การขึ้นทะเบียนเป็นสถาปนิกอาเซียน

การขึ้นทะเบียนเป็นสถาปนิกอาเซียน

สภาสถาปนิกในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านวิชาชีพสถาปัตยกรรมและเป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมในประเทศไทย ได้ออก ประกาศสภาสถาปนิก เรื่อง การขึ้นทะเบียนเป็นสถาปนิกอาเซียน พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 30 ส.ค. 2556 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนเป็นสถาปนิกอาเซียน (ASEAN Architect เรียกย่อว่า AA) สำหรับสถาปนิกไทย

ทั้งนี้เนื่องมาจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ได้กำหนดให้มีการเปิดตลาดการค้าบริการเสรีเป็นตลาดเดียวภายในปี พ.ศ. 2558 และบริการด้านสถาปัตยกรรมก็เป็นหนึ่งในสาขาบริการด้านธุรกิจและวิชาชีพ (Business and Professional Services) โดยได้มีการลงนามในเอกสารการยอมรับร่วมกันของอาเซียนด้านการบริการสถาปัตยกรรม (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Architectural Services เรียกย่อว่า MRA) เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2550 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง MRA นี้ได้ถูกใช้เป็นมาตรฐานในการกำหนดคุณสมบัติสำหรับสถาปนิกในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้สามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันได้ในตลาดวิชาชีพสถาปัตยกรรม ภายใต้หลักเกณฑ์และข้อกำหนดของประเทศท้องถิ่น

ประกาศสภาสถาปนิกฉบับนี้ได้กำหนดคุณสมบัติของสถาปนิกที่ประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นสถาปนิกอาเซียนไว้คือ จะต้องสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มีระยะเวลาในการศึกษาตามปกติไม่น้อยกว่าห้าปี, ได้ปฏิบัติวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมอย่างต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี หลังจากจบการศึกษา, ได้รับใบอนุญาตฯสาขาสถาปัตยกรรมหลักมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี, มีประสบการณ์ในหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบงานสถาปัตยกรรมที่สำคัญมาแล้ว เป็นระยะเวลารวมกันไม่น้อยกว่าสองปี, มีหน่วย พวต. ซึ่งมีอายุไม่เกินห้าปีจำนวนไม่น้อยกว่า 24 หน่วย (12 หน่วยสำหรับการขึ้นทะเบียนในปีแรก), และไม่เคยถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตเนื่องจากประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม

เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถาปนิกอาเซียนแล้ว จะมีอายุการขึ้นทะเบียนสองปี และต่ออายุได้คราวละสองปี ในการไปปฏิบัติวิชาชีพในประเทศอาเซียน สถาปนิกอาเซียนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย จรรยาบรรณวิชาชีพ มาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพ รวมทั้งเงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆเกี่ยวกับการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่มีกำหนดในประเทศที่ไปปฏิบัติวิชาชีพ

จะเห็นว่าผู้ที่จะมีคุณสมบัติพอสำหรับการขึ้นทะเบียนเป็นสถาปนิกอาเซียน จะต้องเป็นผู้ที่เป็นสถาปนิกในสาขาสถาปัตยกรรมหลักมานานพอสมควร และมีประสบการณ์ในงานขนาดใหญ่ๆ มาแล้ว การไปปฏิบัติวิชาชีพในประเทศอาเซียนนี้จึงเป็นการไปแสวงหางานเพื่อเป็นผู้ออกแบบโครงการ และรับผิดชอบหรือร่วมรับผิดชอบในโครงการออกแบบ ไม่ใช่เรื่องของการไปรับจ้างทำงานในสำนักงานสถาปนิก ส่วนรูปแบบของการปฏิบัติวิชาชีพของสถาปนิกอาเซียนขึ้นอยู่กับประเทศที่ไปปฏิบัติวิชาชีพ ซึ่งบางประเทศอาจจะยินยอมให้ปฏิบัติวิชาชีพได้อย่างอิสระ หรือบางประเทศอาจต้องปฏิบัติวิชาชีพร่วมกันกับสถาปนิกในประเทศนั้นๆ สำหรับในประเทศไทย ได้กำหนดไว้ให้เป็นการปฏิบัติวิชาชีพร่วมกันตามกรอบที่กำหนดไว้ใน ประกาศสภาสถาปนิก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนเพื่อการปฏิบัติวิชาชีพร่วมกันระหว่างสถาปนิกไทยกับสถาปนิกต่างด้าว พ.ศ. 2556 หรือที่เรียกกันว่า Local Collaboration Framework

 

ดาวน์โหลดประกาศ

 

Facebook
Twitter
LinkedIn