กฎกระทรวงการอนุญาตประกอบกิจการหอพัก

กฎกระทรวงการอนุญาตประกอบกิจการหอพัก

4 ส.ค. 2560

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันออก “กฎกระทรวงการอนุญาตประกอบกิจการหอพัก พ.ศ. 2560” ออกตามความในพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป และจะมีผลให้กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบกิจการหอพัก พ.ศ. 2549 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวงฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นกฎกระทรวงออกตามพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2507 ที่ใช้บังคับโดยอนุโลมอยู่ในปัจจุบันถูกยกเลิกไปโดยปริยาย

กฎกระทรวงฉบับนี้มีข้อกำหนดในเรื่องเกี่ยวกับ การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักสถานศึกษาและหอพักเอกชน การดัดแปลง การเปลี่ยนชื่อ และการเปลี่ยนประเภทหอพัก, การโอนใบอนุญาต, การขอและการออกใบแทนใบอนุญาตที่สูญหายหรือถูกทำลายในสาระสำคัญ, ลักษณะและมาตรฐานของหอพัก, การขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตผู้จัดการหอพักเอกชน

ในส่วนของลักษณะและมาตรฐานของหอพัก มีข้อกำหนดซึ่งมีรายละเอียดมากกว่าในกฎกระทรวงฉบับเดิม ซึ่งกำหนดแต่เพียงให้ห้องนอน ห้องต้อนรับผู้เยี่ยมเยียน ห้องอาหาร ห้องน้ำ และห้องส้วม ของหอพักต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ส่วนในกฎกระทรวงฉบับใหม่ ซึ่งกำหนดอยู่ในหมวด 2 ของกฎกระทรวง มีข้อกำหนดเช่น
– ต้องแยกอาคารหอพักชายและหอพักหญิงออกจากกันเป็นสัดส่วน
– สถานที่ตั้งต้องไม่อยู่ติดกับโรงงาน และสถานบริการ
– ทางเข้าออกต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง
– ต้องมีพื้นที่ใช้สอยอย่างน้อย 8 ตารางเมตรต่อคน มีที่นอน ตู้เสื้อผ้า สถานที่เก็บเอกสารและสิ่งของใช้ส่วนตัวที่เป็นสัดส่วน
– ต้องจัดสถานที่สำหรับรับประทานอาหาร สถานที่สำหรับต้อนรับผู้เยี่ยมเยียน แยกเป็นอีกส่วนหนึ่งจากบริเวณพักอาศัย
– ต้องจัดสถานที่บริการเพื่อการติดต่อประสานงานและให้บริการแก่ผู้พักและผู้มาติดต่อ
– ต้องจัดให้มีอุปกรณ์กรองน้ำหรือเครื่องทำน้ำดื่ม
– ต้องจัดให้มีสถานที่รองรับมูลฝอยที่เป็นสัดส่วน
– ต้องจัดให้มีการติดตั้งป้ายบอกชั้นและป้ายบอกทางหนีไฟทุกระยะห่างกันไม่เกิน 45 เมตร
– ต้องจัดให้มีระบบดับเพลิงพร้อมใช้งานตลอดเวลา มีเครื่องดับเพลิงแบบมือถือติดตั้งทุกระยะห่างกันไม่เกิน 45 เมตร มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ฯลฯ

ดาวน์โหลดกฎกระทรวง

 

Facebook
Twitter
LinkedIn