ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 คลอดแล้ว

ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 คลอดแล้ว

16 พ.ค. 2556

ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปี พ.ศ. 2549 ได้สิ้นสุดการใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2556 หลังจากใช้บังคับมาครบ 5 ปี และขยายระยะเวลาการใช้บังคับมาแล้ว 2 ครั้งอีก 2 ปี รวมเป็น 7 ปี ขณะนี้ได้มีการออกใช้บังคับกฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 แล้ว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2556

ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่นี้ มีความเปลี่ยนแปลงจากฉบับเดิมอยู่พอสมควร ในส่วนของการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับบริเวณต่างๆ มีการปรับเปลี่ยน 34 บริเวณ ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ได้เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้น ได้แก่ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ (แจ้งวัฒนะ) และอาคารรัฐสภาใหม่ (เกียกกาย) เป็นต้น ระบบขนส่งมวลชนทางรางซึ่งปัจจุบันมีแผนไว้ 12 สายทาง (จากแผนเดิม 7 สายทาง) นอกจากนั้น ยังปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน และศักยภาพในการพัฒนาของพื้นที่บางพื้นที่

สำหรับในส่วนของข้อกำหนดต่างๆ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละบริเวณ มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง พอสรุปบางประเด็นได้ดังนี้

– ยังคงจำแนกประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดินหลัก 10 ประเภทเช่นเดิม แต่มีการปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม จากเดิมมี ก.1-ก.2 เพิ่มขึ้น 1 ประเภท เป็น ก.1-ก.3 ประเภทที่เพิ่มขึ้นมาคือ ก.3 คือบริเวณที่ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มและน้ำกร่อยบริเวณชายฝั่งทะเล ส่วน ก.3 และ ก.4 เดิม เปลี่ยนเป็น ก.4 และ ก.5 ตามลำดับ

– *** ยกเลิกการกำหนดร้อยละของกิจกรรมรอง ซึ่งหมายความว่า ต่อไปจะมีเพียงกิจกรรมที่ไม่อนุญาต อนุญาต และอนุญาตโดยมีเงื่อนไข จะไม่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินรองและไม่ต้องตรวจสอบโควต้าของการใช้ประโยชน์ที่ดินรองในแต่ละบล็อคอีกต่อไป

– ค่าอัตราส่วน FAR และ OSR ยังคงเหมือนเดิม ยกเว้น ก.1 และ ก.5 (เทียบกับ ก.4 เดิม) สำหรับ OSR ได้เพิ่มข้อกำหนดเรื่อง อัตราส่วนพื้นที่น้ำซึมผ่านได้เพื่อปลูกต้นไม้ (Biotope Area Factor หรือ BAF) โดยจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ว่าง

– มีกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สนามแข่งรถ สนามแข่งม้า สนามยิงปืน สถานสงเคราะห์หรือรับเลี้ยงสัตว์ สถานสงเคราะห์หรือรับเลี้ยงคนพิการ สถานีขนส่งผู้โดยสาร และที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงาน และมีบางกิจกรรมที่หายไป เช่นสถานพยาบาล สโมสรของโครงการจัดสรรที่ดิน

– *** เปลี่ยนเกณฑ์ในการจำแนกประเภทของ การอยู่อาศัย พาณิชยกรรม สำนักงาน ตลาด จากเดิมที่มีการกำหนดประเภท อาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ เป็นการจำแนกตามขนาดพื้นที่

– การอนุญาตโดยมีเงื่อนไขเรื่องถนนสาธารณะที่มีขนาดความกว้างของเขตทาง 10, 16 และ 30 เมตร ในฉบับใหม่จะเป็น 12, 16 และ 30 เมตร แต่ก็ยังคงมีเงื่อนไขเขตทาง 10 เมตรอยู่สำหรับการอยู่อาศัยประเภทอาคารอยู่อาศัยรวม พื้นที่มากกว่า 2,000 แต่ไม่เกิน 10,000 ตร.ม. ในบริเวณ ย.4

– ในเรื่องของถนนสาธารณะและขนาดเขตทางนี้ มีการปรับปรุงข้อกำหนดรายละเอียดด้วย คือ มีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าที่ดินจะต้องมีด้านใดด้านหนึ่งกว้างไม่น้อยกว่าที่กำหนด และถนนสาธารณะนั้นจะต้องเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีขนาดตามที่กำหนดทั้งสองด้าน เช่น ถนนสาธารณะที่กำหนดว่าขนาดเขตทางจะต้องไม่น้อยกว่า 12 เมตร ที่ดินด้านใดด้านหนึ่งต้องกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ถนนสาธารณะที่มีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า 12 เมตร จะต้องไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นซึ่งด้านหนึ่งต้องมีขนาดเขตทาง 12 เมตร และอีกด้านหนึ่งมีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า 8 เมตร เป็นต้น

– สำหรับข้อกำหนดถนนสาธารณะที่ให้ขนาดเขตทางต้องไม่น้อยกว่า 12 เมตร และ 16 เมตร ให้ตรวจสอบรายการประกอบแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายกฎกระทรวงด้วยว่า เป็นถนนโครงการ สาย ก หรือ สาย ข หรือไม่ เพราะแม้ปัจจุบันถนนจะมีขนาดเขตทางน้อยกว่า 12 หรือ 16 เมตร แต่ถ้าเป็นถนนโครงการ สาย ก หรือ สาย ข ก็ให้ถือว่ามีขนาดเขตทาง 12 หรือ 16 เมตรด้วย ตามผังเมืองรวมฉบับใหม่ มีถนนโครงการ สาย ก จำนวน 19 สาย สาย ข จำนวน 86 สาย

– เงื่อนไขอยู่ในระยะ 500 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เดิมให้วัดจากศูนย์กลางสถานี เปลี่ยนเป็นให้วัดจากแนวเขตชานชาลาสถานี

– ยังคงมีมาตรการ FAR Bonus อยู่ และเพิ่มหลักเกณฑ์มากขึ้นด้วย สำหรับหลักเกณฑ์เรื่องพื้นที่โล่งสาธารณะ ให้สามารถใช้เฉพาะในที่ดินประเภท ย.8 ถึง ย.10 และ พ.2 ถึง พ.5 (เพิ่ม พ.2) หลักเกณฑ์เรื่องที่จอดรถยนต์สำหรับประชาชนโดยทั่วไป มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของสถานีรถไฟฟ้าขนส่งที่อยู่ใกล้เคียง นอกจากหลักเกณฑ์เดิม 2 เรื่องนี้ยังได้เพิ่มหลักเกณฑ์ขึ้นอีก 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่ การจัดให้มีพื้นที่สำหรับการกักเก็บน้ำฝน การก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน (ใช้เกณฑ์การรับรองของสถาบันอาคารเขียวไทยเป็นหลัก และต้องได้มาตรฐานระบบกรอบอาคารของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) และการจัดให้มีที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือผู้อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่โครงการ

 

ดาวน์โหลด กฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556

 

Facebook
Twitter
LinkedIn