การออกแบบอาคารสูงให้รองรับการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน

การออกแบบอาคารสูงให้รองรับการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน
10 ต.ค. 2560

กรมโยธาธิการและผังเมืองมีหนังสือมายังสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอความร่วมมือแจ้งสถาปนิกเกี่ยวกับการออกแบบอาคารสูงให้รองรับการช่วยเหลือผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้อาคารเมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตามหลักเกณฑ์ของร่างกฎกระทรวงที่ได้จัดทำไว้แล้ว และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อประกาศใช้บังคับต่อไป

เนื่องมาจากสภานิติบัญญัติเห็นว่า ที่ผ่านมา การให้ความช่วยเหลือเพื่อกู้ชีพฉุกเฉินในอาคารสูงมีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงผู้ป่วยและนำส่งโรงพยาบาล จึงได้แต่งตั้ง คณะกรรมการบูรณาการ ประสานงาน กรณีกู้ชีพฉุกเฉิน ขึ้น ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองพิจารณาดำเนินการแก้ไขกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อให้ไม่เป็นปัญหาอุปสรรคในการให้ความช่วยเหลือเพื่อกู้ชีพฉุกเฉินในอาคาร

กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ซึ่งบัญญัติข้อกำหนดเกี่ยวกับอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ คณะกรรมการควบคุมอาคารได้ให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว และขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรที่จะประกาศบังคับใช้ กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงขอความร่วมมือให้สมาคมฯ แจ้งสถาปนิกให้พิจารณาออกแบบอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษให้รองรับการช่วยเหลือผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้อาคารเมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินตามเฏณฑ์ที่กำหนดในร่างกฎกระทรวงฯ ดังนี้

1. ควรจัดให้มีที่จอดรถกู้ชีพฉุกเฉินอย่างน้อย 1 คัน ขนาดไม่น้อยกว่า 2.40 x 7.00 เมตร มีระยะดิ่งไม่น้อยกว่า 2.50 เมตร และมีระยะทางเดินจากลิฟต์ดับเพลิงหรือทางปล่อยออกจากทางหนีไฟไปสู่ที่จอดรถกู้ชีพฉุกเฉินไม่ควรเกิน 60 เมตร ได้สะดวกโดยไม่มีสิ่งกีดขวางตลอดเวลา

2. กรณีที่เป็นอาคารสาธารณะควรจัดให้มีพื้นที่หรือตำแหน่งเพื่อติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated Eternal Defibrillator : AED)

3. ลิฟต์ดับเพลิงควรมีขนาดมวลบรรทุกไม่น้อยกว่า 1,000 กิโลกรัม โดยมีขนาดภายในไม่น้อยกว่า 1.50 x 2.50 เมตร มีความสูงไม่น้อยกว่า 2.30 เมตร มีความกว้างประตูไม่น้อยกว่า 1.20 เมตรและสูงไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร เพื่อใช้เคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุหรือผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินได้ พร้อมทั้งมีป้ายหรือสัญลักษณ์ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนติดไว้ที่ด้านหน้าลิฟต์ทุกชั้น

Facebook
Twitter
LinkedIn