั้งออกใบรับรองให้ใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 ย่อมต้องทราบหรือควรจะทราบว่าอาคารที่ใช้เป็นสถานบันเทิงซานติก้าผับได้ทำการก่อสร้างและดัดแปลงผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตามหนังสืออนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง และเคลื่อนย้านอาคาร ฉบับที่ วน 240/2546 ลงวันที่ 16 ธ.ค. 46 รวมทั้งยังไม่ได้รับใบรับรองให้ใช้อาคาร บุคคลในฐานะผู้ว่าฯ กทม.ย่อมจะต้องคาดหมายได้ว่า หากมีการทำการดัดแปลงอาคารให้ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตเดิมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานท้องถิ่นที่จะทำการตรวจสอบแบบแปลนที่จะดัดแปลงไขว่าถูกต้องตามหลักวิศวกรรมหรือไม่ ย่อมจะไม่เป็นการปลอดภัยแก่ผู้ใช้อาคาร โดยหากผู้ว่าฯ กทม.ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 สั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารระงับการกระทำดังกล่าว สั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขออนุญาตหรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง หรือสั่งให้รื้อถอนหากเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง เจ้าของอาคารก็จะไม่ได้ใช้อาคารดังกล่าวโดยผิดกฎหมาย และไม่เกิดเหตุเพลิงใหม้จนทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 รายเกิดความเสียหาย แต่ผู้ว่าฯ กทม.ก็ไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติ แม้ภายหลังจะมีหนังสือแจ้งความร้องทุกข์ต่อสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อให้ดำเนินคดีต่อนายคริษฐ์ พงศ์พิทยะ ในฐานะกระทำการก่อสร้างให้ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต และได้ใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่มีใบรับรองจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น แต่ก็เป็นการแจ้งความร้องทุกข์หลังเกิดเหตุเพลิงใหม้อาคารดังกล่าวแล้ว จึงถือได้ว่าผู้ว่ากทม.ละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติซึ่งความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 เป็นผลโดยตรงจากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลจะเห็นว่าเหตุดังกล่าวเป็นผลมาจากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็ยังมีพฤติการณ์และความร้ายแรงน้อยกว่าการกระทำของเจ้าของอาคารที่ทำการดัดแปลงและใช้อาคารโดยผิดกฎหมายและบุคคลที่จุดดอกไม้เพลิงที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ จึงเห็นควรให้ กทม.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 รายเป็นจำนวนร้อยละ 20 ของค่าเสียหายทั้งหมด

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2555 ศาลปกครองกลางได้พิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด กรณีสถานบริการซานติก้าผับไปแล้วรวม 5 คดี โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้ กทม.จ่ายเงินเยียวยาญาติผู้เสียชีวิตในเหตุไฟไหม้ซานติก้าผับทั้ง 5 คดี ซึ่งหลังจากศาลมีคำพิพากษา ทาง กทม.ยินยอมจ่ายเยียวยา

Facebook
Twitter
LinkedIn