ปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน

ปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน

7 มิ.ย. 2560

กระทรวงอุตสาหกรรมปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน โดยออก “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน พ.ศ. 2560” ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป เพื่อใช้แทนประกาศกระทรวงฉบับเดิมที่ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2539

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับนี้ ได้ปรับปรุงบทนิยาม “น้ำทิ้ง” ให้เหมาะสมและครอบคลุมขึ้น โดยหมายถึง น้ำ (เดิมใช้คำว่า น้ำเสีย) ที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน (เพื่อให้ครอบคลุมโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานทั้งหมด เดิมใช้คำว่า โรงงานอุตสาหกรรม) น้ำจากการใช้น้ำของคนงาน หรือน้ำจากกิจกรรมอื่นในโรงงาน ที่จะระบายออก (เดิมใช้คำว่า ระบายลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อม) จากโรงงาน หรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม (เดิมไม่มีคำว่า เขตประกอบการอุตสาหกรรม)

ในส่วนของมาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้ง ส่วนใหญ่ยังกำหนดค่ามาตรฐานเท่าเดิม มีที่แตกต่างไปจากเดิมได้แก่
– มาตรฐานที่มีการกำหนดแตกต่างไปจากเดิมได้แก่ สี (Color) ไม่เกิน 300 เอดีเอ็มไอ (เดิมกำหนดเพียง ต้องไม่เป็นที่พึงรังเกียจ) ของแข็งละลายน้ำทั้งหมด (Total Dissolved Solids หรือ TDS) กำหนดกรณีระบายลงแหล่งน้ำที่มีค่าของแข็งละลายน้ำทั้งหมดเกินกว่า 3,000 มิลลิกรัมต่อลิตร (เดิมกำหนดกรณีน้ำทิ้งซึ่งระบายออกจากโรงงานลงสู่แหล่งน้ำที่มีค่าความเค็ม (Salinity) มากกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อลิตร)
– กลิ่น ไม่ได้กำหนด (เดิมมีกำหนดว่า ต้องไม่เป็นที่พึงรังเกียจ)

ค่ามาตรฐานบางตัว เดิมกำหนดว่าค่ามาตรฐานอาจแตกต่างจากค่าที่กำหนดได้โดยขึ้นกับปริมาณน้ำทิ้ง แหล่งรองรับน้ำทิ้ง หรือประเภทของโรงงานอุตสาหกรรมตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด ได้แก่ ของแข็งละลายน้ำทั้งหมด (Total Dissolved Solids หรือ TDS) ของแข็งแขวนลอยทั้งหมด (Total Suspended Solids) น้ำมันและไขมัน (Oil & Grease) บีโอดี (Biochemical Oxygen Demand) ทีเคเอ็น (TKN หรือ Total Kjeldahl Nitrogen) ซีโอดี (Chemical Oxygen Demand) ส่วนในประกาศกระทรวงฉบับใหม่ กำหนดว่า การกำหนดค่ามาตรฐานที่แตกต่างไปจากที่กำหนดสำหรับโรงงานในประเภทหรือชนิดใดเป็นการเฉพาะ ให้เป็นไปตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเดิมมี ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2539) เรื่อง กำหนดคุณลักษณะน้ำทิ้งที่ระบายออกนอกโรงงานให้มีค่าแตกต่างจากที่กำหนดไว้ฯ ประกาศฯฉบับนี้ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปจนกว่าจะได้มีการยกเลิก

ในส่ว่นของวิธีการตรวจสอบค่ามาตรฐานน้ำทิ้งจากโรงงาน เพิ่มวิธีสำหรับ สี ให้ใช้วิธีเอดีเอ็มไอ (ADMI Method) และปรับปรุงจากเดิมสำหรับหลายค่า เช่น ของแข็งละลายน้ำทั้งหมด ของแข็งแขวนลอยทั้งหมด ซัลไฟด์ ไซยาไนด์ น้ำมันและไขมัน สารประกอบฟีนอล คลอรีนอิสระ สารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ โลหะหนักต่างๆ

นอกจากนั้นยังได้กำหนดเพิ่มในเรื่องของวิธีการเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งเพื่อการตรวจสอบค่ามาตรฐาน โดยให้เก็บแบบจ้วง (Grab Sample) ในจุดระบายทิ้งออกจากโรงงาน ทุกจุด หรือจุดอื่นที่สามารถใช้เป็นตัวแทนของน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงาน

Facebook
Twitter
LinkedIn