แก้ไขความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล

แก้ไขความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล

11 ก.พ. 2560

เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 54 เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษทางอาญาร่วมกับการกระทำความผิดของนิติบุคคล โดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ และต่อมาก็ยังได้มีคำวินิจฉัยในลักษณะเดียวกันนี้กับพระราชบัญญัติอีกหลายฉบับ ดังนั้น เพื่อที่จะแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายเหล่านั้น รวมทั้งกฎหมายอื่นที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่มีลักษณะเดียวกันนี้ มิให้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จึงได้ตรา “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560” ขึ้น เพื่อแก้ไขไปพร้อมกัน รวมพระราชบัญญัติที่แก้ไขทั้งสิ้น 76 ฉบับ

พระราชบัญญัติที่มีการแก้ไข อย่างเช่น พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 (ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551) พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เป็นต้น

สำหรับพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 อยู่ในมาตรา 72 ซึ่งเดิมบัญญัติว่า
“มาตรา 72 ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย”

แก้ไขเป็น
“มาตรา 72 ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทําความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทําของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทําการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทําความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย”

สำหรับพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 อยู่ในมาตรา 74 ซึ่งเดิมบัญญัติว่า
“มาตรา 74 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ให้หุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน กรรมการของบริษัท ผู้แทนของนิติบุคคล หรือผู้ซึ่งมีส่วนในการกระทำความผิดดังกล่าวมีความผิดในฐานะเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ผู้ใช้ให้กระทำความผิดหรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดแล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในการกระทำความผิดนั้น และสำหรับนิติบุคคลต้องระวางโทษปรับไม่เกินสิบเท่าของอัตราโทษปรับสำหรับความผิดนั้นด้วย”

แก้ไขเป็น
“มาตรา 74 ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทําความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทําของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทําการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทําการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทําความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น และสําหรับนิติบุคคลต้องระวางโทษปรับไม่เกินสิบเท่าของอัตราโทษปรับสําหรับความผิดนั้นด้วย”

Facebook
Twitter
LinkedIn