อัตราค่าจ้างงานออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างภาครัฐ

อัตราค่าจ้างงานออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างภาครัฐ

23 ส.ค. 2560

กระทรวงการคลังออก “กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง พ.ศ. 2560” ตามมาตรา 90 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560

หลังจากที่ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560  ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศ จึงบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป พระราชบัญญัติฉบับนี้จะใช้บังคับแทนกฎหมายเดิมที่เกี่ยวกับการพัสดุภาครัฐ คือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549

ในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 87 ว่า ในการจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง ผู้ให้บริการต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรม แล้วแต่กรณี ผู้ให้บริการที่เป็นนิติบุคคล ต้องเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพนั้นๆ ด้วย และในมาตรา 90 บัญญัติว่า ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาคัดเลือกผู้ให้บริการที่มีแนวคิดของงานจ้างที่ได้คะแนนด้านคุณภาพมากที่สุด โดยอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง พ.ศ. 2560 จึงเป็นการกำหนดอัตราค่าจ้างที่หน่วยงานภาครัฐจะใช้ปฏิบัตินับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป แทนอัตราค่าจ้างเดิมตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535

ตามบัญชีอัตราค่าจ้างฯท้ายกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดอัตราค่าออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างของงานอาคาร งานสถาปัตยกรรมภายใน และงานภูมิสถาปัตยกรรม ตั้งแต่ร้อยละ 1.5 ถึง 8.5 ของวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้าง ขึ้นกับขนาดโครงการ ได้แก่ ขนาดเล็ก (< 50 ล้านบาท) ขนาดกลาง (50 < 250 ล้านบาท) ขนาดใหญ่ (250 < 750 ล้านบาท) ขนาดพิเศษระดับที่หนึ่ง (750 < 2,500 ล้านบาท) ขนาดพิเศษระดับที่สอง (2,500 < 5,000 ล้านบาท) ขนาดพิเศษระดับที่สาม (> 5,000 ล้านบาท) และตามลักษณะความซับซ้อนของงานสถาปัตยกรรม 3 ระดับ ได้แก่ ไม่ซับซ้อน ซับซ้อน และซับซ้อนมาก

งานที่มีลักษณะ “ซับซ้อนมาก” หมายถึง งานที่มีแบบแผนวิจิตร ต้องใช้ความประณีตขั้นสูง ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ความชำนาญเฉพาะด้าน มีความสลับซับซ้อน หรือมีผู้ใช้สอยจำนวนมาก มีลักษณะพิเศษเชิดชูคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม วัฒนธรรม หรือธรรมชาติ เช่น พิพิธภัณฑ์อาคารทางศาสนา ศาลากลางจังหวัด โรงพยาบาล อาคารห้องปฏิบัติการ อาคารที่มีความสลับซับซ้อน สนามบิน อนุสาวรีย์รัฐสภา ศูนย์วัฒนธรรม อาคารอนุรักษ์ สถานทูต อาคารเก็บวัสดุที่เสี่ยงอันตรายหรือเสี่ยงต่อสุขภาพ งานสถาปัตยกรรมภายในของบ้านพักอาศัย ภูมิทัศน์ในพื้นที่อนุรักษ์ ภูมิทัศน์ในอาคาร สวนหลังคา สวนพฤกษศาสตร์ สวนสมุนไพร สวนสัตว์ สวนสาธารณะกลางเมือง หรืองานปรับปรุงอาคารหรือภูมิทัศน์ในบริเวณที่มีการใช้สอยหรือสิ่งปลูกสร้างอยู่เดิม

งานที่มีลักษณะ “ซับซ้อน” หมายถึง งานที่ต้องใช้ความประณีต ความชำนาญ มีประโยชน์ใช้สอยที่ซับซ้อน มีลักษณะการก่อสร้างที่ซับซ้อน มีกฎเกณฑ์ควบคุมเฉพาะ หรือมีการใช้งานหลากหลาย เช่น อาคารมหาวิทยาลัย อาคารเรียนรวม หอสมุด หอประชุม อาคารพักอาศัยรวม สนามกีฬา สถานกักกัน หอพัก โรงเรียน ศาลาประชาคม อาคารสำนักงาน อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ สถาบันระดับสูงของรัฐ สถาบันการเงิน โรงแรม โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการ สถานีขนส่งต่าง ๆ อาคารศูนย์การค้า สถานบริการและนันทนาการ สโมสร สวนสนุก สวนสาธารณะ ภูมิทัศน์ชุมชน ภูมิทัศน์บริเวณอาคารสาธารณะ โครงการจัดสรรที่ดิน หรือนิคมอุตสาหกรรม

งานที่มีลักษณะ “ไม่ซับซ้อน” หมายถึง งานที่มีลักษณะเรียบง่าย เป็นมาตรฐานทั่วไป เช่น โรงเก็บพัสดุ คลังสินค้า อาคารจอดรถยนต์ ตลาด ร้านค้า ศูนย์อาหาร โชว์รูม อาคารประเภทบ้านที่อยู่อาศัยหรือสำนักงานขนาดเล็ก สวนสาธารณะชานเมือง งานภูมิทัศน์ถนนหรือเส้นทางคมนาคม สวนเกษตร สวนประดับ หรือสวนหย่อม

อนึ่ง พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ ได้บัญญัติให้งานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างอาจกระทำได้โดย (1) วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป (2) วิธีคัดเลือก (3) วิธีเฉพาะเจาะจง (4) วิธีประกวดแบบ ซึ่งในกรณีของวิธีเฉพาะเจาะจงซึ่งหน่วยงานของรัฐใช้เลือกจ้างผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งซึ่งเคยทราบหรือเคยเห็นความสามารถแล้ว ให้กระทำได้ในกรณีต่างๆ ตามมาตรา 82 กรณีหนึ่งคือ ให้ใช้กับงานจ้างที่มีวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้างไม่เกินวงเงินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออก “กฎกระทรวง กำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ทำข้อตกลงเป็นหนังสือ และวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างในการแต่งตั้งผู้ตรวจรับพัสดุ พ.ศ. 2560” ซึ่งมีข้อกำหนดให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจงสำหรับงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างที่มีวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้างครั้งหนึ่งไม่เกิน 5 ล้านบาท

 

ดาวน์โหลดกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างฯ
ดาวน์โหลดกฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจงฯ

Facebook
Twitter
LinkedIn