สภาสถาปนิกผ่านร่างข้อบังคับสำหรับการออกใบอนุญาต

สภาสถาปนิกผ่านร่างข้อบังคับสำหรับการออกใบอนุญาต

25 เม.ย. 2552

 

ในการประชุมใหญ่สามัญสภาสถาปนิก ประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2552 ได้มีการพิจารณาและผ่านร่างข้อบังคับสภาสถาปนิก 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่าง ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละระดับ การออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการออกหลักฐานรับรองการได้รับใบอนุญาต พ.ศ. …. และ 2) ร่าง ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่องของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. ….

 

ในร่างข้อบังคับฉบับแรก เนื้อหาหลักเป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละระดับ และหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาต ซึ่งจะเป็นการออกใช้บังคับแทนข้อบังคับ ก.ส. หลายฉบับ ซึ่งเป็นข้อบังคับตามกฎหมายเก่าที่ยังใช้บังคับโดยอนุโลมอยู่ในปัจจุบัน และมีเนื้อหาที่เหมาะสำหรับใช้กับสาขาสถาปัตยกรรมหลักเท่านั้น

 

ร่างข้อบังคับฉบับนี้ นอกจากจะทำให้สามารถออกใบอนุญาตสำหรับสาขาอื่นๆ อันได้แก่ สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม และสาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ได้ตามปกติแล้ว ยังได้ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ต่างๆ จากข้อบังคับ ก.ส. เดิมหลายอย่าง เพื่อให้สอดคล้องกับ พรบ.สถาปนิก พ.ศ. 2543 และเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน

 

สำหรับคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพระดับต่างๆ ในร่างฯยังคงยอมรับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอนุปริญญาและประกาศนียบัตรอยู่ เพื่อให้ไม่เป็นปัญหากับผู้ที่ผ่านคุณวุฒิการศึกษาดังกล่าวที่อาจจะยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก แต่ก็ได้กำหนดเงื่อนไขการประกอบการงานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมให้สูงขึ้นและจำกัดคุณสมบัติในการเลื่อนระดับสู่วุฒิสถาปนิกมากขึ้นด้วย

 

การเลื่อนระดับโดยยื่นผลงาน ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้เหมาะสมและรัดกุมขึ้น มีการกำหนดคะแนนสำหรับผลงานในสาขาและชนิดงานต่างๆ ทั้ง 5 ชนิดงานตามกฎกระทรวง และมีหลักเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลงานที่ยื่นจะต้องเป็นผลงานออกแบบรวมกันไม่น้อยกว่า 1/4 ของคะแนนที่กำหนด (300 คะแนนสำหรับการขอรับใบอนุญาตระดับสามัญสถาปนิก และ 700 คะแนนสำหรับระดับวุฒิสถาปนิก)

 

ส่วนการทดสอบความรู้ กำหนดให้ประกอบด้วยรายวิชาและหลักสูตรซึ่งจะไปกำหนดรายละเอียดเป็นระเบียบคณะกรรมการสภาสถาปนิกภายหลัง แต่จะต้องครอบคลุมองค์ความรู้อันได้แก่ (1) ความรู้และทักษะในการวางผังและออกแบบ (2) ความรู้ด้านเทคโนโลยีแต่ละสาขา (3) ความรู้ในการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม และ (4) ทักษะด้านการสื่อสาร

 

และเนื่องจากเป็นข้อบังคับที่ใช้สำหรับการขอรับใบอนุญาตใน 3 สาขานอกเหนือจากสาขาสถาปัตยกรรมหลักซึ่งออกใช้บังคับล่าช้ากว่าที่ควร จนทำให้ผู้ที่จบการศึกษาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2546 เป็นต้นมาไม่สามารถเข้าสู่วิชาชีพได้ ในร่างข้อบังคับฉบับนี้จึงได้มีบทเฉพาะกาลให้การขอรับใบอนุญาตใน 3 สาขาของผู้ที่จบการศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึง 2 ปีก่อนข้อบังคับใช้บังคับ ให้สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตระดับภาคีสถาปนิกและระดับสามัญสถาปนิกไปพร้อมกันได้ เฉพาะในระยะ 1 ปีหลังข้อบังคับออกใช้ โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล

View

 

Facebook
Twitter
LinkedIn