การขึ้นทะเบียนเพื่อทำงานสถาปัตยกรรมในประเทศไทยของสถาปนิกจากประเทศอาเซียน

การขึ้นทะเบียนเพื่อทำงานสถาปัตยกรรมในประเทศไทยของสถาปนิกจากประเทศอาเซียน

สภาสถาปนิกในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านวิชาชีพสถาปัตยกรรมและเป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมในประเทศไทย ได้ออก ประกาศสภาสถาปนิก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติวิชาชีพร่วมกันระหว่างสถาปนิกไทยกับสถาปนิกต่างด้าว พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 30 ส.ค. 2556 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ ในการปฏิบัติวิชาชีพร่วมกันระหว่างสถาปนิกไทยกับสถาปนิกต่างด้าว เพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ และกฎเกณฑ์มาตรฐานระหว่างประเทศต่างๆ

ทั้งนี้เนื่องมาจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ได้กำหนดให้มีการเปิดตลาดการค้าบริการเสรีเป็นตลาดเดียวภายในปี พ.ศ. 2558 และบริการด้านสถาปัตยกรรมก็เป็นหนึ่งในสาขาบริการด้านธุรกิจและวิชาชีพ (Business and Professional Services) โดยได้มีการลงนามในเอกสารการยอมรับร่วมกันของอาเซียนด้านการบริการสถาปัตยกรรม (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Architectural Services เรียกย่อว่า MRA) เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2550 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง MRA นี้ได้ถูกใช้เป็นมาตรฐานในการกำหนดคุณสมบัติสำหรับสถาปนิกในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้สามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันได้ในตลาดวิชาชีพสถาปัตยกรรม ภายใต้หลักเกณฑ์และข้อกำหนดของประเทศท้องถิ่น

ประกาศสภาสถาปนิกฉบับนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามข้อผูกพันดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและการยอมรรับถึงความเหมือนและความแตกต่างในกฎเกณฑ์การปฏิบัติวิชาชีพ โดยคำนึงถึงความพร้อมและการเตรียมการให้เกิดความพร้อมของเหล่าสถาปนิกไทย

ตามประกาศสภาสถาปนิกฉบับนี้ สถาปนิกในประเทศอาเซียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถาปนิกอาเซียน สามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้โดยจะต้องร่วมกับสถาปนิกไทย โดยจะต้องมีการขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการกำกับดูแลฝ่ายไทย (Thai Monitoring Committee เรียกย่อว่า TMC) โดยเป็นการขึ้นทะเบียนรายโครงการ ซึ่งในแต่ละโครงการ สถาปนิกที่ร่วมงานอาจประกอบด้วยสถาปนิกอาเซียนหนึ่งรายหรือมากกว่า ร่วมงานกับสถาปนิกไทยหนึ่งรายหรือมากกว่า สถาปนิกอาเซียนอาจเข้ามาโดยตัวเองหรือเป็นตัวแทนของนิติบุคคลสถาปนิกในประเทศของตนก็ได้ ส่วนสถาปนิกไทยจะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมที่เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลก็ได้ ถ้าเป็นบุคคลจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสถาปนิกอาเซียน หรือถ้าเป็นนิติบุคคลจะต้องมีผู้ผูกพันนิติบุคคลที่เป็นสถาปนิกอาเซียนอยู่ด้วย

โครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างสถาปนิกไทยและสถาปนิกต่างด้าว สภาสถาปนิกจะออกเอกสารรับรองการขึ้นทะเบียนให้ มีอายุสามปี ในกรณีที่โครงการยังไม่แล้วเสร็จก็สามารถต่ออายุได้อีกครั้งละหนึ่งปี

ในการทำงานในประเทศไทยของสถาปนิกต่างด้าว จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย จรรยาบรรณวิชาชีพ และมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพของไทย และจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมฝ่ายไทย จะต้องปฏิบัติวิชาชีพให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น UIA Accord และให้ความร่วมมืออยู่บนพื้นฐานของความสามารถและประสบการณ์ที่จำเป็นและเพียงพอสำหรับโครงการ นอกจากนั้น ยังกำหนดให้จำนวนบุคคลสถาปนิกต่างด้าวจะต้องมีไม่มากกว่าจำนวนบุคคลสถาปนิกไทยในแต่ละโครงการ รวมทั้งสัดส่วนงานและความรับผิดชอบก็จะต้องไม่มากกว่าด้วยเช่นกัน

 

ดาวน์โหลดประกาศ

 

Facebook
Twitter
LinkedIn